ท่องแดนพิศวง 'เนปาล' เปิดมุมลับ 'ภัตตาคารแร้ง'
นมัสเต "เนปาล" การผจญภัยในมุมต่าง ณ ดินแดนแห่งหิมาลัย ที่ซึ่งความงดงามทางธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
ศิลปะ – วัฒน – ธรรมชาติ @ เนปาล
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล หรือ ประเทศเนปาล ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย มียอดเขาเอเวอเรสต์เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่น เห็นแต่ไกลตั้งแต่ก่อนเครื่องบินจะลงจอด ณ ท่าอากาศยานนานาชาติตรีภูวัน โดยการบินไทยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง พาเราย้อนเวลาไปยังบ้านเมืองที่ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่อยมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนก็ยังดำเนินอยู่เช่นนั้น แถมเวลาที่ประเทศเนปาล ก็ช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที การไปเยือนเนปาลจึงเหมือนหมุนคืนกลับไปสู่อดีตอันแสนสุข
เที่ยวบินจะมาถึง กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาลในตอนบ่าย พอผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองก็เดินทางไปชมมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบิน พระมหาเจดีย์โพธินาถ (Boudhanath Stupa) หรือพระปฐมเจดีย์ของเนปาลที่ยิ่งใหญ่อลังการ มีอายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี จุดเด่นอยู่ที่ดวงตาเห็นธรรมหรือ ‘ดวงตาแห่งปัญญา’ (Wisdom Eyes) ทั้ง 4 ด้าน โดยจะพบเห็นคนเนปาล, ชาวทิเบต และนักท่องเที่ยวมากราบขอพรกันมากมาย
ช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก ก็ไปชม สยมภูวนาถ (Swoyambhunath) หรือ วัดลิง (Monkey Temple) มรดกโลกทางวัฒนธรรมเช่นกัน สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามานะเทวะ ในปี พ.ศ. 936 เป็นเจดีย์ของชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ที่ฐานของสถูปทั้ง 4 ด้านจะมีภาพดวงตาเห็นธรรมด้วยเช่นกัน ตั้งอยู่บนยอดเขาห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปทางทิศตะวันตก 3 กิโลเมตร ตัวสถูปตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ทำให้เห็นวิวทิวทัศน์เหนือหุบเขากรุงกาฐมาณฑุที่แสนงดงาม โดยมีลิงวอกและเหยี่ยวดำอาศัยอยู่บนภูเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งตัวสถูปรอดพ้นจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2558 มาได้
ชาวฮินดูเชื่อว่า ‘ลิงวอก’ คือ ‘เหา’ ที่อยู่บนพระเศียรของพระศิวะ จึงปล่อยให้ลิงหาอยู่หากิน แพร่พันธุ์ตามสบาย โดยลิงวอกก็อยู่ร่วมกับคนเป็นระเบียบดี ทั้งๆ ที่รอบวัดมีการขายของกิน
ของใช้ ของบูชาพระ ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับหลายจุด แต่ลิงก็ไม่สนใจไปข้องแวะ ลองไปสอบถามดูว่าเขากำราบลิงอย่างไร พบว่าทางวัดให้อาหารลิงในสถานที่เฉพาะ ให้เป็นเวลาและอยู่ในส่วนป่า มิได้อยู่ในส่วนท่องเที่ยว ซึ่งลิงจะได้กินอาหารพอประมาณเพื่อควบคุมประชากรระยะยาว มีการเก็บขยะเป็นที่เป็นทาง ส่วนอาหารที่นักท่องเที่ยวนำมาให้ลิง ทางวัดก็ไม่สามารถควบคุมได้ ที่ผ่านมาก็มีนักท่องเที่ยวถูกลิงทำร้ายอยู่บ้าง และมีลิงตายจากกินขยะพลาสติกด้วย
