วัดปฏิกริยาโลก โต้ 'กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง'

วัดปฏิกริยาโลก โต้ 'กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง'

ทันทีที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่สำหรับฮ่องกงในวันที่ 30 มิ.ย.  ไม่กี่ชั่วโมงก่อนครบรอบ 23 ปี อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีน ผู้คนก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไปทั้งภายในฮ่องกงและต่างประเทศ

ทันทีที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่สำหรับฮ่องกงในวันที่ 30 มิ.ย.  ไม่กี่ชั่วโมงก่อนครบรอบ 23 ปี อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีน ผู้คนก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไปทั้งภายในฮ่องกงและต่างประเทศ

ผู้ภักดีต่อปักกิ่งและประเทศที่เป็นมิตรกับจีนต่างชื่นชมยินดี แต่ผู้เห็นต่าง กลุ่มสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลชาติตะวันตกรุมประณามว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและระบบยุติธรรมอิสระของศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ถึงจุดจบแล้ว

ก่อนรับมอบฮ่องกงคืนจากอังกฤษ จีนที่ปกครองในระบอบอำนาจนิยมรับรองแข็งว่าฮ่องกงจะมีเสรีภาพพลเรือน ระบบยุติธรรมและกฎหมายเป็นอิสระไปอีก 50 ปี ถึงปี 2590 ตามข้อตกลง “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

เมื่อจีนไม่ได้ทำตามที่พูดโลกจึงมีปฏิกริยาต่อกฎหมายใหม่ที่จีนออกมาใช้กับฮ่องกง สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมไว้ดังนี้

  • รัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่ง

แคร์รี หล่ำ ผู้นำฮ่องกงที่หนุนปักกิ่ง กล่าวถึงกฎหมายความมั่นคงเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ระบุ “เป็นพัฒนาการสำคัญที่สุด” นับตั้งแต่กลับคืนมาสู่จีน

ปักกิ่งบอกว่า กฎหมายนี้เหมือน “ดาบ” ทำให้พวกฝ่าฝืนกฎหมายต้องคิดหนัก หลังจากเกิดเหตุประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยบานปลายเป็นความรุนแรงมาตลอด 1 ปี

จาง เสี่ยวหมิง จากสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า สภาแห่งรัฐจีน จัดแถลงข่าวตอบโต้  ที่ต่างชาติขู่จะคว่ำบาตรนั้นเป็น “ตรรกะของอันธพาล” ถ้าปักกิ่งอยากเลิก “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ก็ใช้กฎหมายจีนแผ่นดินใหญ่ได้ไม่ยาก

 “คุณเกี่ยวข้องอะไรด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องของคุณเลย” จางกล่าวพร้อมยืนยันว่า ทางการจีนได้ปรึกษาคนในสังคมฮ่องกงมากมายทุกหมู่เหล่าแล้ว 

  • ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง

คนสำคัญจากฝ่ายนี้พากันกระหน่ำวิจารณ์ เริ่มจากพรรคประชาธิปไตย ระบุว่า กฎหมายความมั่นคง ถือเป็นจุดสิ้นสุดของ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และ “ทำลายความเป็นอิสระของระบบยุติธรรมฮ่องกงลงอย่างสิ้นเชิง”

พรรคแรงงานเกรงว่า ผู้เห็นต่างจะเผชิญชะตากรรมเดียวกับคนบนแผ่นดินใหญ่ที่มักถูกจำคุกเสมอตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีน

พรรคพลเมืองกล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ได้ เป็นการนำหลัก “การปกครองโดยคน” มาแทนที่ “การปกครองโดยกฎหมาย”

“กฎแห่งความหวาดกลัวนี้อาจสร้างภาพลักษณ์ปลอมๆ ถึงระเบียบสังคมที่ควบคุมได้ก็จริง แต่สูญเสียหัวจิตหัวใจของคนฮ่องกงไปหมดแล้ว”

  • สหรัฐ

“วันนี้เป็นวันเศร้าสำหรับฮ่องกง และสำหรับคนรักเสรีภาพทั่วประเทศจีน จีนสัญญาว่าคนฮ่องกงจะมีเสรีภาพ 50 ปี แต่ให้ได้แค่ 23 ปี” ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวและว่า สหรัฐจะประกาศมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้วอชิงตันเคยประกาศว่า ฮ่องกงไม่ได้มีอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่มากพอได้สิทธิพิเศษทางการค้า

“ตามคำแนะนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เราจะยกเลิกนโยบายให้ฮ่องกงได้รับการปฏิบัติพิเศษและแตกต่างด้วยข้อยกเว้นบางประการ” รมต.ต่างประเทศสหรัฐกล่าว 

ในสภาคองเกรส กลุ่ม ส.ส.ไม่แบ่งพรรคเสนอร่างกฎหมายให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวฮ่องกง

  • อังกฤษ

อดีตเจ้าอาณานิคมเรียกกฎหมายความมั่นคงว่า “เป็นก้าวย่างที่น่าเศร้าและเป็นปัญหาอย่างยิ่ง” แต่บอกด้วยว่า ยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะตัดสินได้ว่า ปักกิ่งละเมิดคำมั่น “หนึ่งประเทศ สองระบบ” หรือไม่

ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เสนอว่า ถ้ากฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ อังกฤษจะขยายสิทธิการขอวีซ่าให้กับชาวฮ่องกงหลายล้านคน

คริส แพทเทิร์น ผู้ว่าการฮ่องกงคนสุดท้าย เรียกกฎหมายความมั่นคงว่า “จุดจบของหนึ่งประเทศ สองระบบ”

“นี่เป็นการละเมิดปฏิญญาร่วมระหว่างจีนกับอังกฤษอย่างเห็นได้ชัด ปฏิญญาที่ทำไว้กับสหประชาชาติ บัญญัติไว้ในเบสิกลอว์ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับย่อของฮ่องกง”

  • สหประชาชาติ

27 ประเทศ รวมทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น กระทำในสิ่งที่ไม่มีให้เห็นบ่อยนัก ตำหนิจีนด้วยวาจาที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่าพวกเขากังวลเรื่องกฎหมายใหม่มากขึ้นทุกที

พร้อมกันนั้น 27 ประเทศเรียกร้องให้จีนคิดใหม่ เพราะกฎหมายดังกล่าวบั่นทอนเสรีภาพฮ่องกง ทั้งยังออกมาโดยที่ประชาชน ส.ส. หรือฝ่ายตุลาการฮ่องกงไม่ได้มีส่วนร่วม

ขณะที่อีก 53 ประเทศ นำโดยคิวบา พันธมิตรจีนผู้ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนกัน ประกาศสนับสนุนกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงในการประชุมที่เจนีวา

สิ่งหนึ่งที่ชาติตะวันตกพอจะช่วยได้คือ การเสนอให้ชาวฮ่องกงหลายล้านคนเข้ามาลี้ภัย

สหราชาอาณาจักรเป็นหัวหอกยื่นข้อเสนอเปิดทางให้พลเมืองฮ่องกงราวครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 7.5 ล้านคน ได้มีโอกาสเป็นพลเมืองอังกฤษ ขณะที่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และสหรัฐ อาจเสนอการลี้ภัยในรูปแบบต่างๆ ให้เช่นกัน 

ความเคลื่อนไหวของ 5 ประเทศที่เรียกว่า “พันธมิตรไฟว์อายส์” ถือเป็นความจำเป็นทางศีลธรรม เพื่อช่วยเหลือพลเมืองจากเมืองที่เคยเสรีให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของรัฐตำรวจ