เซ็นทรัลเร่งสปีดขยายอาณาจักรค้าปลีก'เวียดนาม'

เซ็นทรัลเร่งสปีดขยายอาณาจักรค้าปลีก'เวียดนาม'

เวียดนาม หนึ่งเสือเศรษฐกิจที่แข็งแรงแห่งภูมิภาคอาเซียน เศรษฐกิจขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 ที่ผ่านมา จีดีพีเวียดนามเติบโตถึง 7% ท่ามกลางภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก!  ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 ขยายตัว 3.82% แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19

ศักยภาพของตลาดเวียดนามในระยะยาวดึงดูดบรรดานักลงทุนมุ่งหน้าปักธงยึดหัวหาด! รวมทั้งทุนค้าปลีกไทยยักษ์ใหญ่ เซ็นทรัล”  เข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามมากว่า 8 ปี  พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมค้าปลีกให้มีความทันสมัย ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเวียดนาม สถานะของกลุ่มเซ็นทรัลวันนี้นับเป็นบริษัทค้าปลีกข้ามชาติใหญ่ที่สุดในเวียดนาม บนฐานลูกค้ากว่า 12 ล้านคน พร้อม ต่อยอด-ขยายฐานธุรกิจ" สานยุทธศาสตร์บ้านหลังที่สองของกลุ่มเซ็นทรัล!

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของเซ็นทรัลรีเทล เน้นการขยายธุรกิจหลากหลายรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นสูง (Resilient Portfolio) และการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน (Partnership) พร้อมนำ “เทคโนโลยี” มาเสริมทัพธุรกิจ เพื่อทำให้เซ็นทรัล รีเทล สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง

รองรับ โอกาสธุรกิจ” จากศักยภาพการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเวียดนาม จาก "ประชากร" ที่อยู่ในวัยทำงานกว่า 50 ล้านคน จากจำนวนประชากร 95 ล้านคน นับเป็นตลาดขนาดใหญ่!  ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)  ล่าสุด การบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป ทำให้ประเทศเวียดนามมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากและพร้อมก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก

เซ็นทรัล รีเทล เปิดตลาดเวียดนามเมื่อปี 2555 โดยเริ่มจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายแบรนด์สินค้าแฟชั่น กระทั่งก้าวสำคัญในปี 2558  เข้าร่วมทุนกับยักษ์ท้องถิ่น เหงียนคิม และลานชี มาร์ท ทำให้ เซ็นทรัล รีเทล ใน เวียดนาม ขณะนั้นมีเครือข่ายร้านค้า 85 แห่ง ใน 15 จังหวัด มีพื้นที่ขาย 1.7 แสนตร.ม. ติดสปีดการขยายธุรกิจมอย่างต่อเนื่อง

ณ มิ.ย.2563 เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีศูนย์การค้า 35 แห่ง ร้านค้ามากกว่า 230 แห่ง ครอบคลุม 39 จังหวัด จาก 63 จังหวัด พื้นที่ขายกว่า 1.08 ล้านตร.ม. โฟกัสหลักอยู่ที่การขยายธุรกิจกลุ่มฟู้ด (Food) 3 รูปแบบในเมืองหลักและเมืองรอง ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hyper GO!) 32 แห่ง ครอบคลุมเมืองสำคัญของเวียดนาม ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองหลัก (Super GO!) 7 แห่ง ใน 2 เมือง คือ  ฮานอยและโฮจิมินห์ ซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่ต่างจังหวัด (ลานชี มาร์ท) 25 แห่ง 

ทั้งยังมีธุรกิจนอน-ฟู้ด (Non-Food) มากกว่า 170 แห่ง ที่เป็นร้านค้าเฉพาะทางต่างๆ อาทิ เหงียนคิม ร้านจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ ทำหน้าที่บริหารศูนย์การค้าโก!(GO!) อีก 35 แห่ง ซึ่งรีแบรนด์มาจาก “บิ๊กซี”

จากธุรกิจที่สร้างรายได้ราว 300 ล้านบาทในปี 2557  เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีรายได้ 37,000 ล้านบาท ในปี 2562 และช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจ และมีรายได้จากกลยุทธ์ “ออมนิแชนแนล” เชื่อมช่องทางร้านค้า และออนไลน์ แบบไร้รอยต่อ  พร้อมด้วยฐานลูกค้าที่แข็งแรงกว่า 12 ล้านราย หรือมีลูกค้ามาใช้บริการ 1.75 แสนคนต่อวัน

ดีเอ็นเอของเซ็นทรัล รีเทล ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แสวงหาโอกาสในการเติบโตอยู่เสมอ และยังคงมุ่งมั่นลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพของประเทศที่ยังเติบโตได้อีกมาก"

ฟิลิป ฌ็อง บราเอ็นนิโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม กล่าวเสริมว่า ปี 2563 นี้  เซ็นทรัล รีเทล ตั้งเป้าเปิดศูนย์การค้า GO! เพิ่มทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ สาขาจ่าวิญ, กว๋างหงาย, บวนมาถวด, เบ๊นแจ, บ่าเหรี่ยะ และ ท้ายเหงียน รวมถึงรีแบรนด์บิ๊กซีเป็น GO! เพิ่ม 4 สาขา 

พร้อมพัฒนาเทคโนโลยี ช่องทางออมนิแชนแนล และมุ่งผสานความร่วมมือ (Synergy) กับพันธมิตร อาทิ แกร็บ บนฟีเจอร์ GrabMart ตอบโจทย์ความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้า เพื่อก้าวสู่การเป็นธุรกิจ “Multi-Format” เต็มรูปแบบ เข้าถึงลูกค้าได้ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ สร้างความสะดวก ส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้าในทุกสถานการณ์ 

เซ็นทรัล รีเทล ตั้งเป้าขยายธุรกิจให้ครอบคลุม 55 จังหวัดทั่วประเทศภายใน 5 ปี เป็นฟันเฟืองสำคัญในสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชาวเวียดนามที่จะกลับมาเป็นกำลังซื้อ! นั่นเอง

เซ็นทรัล รีเทล ยังได้ต่อยอดธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในไทยสู่เวียดนาม ไม่ว่าจะ การเปิดร้าน ซูเปอร์สปอร์ต” การพัฒนาศูนย์การค้า GO! ซึ่งต่อยอดมาจาก โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์  การนำโมเดลธุรกิจร้านค้าเฉพาะทางต่างๆ ไปปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ชาวเวียดนาม จนเกิดเป็นธุรกิจ ฟู้ด ซิตี้, คุโบ, เฮลโหล บิวตี้ รวมถึงนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างเวียดนาม-ไทย เพื่อวางจำหน่ายในเครือข่ายธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ

นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการรับซื้อสินค้าท้องถิ่น  โครงการฟาร์เมอร์ มาร์เก็ต สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและผู้ประกอบการรายย่อย ให้พื้นที่วางจำหน่ายสินค้าในบิ๊กซี ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ต่อยอดมาจากตลาดจริงใจในเมืองไทย