กลับจากวัดลิง ก็เข้าที่พักเพื่อปรับสภาพร่างกายให้ชินกับความสูงที่ระดับ 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากนั้นก็ออกมาทานอาหารเย็นที่ ย่านการค้าทาเมล (Thamal) เป็นตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ใจกลางเมือง มีสินค้าสารพัดให้เลือกสรร และพบว่ากรุงกาฐมาณฑุ แม้จะมีขนาดใหญ่โตมากๆ แต่ถนนหนทางดั้งเดิม กลับแคบนิดเดียว จนรถแทบขับสวนกันไม่ได้ ซึ่งเป็นเช่นนี้มากว่า 300 ปี ตึกแถวร้านค้าเป็นแบบหน้าแคบถึงแคบมาก หน้ากว้างประมาณ 1.5 - 2 เมตรต่อห้องเท่านั้น แต่อาจสูงขึ้นไปได้ถึง 4 ชั้น และนิยมมีระเบียงด้วย
ประเทศเนปาล มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาสูง โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและจีน จึงมีทั้งผู้นับถือศาสนาฮินดู พุทธ อิสลาม คริสต์ และลัทธิปลีกย่อยอีกมากมาย อาศัยอยู่รวมกันอย่างกลมเกลียว โดยจะเห็นได้จากมีการปล่อยวัวและควายเดินอยู่บนถนน ควบคู่ไปกับม้า , ลา และไก่ ซึ่งสามารถพบเห็นได้เกือบจะตลอดเวลา เคล้าคลอไปด้วยเสียงแตรรถและฝูงสิงห์นักบิด บรรยากาศตามท้องถนนอุดมไปด้วยฝุ่นทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะฤดูหนาวที่อากาศปิด แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกห้องพัก
วันต่อมาออกเดินทางท่องเมืองปาทาน (Patan) เมืองคู่แฝดของกรุงกาฐมาณฑุและได้รับการขนานนามว่าเมืองแห่งศิลปะ เพราะเป็นศูนย์กลางงานหัตถศิลป์ของชาวทิเบตอพยพ ดั่งนครโบราณที่ยังมีชีวิต ขอแนะนำให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งเมืองปาทาน (Patan Museum) ซึ่งปรับปรุงมาจากส่วนหนึ่งของพระราชวังเก่า ในสมัยศตวรรษที่ 18 เพราะจะได้พบกับศิลปะทางวัฒนธรรมในระดับมรดกโลก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยปาละ
แม้เมืองปาทานจะเล็ก แต่ก็มีหลักฐานว่าเก่าแก่กว่าภักตะปุระและกาฐมาณฑุเสียอีก เพราะมี 'สถูปอโศก' ที่บ่งบอกว่าพระเจ้าอโศกมหาราช เคยเสด็จมาเผยแผ่พุทธธรรมตั้งแต่เมื่อราว 2,200 ปีมาแล้ว และการได้มาเยือน จัตุรัสพระราชวังปาทาน (Patan Durbar Square) ถือว่าได้เดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์แบบเปิดก็ว่าได้ เพราะงดงามไปด้วยงานสถาปัตยกรรมชั้นสูง ได้แก่ พระราชวังโบราณ 130 แห่ง เทวาลัย 55 แห่ง และลานสาธารณะอีกนับสิบแห่ง ซึ่งยังใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ชุมนุม ประกอบพิธีทางศาสนาทั้งฮินดูและพุทธ อย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปี
เดินทางต่อไปเมืองภักตะปุระ (Bhaktapur) แปลว่าเมืองแห่งความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า อายุประมาณกรุงศรีอยุธยาของไทย ต้องเข้าเยี่ยมชม จัตุรัสพระราชวังภักตะปุระ (Bhaktapur Durbar Square) อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิม สิ่งที่สำคัญโดดเด่น คือ ประตูทอง (The Golden Gate) ของ พระราชวังซันโตกา ถูกสร้างในสมัยกษัตริย์ภูปตินทระ มัลละ เมื่อ พ.ศ.2243,วัดไภราพวนารถ (Bhairavnath Temple), วัดนาธาโปลา (Nyatapola Temple) มณฑปสูงที่สุดของประเทศเนปาลราว 30 เมตร สร้างในสมัยกษัตริย์ภูปตินทระ มัลละ เมื่อพ.ศ.2245
