เรื่องควรรู้ ก่อนเริ่ม 'ลงทุนหุ้น'

เรื่องควรรู้ ก่อนเริ่ม 'ลงทุนหุ้น'

ก่อนเริ่ม "ลงทุนหุ้น" ต้องรู้อะไรบ้าง? เพื่อให้เข้าใจอย่างถูกต้องและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงแนะวิธีตรวจสอบโคตรเซียนที่มาชักชวนลงทุนจริงหรือปลอม

จำนวนผู้เปิดบัญชีลงทุนในหุ้นไทย ในปี 2562 มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 140,000 คน และใน 5 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 150,000 คน ชี้ให้เห็นถึงความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งผมเองสนับสนุนให้คนไทยได้ออมเงินในตลาดหุ้นอย่างถูกวิธี โดยมีความเข้าใจอย่างถูกต้องรู้จักวิธีลดความเสี่ยง

วันนี้ ขอใช้พื้นที่คอลัมน์ให้ข้อคิดความเข้าใจ แก่ผู้ที่ยังลงทุนมาไม่นาน ดังนี้

  • หุ้น เป็นทั้งโอกาส เป็นทั้งความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน อย่าได้เชื่อว่ามีวิธีง่ายๆ ที่ทำให้รวยเร็วมากอย่างแน่นอนอีกด้วย เพราะถ้ามีวิธีง่ายๆ และแน่ๆ แบบนั้น ทุกประเทศในโลกคงไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้คนต้องอบรมและสอบเป็นนักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน และผู้แนะนำการลงทุน ให้เปลืองแรง เปลืองค่าจ้างหรอกครับ

  • ในความเป็นจริง มีวิธีเรียนรู้ที่ยากแบบปานกลาง เเต่สามารถจะเรียนรู้ ฝึกฝนได้ ในหลักวิธีการลงทุน การคัดเลือกหุ้น คุมความเสี่ยง ทำให้มีโอกาสที่จะรวยได้โดยใช้เวลาบ้าง ทั้งนี้ผมแนะนำให้เรียนรู้กับ บล.ที่เปิดบัญชีอยู่ หรือกับองค์กรและตัววิทยากรที่น่าเชื่อถือ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นต้น มีทั้งบทความ วิดีโอ ในเว็บและใน Facebook

  • ถ้าได้รับการเชิญชวนไปเรียนแพงๆ จากใครที่อ้างความเป็นโคตรเซียน ที่จะสอนให้เรารวยเร็วมาก ได้แน่ๆ เป็น 100% มีวิธีเช็คข้อมูลขั้นต้นว่า โคตรเซียนดังกล่าวมีประสบการณ์และความรอบรู้ที่ยืนยันได้หรือไม่ โดยการค้นประวัติว่าเคยทำงานด้านไหนมาก่อน ถ้าไม่ตรงสายให้สงสัยไว้ก่อนครับ ถ้าเก่งขนาดนั้นจริง ทำไม บล.หรือ บลจ.ถึงไม่ดึงตัวไปเป็นหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ หรือเป็นผู้จัดการกองทุน
  • เข้าดูข้อมูลของสำนักงาน ก.ล.ต. ตาม Link นี้ https://www.sec.or.th/th/pages/marketdata/marketprofessionals.aspx หรือใช้ google แล้วค้นหาด้วยประโยค “กลต. บุคคลที่ได้รับใบอนุญาต” ก็จะเข้าสู่หน้าที่ให้พิมพ์ชื่อของผู้ที่ชวนเราไปจ่ายค่าเคล็ดวิชา ก็จะทราบว่าเคยผ่านการเรียน การสอบเป็นนักวิเคราะห์ หรือผู้แนะนำการลงทุนอะไรมาบ้างไหม

  • ตลาดหุ้นไทยพัฒนามา 45 ปี แต่ยังมีความผันผวนอยู่ค่อนข้างมาก จำนวนปีที่ตลาดหุ้นขึ้นกับปีที่ลง อยู่ในอัตราส่วน 3 ต่อ 2 ดังนั้นการลงทุนปีเดียว อาจยังไม่เห็นผลบวกก็เป็นได้

  • ราคาหุ้นระยะสั้นขึ้นกับปัจจัยสารพัดชนิดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและจิตใจของผู้ลงทุน แต่ในระยะยาว ราคาหุ้นมักเป็นไปตามขนาดของผลกำไรบริษัท ซึ่งก็สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ GDP นั่นเอง

  • ค่าเฉลี่ยระยะยาวของตลาดหุ้นไทยโดยรวม ให้ผลกำไรรวมเงินปันผลประมาณ 10% แต่ในช่วง 10 ปีหลังที่เศรษฐกิจโตต่ำลง และบริษัทในตลาดหุ้นมีการเติบโตของกำไรน้อยลง ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนเหลือประมาณ 7% ต่อปี โดยที่ครึ่งนึงเป็นเงินปันผล

  • การซื้อหุ้นที่ดี หลายบริษัทกระจายหลายธุรกิจจะทำให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาด ส่วนการซื้อเน้นๆ 1-2 บริษัท จะเปิดขอบเขตการได้กำไรและการขาดทุนมากขึ้น
  • ข้อมูลที่ดีและสะดวกใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอยู่ใน www.settrade.com โดยมีตัวเลขที่สำคัญทางการเงิน เพื่อให้ดูแนวโน้มและความสามารถทำกำไรทางธุรกิจ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เป็นต้น และมีบทสรุปย่อเกี่ยวกับกิจการของบริษัทที่ใช้ชื่อรายงานว่า Factsheet

  • การซื้อหุ้น เป็นการซื้ออนาคตของบริษัทนั้น ดังนั้นข้อมูลสำคัญที่สุด คือการวิเคราะห์อนาคตทางธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ผู้ลงทุนควรดู IAA Consensus ที่สมาคมนักวิเคราะห์ฯ นำข้อมูลการวิเคราะห์ทางธุรกิจของหุ้นประมาณ 280 บริษัท รวมถึงประเมินมูลค่าหุ้น มาให้ดูใน www.settrade.com โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราสามารถเลือกหุ้นดีหุ้นเด็ดได้สดวกจากช่องทางนี้

  • การคาดการณ์ต่างๆ นั้น มีโอกาสถูกและผิดได้ในรายครั้ง ดังนั้นต้องไม่มั่นใจเกินสถิติความเป็นจริง ไม่ทุ่มซื้อหุ้นครั้งเดียว หุ้นบริษัทเดียว แต่ควรกระจายไปหลายธุรกิจ และกระจายจังหวะเวลาโดยวิธีการที่เรียกว่า DCA ซึ่งเป็นการซื้อทยอยเป็นรายเดือนหรือรายเวลาอื่นๆ

  • การวิเคราะห์กราฟราคาทางเทคนิค เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนหาจังหวะเข้าออกที่มีประโยชน์ แต่ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลักเพียงเครื่องมือเดียว เนื่องจากมีข้อจำกัดและจุดอ่อนอยู่บางประการ และสัญญานซื้อขายอาจเปลี่ยนข้างพลิกผันได้อย่างรวดเร็ว จนผู้ลงทุนใหม่ๆ ไม่อาจตามทันได้ แนะนำให้ใช้ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจเป็นหลัก แล้วใช้การวิเคราะห์กราฟเป็นเครื่องมือสนับสนุน

ท้ายนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์หลักสูตรออนไลน์ (นับ ชม.ได้ 3 ชม.) การลงทุนในผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ) ในวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ค.2563 เวลา 09.30-12.30 น. ราคา 1,700 บาท Net. สอบถามข้อมูลโทร 0-2009-9292 ต่อ 3716, 3717