กูรูเตือน ‘ทองคำ’ ใกล้จบรอบ แนะจับตา ‘3 สัญญาณ’ เสี่ยงถูกขายทำกำไร
“ทองคำ” ในประเทศพุ่งทำ “นิวไฮ” แตะระดับ 27,650 บาทต่อบาททองคำ หลัง “อีซีบี” อัดฉีดเงินกว่า 7.5 แสนล้านยูโร นักวิเคราะห์ประเมินราคาตลาดโลกมีลุ้นทะลุไฮเดิม 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนะจับตา 3 สัญญาณเสี่ยงกดราคาในอนาคตวูบ
ความเคลื่อนไหวราคาทองคำในประเทศวานนี้ (22 ก.ค.) อิงจากสมาคมค้าทองคำ พุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 27,650 บาทต่อบาททองคำ โดยก่อนหน้านี้ราคาทองคำในประเทศเคยพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 27,000 บาทต่อบาททองคำ เมื่อ 6 ก.ย. 2554 ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในประเทศเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำโลกที่แตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปี ที่ระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทั้งนี้ สาเหตุที่ราคาทองคำในประเทศทำจุดสูงสุดใหม่ แต่ราคาทองคำโลกยังไม่ทะลุจุดสูงสุดเดิมที่ราว 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นผลจากค่าเงินบาทในปัจจุบันที่อ่อนค่าลงเทียบกับเมื่อปี 2554 โดยราคาทองคำปัจจุบันอิงกับค่าเงินบาทที่ 31.61 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ปี 2554 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.91 บาทต่อดอลลาร์
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำในประเทศขึ้นมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่บาทละ 27,750 บาท ทุบสถิติเก่าที่เคยทำไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนนักลงทุนที่คาดหวังว่าราคาจะขึ้นไปแตะระดับ 30,000 บาทต่อบาททองคำ โดยส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากราคาในขณะนี้ขึ้นมาสูงมากแล้ว เบื้องต้นจึงต้องลุ้นขึ้นไปแตะระดับ 28,000 บาทต่อบาททองคำก่อน แต่ขณะเดียวกันต้องระวังแรงขายทำกำไรออกมาในช่วงนี้ด้วย
ด้านราคาทองคำตลาดโลกปัจจุบันอยู่ที่ราว 1,860 ดอลล์ต่อออนซ์ ประเมินแนวโน้มอาจจะขึ้นไปที่ 1,875 ดอลล์ต่อออนซ์ ส่วนจะทะลุ All New High เดิมได้หรือไม่นั้น ยังต้องรอประเมินอีกครั้ง
นางสาวเบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยหนุนราคาทองคำในขณะนี้เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลัง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปได้อนุมัติกองทุนฟื้นฟู ด้วยวงเงินอัดฉีด 7.5 แสนล้านยูโร
“เมื่อเม็ดเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น กดดันต่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้ติดลบ คล้ายกับปี 2552 – 2554 ซึ่งมีการวิตกว่า มาตรการ QE จะทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyper inflation) ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแรง”
นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐและจีน เป็นส่วนที่สนับสนุนให้เกิดแรงซื้อเข้ามาในทองคำมากขึ้น อย่างกองทุนทองคำ SPDR นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา เข้าซื้อทองคำไปแล้วถึง 326.05 ตัน ทำให้รวมถือครอง 1,219.75 ตัน โดยการเข้าซื้อรวมในปีนี้ใกล้เคียงกับปี 2552 ทั้งปี ซึ่งกองทุน SPDR เข้าซื้อ 353.39 ตัน
“แรงซื้อที่เข้ามาหนุนราคาทองคำขณะนี้ มีโอกาสจะผลักดันให้ราคาทองคำขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ในระยะสั้นอาจจะเกิดแรงขายออกมาได้ เมื่อพิจารณาจากสัญญาณทางเทคนิคซึ่งเกิดภาวะ ‘ซื้อมากเกินไป’ (Overbought)”
ทั้งนี้ นักลงทุนควรจะติดตามปัจจัยที่สำคัญ 3 ส่วน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณเตือนได้ว่าการพุ่งขึ้นของราคาทองคำใกล้จะจบรอบ ได้แก่ การถือครองทองคำของกองทุน SPDR หากลองพิจารณาในอดีตเมื่อปี 2555 จะเห็นว่ากองทุน SPDR เริ่มลดสัดส่วนการถือครองทองคำลงอย่างมีนัยสำคัญ และลดต่อเนื่องในปี 2556 หากเป็นเช่นนี้ ราคาทองคำก็มีโอกาสจะปรับฐานลงมาได้
ถัดมาคือ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ อาทิ การลดขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการประกาศจะยุติการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสถิติในอดีตที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นแรงหนุนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ
ประการสุดท้าย คือ การคิดค้นวัคซีนและยารักษาโควิด-19 หากประสบความสำเร็จและสามารถกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง เชื่อว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาดี และทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) จะเริ่มถูกเทขายทำกำไรออกมา
โดยภาพรวมแล้ว ประเมินว่าราคาทองคำยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ โดยนักลงทุนอาจจะพิจารณาหาจังหวะเข้าสะสมหากราคาลดลงมาทดสอบแนวรับแรกบริเวณ 1,795 – 1,803 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว 26,800 บาทต่อบาททองคำ ส่วนแนวรับถัดไปคือ 1,763 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว 26,350 บาทต่อบาททองคำ