พระราชวังแห่งภัคตะปุระ หรือ พระราชวัง 55 หน้าต่าง ซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์รานจิต มัลละ ในสมัยศตวรรษที่ 18 ด้วยเพราะกษัตริย์ที่สร้างพระราชวังนี้ มีพระชายาที่ทรงโปรดปราน มากถึง 55 คน, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งเมืองภักตะปุระ ที่อัดแน่นไปด้วยวัตถุโบราณระดับโลก และหมู่บ้านช่างปั้นหม้อ
'ภัตตาคารแร้ง' แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งเนปาล
วันต่อมานั่งรถเกือบ 10 ชั่วโมงกับระยะทางประมาณ 250 – 280 กิโลเมตร พากันโขยกเขยก ลัดเลาะไหล่เขาโตรกผา ออกมาจากเมืองหลวง มุ่งหน้าลงใต้ไปพัก ณ รีสอร์ตใกล้ๆ อุทยานแห่งชาติจิตตะวัน เพื่อวันรุ่งขึ้นจะได้เข้าชมความสวยงามในอุทยานแห่งชาติอันดับหนึ่งของประเทศเนปาล ที่ยังคงความหลากหลายทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่ามากมายที่น่าสนใจ เช่น แรดอินเดีย ตะโขงอินเดีย กวางดาว จระเข้น้ำจืด ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว ฯลฯ
เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่นักชมสัตว์ป่าจากทั่วโลก ต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต และมีการจัดโปรแกรมทัวร์โดยคนท้องถิ่น พานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าเที่ยวป่าอย่างเป็นระบบ เช่น ถ้าจะเข้าป่าก็มีให้ 3 ทางเลือกได้แก่ เดินเที่ยวชมโดยมีมัคคุเทศก์นำทาง, นั่งช้างเข้าไป โดยมีควาญช้างนำทาง และนั่งเรือขุดตามแม่น้ำรภดี (Rapti River) โดยมีคนเรือนำทาง เป็นต้น
ผู้นำทางท่องเที่ยวทุกคน สามารถพูดและตอบโต้ภาษาอังกฤษได้ แม้จะออกสำเนียงแบบแขกๆ และเขาทราบว่า “จุดขาย จุดแข็ง” ของพื้นที่คือสัตว์ป่า ทำให้เขาจะเน้นพาเราไปดูให้เห็นสัตว์ป่าแบบชัดๆ ใกล้ๆ จำนวนเยอะๆ เพื่อให้เราประทับใจ อันนำมาซึ่งการไปเที่ยวซ้ำหรือบอกต่อกันไป จึงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลไปเยือนหลายแสนคนทุกปี แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการเคารพสวัสดิภาพสัตว์ป่า ที่ต้องไม่มีการล่า หรือมีสัตว์ป่าทำร้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ เพราะผืนป่าและหมู่บ้านอยู่ใกล้ชิดกันมาก เรียกได้ว่าลงไปซักผ้าที่แม่น้ำ ต้องระวังจระเข้ลากไปกินเลยทีเดียว
ความตื่นเต้นและสนุกสนานที่ได้พบเห็นสัตว์ป่าตัวใหญ่จำนวนมากๆ ซึ่งไม่เคยพบเห็นในประเทศไทยทำให้เวลาผ่านไปเร็วมาก เข้าป่าไปแต่เช้ามืด ออกมาอีกทีก็เกือบหกโมงเย็น โดยมีการนำอาหารกลางวันและน้ำจากรีสอร์ตที่พักไปให้ถึงในป่าด้วย การทานอาหารกลางวัน ณ ริมบึงใหญ่ ภายใต้ร่มไม้ครึ้ม มีลมเย็นพัดเอื่อยๆ เบื้องหน้ามีนกและสัตว์ป่า ลงมากินน้ำให้ชมเป็นระยะๆ ภาพที่เห็นจึงดูงดงาม ได้ดื่มด่ำ ได้คุณค่า และรู้สึกว่ากลมกลืนกับธรรมชาติมาก
