'ขอโทษ' ใช้บ่อยจนไม่ขลัง 'แต้มบุญ' การเมืองใกล้หมด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม น่าจะเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีลำดับต้นๆที่ชอบกล่าวคำว่า “ขอโทษ”
เพราะล่าสุด 14 ก.ค. ได้ออกมาขอโทษคนไทยต่อเหตุการณ์การ์ดตกที่ปล่อยคนต่างชาติหลุดจากการกักตัวในช่วงโควิด
“เสียใจขอโทษประชาชนคนไทยด้วย ซึ่งหลายปัญหาเป็นสิ่งไม่คาดคิด และได้เน้นย้ำที่ประชุมครม.และศบค.ให้ทบทวนมาตรการต่างๆ เพราะมีผลกระทบความปลอดภัยต่อประชาชนโดยรวม” คำพูดจากพล.อ.ประยุทธ์
หากจะบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการพยายามดับร้อนให้กับคนในประเทศไทย ก็คงไม่ผิดนัก เพราะภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ถล่มใส่รัฐบาล
แม้กระแสในโลกออนไลน์จะเป็นเพียงโลกคู่ขนานกับโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้นและหลายครั้งพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ค่อยแยแสเท่าใดนัก แต่สำหรับครั้งนี้การพูด “ขอโทษ” ย่อมแสดงให้เห็นด้านหนึ่งว่าพล.อ.ประยุทธ์ ก็ชายตามองโลกคู่ขนานเหมือนกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- จัดทัพ 'ทีมเศรษฐกิจ' ชุดใหม่ ปิดฉาก 6 ปี 'สมคิด-4กุมาร' แถลงออกจาก ครม. วันนี้
- เปิดบทสนทนาประยุทธ์-สมคิด 'รู้สึกแย่ ไม่รู้จะพูดต่อหน้าอย่างไร'
- เปิดโผทีมศก.ชุดใหม่ 'ปรีดี' เต็งคลัง-'ไพรินทร์' เสียบพลังงาน
- How to 'ขอโทษ' ยังไงให้เป็น 'มืออาชีพ'
สถานการณ์การ์ดตกที่จังหวัดระยองและย่านสุขุมวิทนั้น เป็นการย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวและความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง ที่อาจเรียกว่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ย้อนกลับไปที่พฤติกรรมการกล่าวคำว่า “ขอโทษ” ของพล.อ.ประยุทธ์ จะพบว่า นอกเหนือไปจากวันที่ 14 ก.ค. นายกฯประยุทธ์ ได้ใช้คำนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์โควิด-19 ได้มีการกล่าวขอโทษซ้ำๆ กันถึงสองครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ
เริ่มที่เดือน มี.ค.เป็นห้วงเวลาที่โควิดกำลังระบาด ประชาชนเริ่มตื่นตระหนกนำมาสู่การกักตุนหน้ากากอนามัย จนส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกร้องให้พรรคถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ปรากฏว่าเมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบความคิดเห็นของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้คำตอบว่า “ก็ถอนไปสิ” กลายเป็นประเด็นใหญ่โต ก่อนที่นายกฯ จะกลับลำ พร้อมกับบอก ขอโทษที่ได้ตอบคำถามเร็วเกินไป
การขอโทษกันระหว่างพรรคการเมือง อาจจะยังไม่ส่งผลถึงประชาชนมากนัก แต่กับการขอโทษประชาชนเพราะได้สื่อสารกับประชาชนผิดพลาดไปนั้นเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
โดยเมื่อเดือน เม.ย. รัฐบาลมีนโยบายจะจ่ายเงินเยียวยาเพื่อช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเวลานั้นเอง พล.อ.ประยุทธ์ สื่อสารออกมาว่า รัฐบาลมีเงินสำหรับการเยียวยาให้กับประชาชนเพียงเดือนเดียวเท่านั้น
“ผมเห็นใจและสงสาร ผมร้อนใจมากกว่าท่าน คณะกรรมการที่กำกับดูแลและติดตาม ได้บูรณาการข้อมูล ตรวจสอบการเยียวยา เพื่อให้ทั่วถึง แต่ต้องยอมรับความจริงว่า เงินที่รัฐบาลจะนำมาเยียวยานั้นมาจากงบกลางจำนวน 50,000 ล้านบาท เดิมจะเยียวยา 3 ล้านคน ซึ่งจะเยียวยาได้ 3 เดือน หรือ 15,000 บาทต่อคน แต่เมื่อจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com มีจำนวนมากถึง 9 ล้านคน ทำให้รัฐบาลมีเงินเยียวยาได้เพียงเดือนเดียว เพื่อรองรับประชาชนที่เดือดร้อน 9 ล้านคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 15 เม.ย.
การพูดออกมาเช่นนั้น ยิ่งทำให้ทัวร์ลงมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้นในทำนองว่า รัฐบาลกำลังผลักภาระให้กับประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาขอโทษเมื่อวันที่ 16 เม.ย. โดยระบุว่า “ขอโทษที่การแถลงข่าววานนี้ (15 เม.ย.) ทำให้เกิดความไม่สบายใจ นำไปสู่การเคลื่อนไหวอีกมากมาย แต่ขอยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลประชาชนใน 3 เดือนนี้ให้ได้”
ไม่เพียงเท่านี้ ย้อนกลับไปในกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบ และสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้การได้มาซึ่งรัฐบาลมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ เคยใช้เวทีการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการทั่วประเทศ กล่าวขอโทษคณะรัฐมนตรีให้เห็นมาแล้ว
“เรื่องแรกที่เป็นประเด็นสำคัญ ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียวว่า จะทำอย่างไรถึงทำงานได้ ก็หวังให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดูว่าเขียนว่าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ก็คงยังมีรัฐบาลอยู่ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำของผมเต็มที่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ที่ผ่านมา นายกฯมีทั้งคำ ‘ขอโทษ-เสียใจ-ขอรับผิดชอบ’ แน่นอนว่าการกล้าทำกล้ารับย่อมเป็นวิสัยที่ดี แต่การกล้าประกาศขอโทษและรับผิดชอบโดยที่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยิ่งทำให้แต้มบุญทางการเมืองหมดลงไปทุกที และเมื่อแต้มบุญหมดลง ย่อมหมายถึงความชอบธรรมที่ไม่เหลือพอจะบริหารประเทศอีกต่อไป