'ซิลิคอน คราฟท์'เคาะราคาไอพีโอ 1.38 บาทคาดเทรด30ก.ค.นี้
"ซิลิคอน คราฟท์"เคาะราคาไอพีโอ 1.38 บาท เปิดจอง 100 ล้านหุ้น วันที่ 21-23 ก.ค.นี้ คาดเข้าเทรด 30ก.ค. เตรียมนำเงินระดมทุน 138 ล้านบาท ขยายธุรกิจ
บริษัทซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICTลงนามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ที่จะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ในระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค.นี้ ที่ราคาหุ้นละ 1.38 บาท มูลค่ารวมทั้งสิ้น 138 ล้านบาท โดยเสนอขายหุ้นจำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ไอร่า จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ร่วมอีก 4 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
นายไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่บริษัทฯ ได้จัดโร้ดโชว์กับนักลงทุนรายย่อยเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ SICT ได้มีนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจแก่หุ้น Deep Tech นี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคตอีกมาก และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ New S-Curve โดยราคาเสนอขายที่ 1.38 บาท เป็นราคาที่เหมาะสม มี P/E ratio อยู่ที่ 14.66 เท่า ไม่สูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี ของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ย P/E ratio ของกลุ่มเทคโนโลยี จะอยู่ที่ประมาณ 27.36 เท่า ด้วยความเป็นหุ้น Deep Tech ที่ไม่เหมือนใคร ราคาที่เสนอขายนี้จึงมีความน่าสนใจมาก เพราะคิดเป็นส่วนลดกว่า 40%
นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจด้านออกแบบ พัฒนาและจำหน่ายไมโครชิพ สำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID Animal Identification) และอีก 3 กลุ่มสินค้าของบริษัทฯ เติบโตและมีการทำกำไรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้แต่ละปีมากกว่า 300 ล้านบาท โดย SICT เป็นบริษัทไทยในธุรกิจไมโครชิพที่ยืนหยัดแข่งขันในเวทีโลก ปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดไมโครชิพสำหรับ RFID Animal Identification อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก มีโมเดลธุรกิจที่เป็นผู้ออกแบบไมโครชิพ และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จากนั้นจะว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นให้ผลิตไมโครชิพ ซึ่งข้อดีของโมเดลแบบนี้ คือ บริษัทจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบริหารโรงงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า โดย SICT จะเน้นถือครองทรัพย์สินทางปัญญา
จากผลประกอบการที่มีผลกำไรอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้ บริษัทฯ สามารถวางนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ และที่ผ่านมาบริษัทฯ มีอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิ
บริษัทฯ ตั้งเป้าเติบโต 2 เท่าใน 4 ปี ข้างหน้า จาก 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเลกทรอนิกส์ยานยนต์ ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ และระบบการอ่านข้อมูล และไมโครชิพอื่นๆ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่า 40% ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ มีรายได้รวม 95.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 15.6 ล้านบาท บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 302.1 ล้านบาท หนี้สินรวม 84.0 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 218.1 ล้านบาท สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนจะนำไปขยายธุรกิจไมโครชิพ ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในตลาด RFID สำหรับปศุสัตว์ ในอีก 4 ปีข้างหน้า