‘ตั้งรับ’ ให้ดี เมื่อ ‘โควิด’ ยังไม่น่าไว้วางใจ

‘ตั้งรับ’ ให้ดี เมื่อ ‘โควิด’ ยังไม่น่าไว้วางใจ

ความพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยของรัฐบาลผ่านมาตรการกระตุ้นต่างๆ ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง อีกมุมหนึ่งกลับพบการปิดกิจการในกลุ่มธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันทั่วโลกที่เกิดภาวะยื่นล้มละลาย ดังนั้นสถานการณ์ที่ดูเริ่มคลี่คลาย อาจยังไม่วางใจได้เต็มร้อย

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดูคลี่คลาย ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง จนได้ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เกือบเป็นปกติ เป็นเรื่องที่สะท้อนว่าไทยควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อมองไปที่หลายประเทศทั่วโลกยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างหนัก และยิ่งล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่คำแนะนำใหม่เกี่ยวกับโควิด-19 ยอมรับว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ "แต่ไม่ยืนยันว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ส่งผ่านเชื้อทางอากาศได้หรือไม่" ยิ่งทำให้รู้สึกว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจเลยไม่แต่นิดเดียว

การแพร่ระบาดโรคโควิด ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยถดถอย ในไทยเองไม่ได้มีแค่ปัจจัยโควิดที่สร้างแรงสะเทือนมหาศาลให้ระบบเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมืองที่กำลังเป็นปัจจัยขย่มซ้ำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก

แม้ความพยายามที่จะฟื้นเศรษฐกิจในทุกวิถีทางยังดำเนินต่อไปภายใต้มาตรการของภาครัฐ ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศให้ได้มากที่สุด แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถทำได้อย่างหวัง เมื่อเรายังเห็นการปิดกิจการในกลุ่มธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นภาวะของทั่วโลก เราเห็นแบรนด์สินค้า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ระดับโลกยื่นล้มละลายกันมากมายในช่วงนี้ เพราะพิษสงจากโควิด-19 ความยากลำบากในการประคับประคองสถานการณ์ ที่หลายคนอาจคิดว่าเริ่ม “คลี่คลาย” จึงไม่อาจไว้วางใจได้เต็มร้อย เมื่อทั้งโลกยังไม่สามารถหาวัคซีน เพื่อมาสยบความร้ายกาจของมหันตภัยชนิดนี้ได้อย่างอยู่หมัด

การมาของโควิดจริงๆ แล้วอาจไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะมีข้อมูลระบุว่า แม้กระทั่ง "บิล เกตส์" อดีตมหาเศรษฐีของโลก ​ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ยังเคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า โลกกำลังเผชิญหน้ากับภัยร้ายแรงจากโรคระบาดครั้งใหญ่ มูลนิธิเขาจึงทุ่มให้งบการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนรักษาโรคไข้หวัดเช่นเดียวกับโควิด-19 โดยบริจาคเงินให้หน่วยงานวิจัยด้านนี้ไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท 

คงจะดีหากผู้นำของทุกประเทศทั่วโลกเข้าใจบริบทที่โลกกำลังเผชิญอยู่ แล้วลดผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองลง การรับมือโรคโควิด-19 ก็น่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่านี้ แม้ไทยจะบริหารควบคุมการแพร่เชื้อได้เป็นที่น่าพอใจอยู่ในอันดับต้นของโลก แต่การที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ต้องหมายถึงทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง เมื่อชีวิตและธุรกิจยังคงต้องดำเนินต่อไปท่ามกลางมหันตภัยรอบด้าน จึงต้องพยายามเสาะแสวงหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติให้เจอ องค์กรอาจต้องค้นหาโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ หรือสร้างธุรกิจใหม่ให้ตอบโจทย์ยุคปัจจุบันให้ได้ ดึงเครื่องไม้เครื่องมือดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มความสะดวก ปรับกลยุทธ์ให้รอบด้าน มีสติ รอบคอบ ตั้งรับให้ดี เพราะจากนี้ไปสถานการณ์ทั้งโควิด และเศรษฐกิจยังคงสาหัสและไม่น่าไว้วางใจ