'คราฟท์เบียร์' กับความย้อนแย้ง

'คราฟท์เบียร์' กับความย้อนแย้ง

ปัจจุบันประเทศไทยมีคราฟท์เบียร์ ผลิตโดยคนไทยเป็นจำนวนมาก แต่เกือบทั้งหมดเป็นสินค้านำเข้า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ไม่นานมานี้ มีเพื่อนรุ่นน้องวัยสามสิบหิ้วเบียร์มาเยี่ยม บอกว่ากำลังจะเลิกอาชีพเดิมแล้ว และตั้งใจทำอาชีพใหม่ด้วยใจรัก คือ คนทำคราฟท์เบียร์

เขาพูดพลางเปิดเบียร์สองขวดให้ชิมกัน เป็นคราฟท์เบียร์ที่เขาต้มและหมักเบียร์เองที่บ้าน

“ผมเป็นคนชอบดื่มเบียร์มานานแล้ว และอยากลองทำเบียร์ดื่มเอง”

บ้านเกิดของเพื่อนผมเป็นชาวสวนต่างจังหวัด มีผลไม้หลายชนิด เขาเลยทดลองทำเบียร์มีกลิ่นมะม่วงผสม

“หอมดี ได้กลิ่นมะม่วงแตะจมูกเบา ๆ” ผมบอกน้อง ขณะฟองเบียร์อยู่เต็มปาก

คราฟท์เบียร์ ที่รุ่นน้องบรรจงผลิตขึ้นมา เป็นเบียร์ชนิด Pale Ale สีทองเหลืองอร่าม รสชาติบาง ๆ มีกลิ่นผลไม้หอม ๆ

ผมลองดื่มเบียร์อีกขวด เป็นชนิด Brown Ale สีน้ำตาลเข้ม เมื่อลองดื่มได้กลิ่น คาราเมลผสมน้ำผึ้งป่าแตะจมูก สร้างความหอมได้สดชื่นดีแท้ เป็นเบียร์อร่อยกว่าเบียร์ขวดที่ขายตามท้องตลาดอย่างเทียบไม่ติด

“ผมเคยสงสัยว่า ทำไมรายย่อยในประเทศนี้สามารถคั่วกาแฟออกมาขายได้ แต่ทำไมเราผลิตคราฟท์เบียร์เองไม่ได้”

คำว่า คราฟท์เบียร์ Craft Beer คือ การผลิตเบียร์โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก มีความพิถีพิถันในการปรุง ไม่ได้มีกำลังการผลิตมากมาย ในต่างประเทศมีคราฟท์เบียร์นับหมื่นยี่ห้อ ผลิตโดยคนทั่วไปที่สนใจปรุงรสชาติของเบียร์ โดยใช้วัตถุดิบหลากหลายมาสร้างสรรค์รสชาติเบียร์ชนิดต่าง ๆ

159393852319

ปัจจุบันประเทศไทยมี Craft Beer ผลิตโดยคนไทยจำนวนมากขายจำหน่ายในประเทศ แต่เกือบทั้งหมดเป็นสินค้านำเข้า แทนที่จะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีทรัพยากรมากมาย

“ที่ผ่านมา ผมก็ผลิตเบียร์กันเองในบ้าน ปริมาณนิดเดียว ให้เพื่อนๆ ที่ชอบดื่มเบียร์รสชาติใหม่ ๆ ผมชอบปรุงเบียร์และทดลองกับผลไม้ไปเรื่อย ๆ จนได้รสชาติที่ลงตัว ถามว่าเสี่ยงไหม ก็แน่นอน แต่หากถูกจับได้ ก็ยอมไปเสียค่าปรับห้าพันกว่าบาท”

ที่ผ่านมามีผู้ผลิตคราฟท์เบียร์หลายราย โดนสรรพสามิตจับไปปรับในข้อหาผลิตสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทุกวันนี้ใครอยากผลิตคราฟท์เบียร์ให้ถูกกฎหมาย ต้องไปขอใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิต แต่มีเงื่อนไขว่า

1. มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

2. หากผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต อาทิ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี

3. หากจะบรรจุขวดหรือกระป๋อง ผลิตเพื่อขายนอกสถานที่ เหมือนเบียร์รายใหญ่ จะต้องผลิตปริมาณไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 33 ล้านขวดต่อปี เป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ปี 2560

กฎหมายเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์รายเล็กไม่มีทางแจ้งเกิดในประเทศแน่นอน รายเล็กที่ไหนจะมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

หากบอกว่ารัฐบาลสนับสนุน sme หรือผู้ประกอบการรายย่อย เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้แสดงฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตรสชาติเบียร์มากมาย แต่กรณีคราฟท์เบียร์แล้วดูเหมือนจะเป็นการบีบให้คนไทย ต้องดื่มเบียร์จากรายใหญ่ไม่กี่รายในประเทศเท่านั้นหรือไม่

“ ตอนนี้ผมเตรียมตัวลงขันหุ้นกับเพื่อนไปผลิตคราฟท์เบียร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ทุนไม่มากเท่าไหร่ ผลิตแล้วส่งมาขายในประเทศ”

“ผมไม่เข้าใจจริง ๆ นะ ผมเป็นชาวสวน เห็นผลไม้และสมุนไพรเมืองไทยมากมายหลากชนิดมาก อาทิ มะม่วง สับปะรด ลำไย เสาวรส ตะไคร้ มะกรูด ฯลฯ ที่สามารถนำมาหมัก มาบ่มให้เกิดรสชาติเบียร์ได้มากมาย แต่เราทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต”

คราฟท์เบียร์น่าจะมีส่วนในการช่วยทำให้สินค้าเกษตรมีตลาดมากขึ้น จากการเป็นวัตถุดิบในการทำคราฟท์เบียร์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง

แต่รายงานของ TDRI คาดการณ์ว่า ในปี 2563 ประเทศไทยจะนำเข้าคราฟท์เบียร์ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านี้เกิดจากการนำเข้า 100 % รายได้จึงตกอยู่กับผู้ผลิตในต่างประเทศและผู้นำเข้าไม่กี่ราย

เพื่อนรุ่นน้องผู้นี้คงไม่ใช่รายสุดท้ายที่จะออกไปผลิตเบียร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีผู้หลงรักคราฟท์เบียร์อีกมากเตรียมตัวไปผลิตนอกประเทศ เพื่อนำกลับมาขายในประเทศ คราฟท์เบียร์จึงเป็นตัวอย่างของความย้อนแย้งในสังคมไทย

ด้านหนึ่งรัฐบาลบอกว่า สนับสนุน sme ของคนรุ่นใหม่ แต่ก็กีดกันการแข่งขัน โดยใช้กฎหมายเป็นตัวบังคับ หรือผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่มีความสนิทสนมกับรัฐบาลทุกยุคต้องการผูกขาดการผลิตเบียร์ไปเรื่อย ๆ เพราะมีตัวอย่างในต่างประเทศแล้วว่า ตลาดคราฟท์เบียร์กำลังมาแรงและแย่งสัดส่วนการตลาดของเบียร์ยี่ห้อดังไปเรื่อย ๆ

จากข้อมูลของ Brewers Associations แห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ในปี 2018 นั้นยอดขายเบียร์ดังในประเทศสหรัฐตกลง 1% แต่ Craft Beer เพิ่มขึ้น 3.9% หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13 % ของยอดขายเบียร์ทั้งหมด เป็นมูลค่ากว่า 27,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานกว่า 5 แสนตำแหน่ง ขณะที่ตลาดในยุโรปมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 13%

ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะเห็นการ disruption หรือการพังทลายของเบียร์รายใหญ่ในสหรัฐและยุโรป และทดแทนด้วยคราฟท์เบียร์รายเล็กมากมาย ยกเว้นที่เมืองไทย