'หมอเก่ง' เผยข้อมูลงบปี 64 ไม่ตอบสนองวิกฤติสาธารณสุข

'หมอเก่ง' เผยข้อมูลงบปี 64 ไม่ตอบสนองวิกฤติสาธารณสุข

"หมอเก่ง" เผยข้อมูลงบปี 64 ไม่ตอบสนองวิกฤติสาธารณสุข ทั้งที่คนไทยต้องการความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด

ภายในงานเสวนาอนาคตสวัสดิการไทย ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ที่จัดโดยกรรมาธิการสวัสดิการสังคมสภาผู้แทนราษฎร นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.พรรคก้าวไกล  (หมอเก่ง) ระบุว่า ถ้าหลายๆท่านได้ติดตามการอภิปรายที่ผ่านมา จะได้เห็นว่าประเทศเราโหยหาความมั่นคงมาก พูดถึงความมั่นคงทุกด้านเต็มไปหมด รวมถึงการมี พ.ร.บ.ความมั่นคงทางด้านวัคซีนแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นในยุค สนช.ในปี 2561 มีงบประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนจะเยอะแต่เอาเข้าจริงน้อยมาก ยาตัวหนึ่งผลิตออกมาใช้เงินเกิน 70 ล้านบาทแล้ว และตลอดเวลามีการตัดงบวัคซีนออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาโดยตลอด ในปี 2562 ตัดงบเหลือ 50 ล้านบาท ปี 2563 ตัดอีกเหลือ 40 ล้านบาท ปีนี้ตัดอีกเหลือ 27 ล้านบาท

แต่งบประมาณ 2564 อย่างที่เราเห็น ไม่ได้มีการตอบสนองอะไรเลยกับวิกฤติสาธารณสุขที่เกิดขึ้น ความมั่นคงทางด้านวัคซีน ยา และสาธารณสุข ไม่ได้รับความสนใจ และยังมีโครงการหลายๆอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ของประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

โรคระบาดจะจบลงใน 3 กรณี

  1. มียารักษาที่ฆ่าเชื้อนั้นเลยอย่างได้ผลชะงัด
  2. การมีวัคซีนที่ทำให้คนเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆได้
  3. เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ ซึ่งกรณีเช่นนี้จะจัดการยาก เพราะโรงพยาบาลจะไม่สามารถรับมือจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นได้และจะเกิดการล้มตายเป็นจำนวนมาก

แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศมากว่า 50 วันแล้ว ทำให้เราต้องกลับมาสู่จุดที่ว่าเราควรหาดุลยภาพระหว่างปัญหาทางสุขภาวะ กับปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้องมีความสมดุลกัน ไม่ใช่ปิดกันหมด คนไม่ตายเพราะโควิดแต่มาตายเพราะไม่มีงานทำและไม่มีเงินซื้อข้าวกิน

ดังนั้นปัญหานี้จะจบลงได้ถ้ายากับวัคซีนเกิดขึ้น ปัญหาก็คือว่าประเทศเราจะรอแต่ยาและวัคซีนจากต่างประเทศหรือ? ถ้าประเทศของเรามีศักยภาพและเงินทุน เรามีประชากรเกือบ 70 ล้านคน หากผลิตยาหรือวัคซีนขึ้นมาได้ คนกลุ่มแรกที่เราจะต้องสงวนยาเอาไว้ให้ ก็คือสำหรับประชาชนคนไทย

159454767626

ถามในทางกลับกัน ต่างประเทศถ้าผลิตขึ้นมาได้ คนกลุ่มแรกที่เขาจะให้ก็คือคนภายในประเทศของเราเช่นกัน ซึ่งตนไม่แน่ใจเลยว่าเราจะมีอำนาจต่อรองจนสามารถไปขอซื้อยาและวัคซีนที่ผลิตออกมาได้เป็นลำดับแรกๆของโลก แน่นอนว่าเรามีการสำรองเงินเอาไว้สำหรับซื้อ แต่เขาจะขายให้เราหรือไม่ก็ไม่ทราบ

ดังนั้น แทนที่จะเอาเงินมาลงทุนสร้างศักยภาพภายในประเทศ ให้เกิดการจ้างงาน เกิดการวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก แต่เรากลับตัดงบสถาบันวัคซีนแห่งชาติลงไปเหลือแค่ 27 ล้านบาท ซึ่งตนได้ลงไปดูในรายละเอียด ก็พบว่าส่วนใหญ่ใช้ในการจ่ายเงินเดือนบุคลากร ไม่เหลืองบที่จะวิจัยและพัฒนาอะไรแล้ว

"รัฐบาลแม้จะบอกว่างบการวิจัยและพัฒนายา และวัคซีนอยู่ในงบกลาง ในส่วนของกองทุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา แต่ตนขอถามว่าในฐานะผู้แทนราษฎร เราไปตรวจสอบงบกลางไม่ได้แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเอาไปใช้จริงหรือเป็นแค่ลมปาก แล้วทำไมถึงไม่เอาไปใส่ไว้ในหน่วยงานของเขา" นพ.วาโยกล่าว