เมื่อกลับจากป่า ทุกกลุ่มทัวร์จำเป็นต้องไปชมการแสดง การละเล่นของชนพื้นเมืองในตอนค่ำ เพื่อเป็นการแสดงออกและสื่อสารวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองออกสู่โลกกว้าง ในทางกลับกันก็ทำให้ชาวบ้านที่มิได้นำทัวร์เที่ยวป่า ให้มีรายได้ร่วมไปด้วย เงินจะได้กระจายตกถึงมือชาวบ้านทุกกลุ่มรอบป่าจริงๆ
วันต่อมานั่งรถเดินทางโขยกเขยกไปที่ ภัตตาคารแร้งเมืองนาวาลพาราสี (Nawalparasi) หรือในภาษาพื้นเมืองว่า ‘Jatayu Restaurant’ เพื่อฟื้นฟูประชากรแร้งที่ใกล้สูญพันธุ์ของทวีปเอเชียใต้ จัดตั้งโดยสมาคมอนุรักษ์นกเนปาล (BirdConservation Nepal) หนึ่งในภาคีขององค์การอนุรักษ์นกสากล (BirdLife International) เช่นเดียวกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มีนกแร้งมาใช้บริการมากถึง 8 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาลแร้งตุรกี แร้งอินเดีย แร้งดำหิมาลัย แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และ แร้งสีน้ำตาลยุโรป (ซึ่งนกแร้งหลายชนิดนี้ ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาล ก็เคยมีในประเทศไทยแต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว)
พื้นที่นี้อยู่ในแนวป่ากันชนของอุทยานแห่งชาติจิตตะวัน เดิมบริเวณนี้เป็นที่ทิ้งขยะของหมู่บ้าน ซึ่งปกติมีการนำวัวที่แก่หรือป่วยใกล้ตายมาผูกทิ้งไว้แต่ประเทศเนปาลไม่มีการฆ่าวัว เพราะเชื่อว่าเป็นพาหนะของพระศิวะในศาสนาฮินดู เพราะฉะนั้น ไม่ว่าวัวจะแก่ บาดเจ็บ หรือป่วย ก็จะถูกปล่อยให้ตายไปเองตามความเชื่อทางศาสนา เพื่อตกเป็นอาหารของเหล่านกแร้งที่อาศัยอยู่แถวๆ นั้น บางครั้งมีนกแร้งบินวนอยู่เหนือศพมากถึง50 ตัว สุดท้ายก็จะลงรุมกินซาก ส่งเสียงดังโหวกเหวก จากการต่อสู้แย่งอาหารกันตลอดเวลามีการขโมย จิกตี หรือข่มขู่ระหว่างแร้งด้วยกัน
สำหรับวัวหนึ่งตัว จะถูกนกแร้งรุมกินจนหมดจนเหลือแต่กระดูกในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อสังเกตเห็นดังนั้น ทางสมาคมอนุรักษ์นกเนปาลก็เลยขอใช้พื้นที่บางส่วนของป่ากันชนกับทางรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปรับเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ ‘ภัตตาคารแร้ง’ สำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเฉพาะ เพราะต้องซื้อตั๋วเข้าไปนั่งในบังไพรเฝ้าดูฝูงแร้งมากินซากวัว แถมยังนำ ‘แร้งเทาหลังขาว’ ที่เพาะพันธุ์ได้ในกรงเลี้ยง มาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรกของโลกด้วย เพราะแร้งที่เกิดในกรงไม่มีสัญชาติญาณการเฝ้าระวังภัยจำเป็นต้องเรียนรู้วิถีชีวิตแร้งธรรมชาติ เพื่อจะได้เติบโตและใช้ชีวิตต่อไปได้เองในอนาคต โดยใช้เวลา 5 – 6 ปี แร้งรุ่นพี่ต้องสอนให้หนี ให้กิน ให้ต่อสู้
ที่ผ่านมาถูกหมาจรจัดกัดตายหรือโดนแร้งตัวอื่น ถีบเป็นแผลรุนแรง จนป่วยตายไปบ้างก็มี แต่ปัญหาหลักที่ทำให้ประชากรนกแร้งในธรรมชาติลดลงมากมาจากยาแก้ปวดชนิดไดโครฟิแนก (Diclofenac) เป็นยาฉีดยอดนิยมที่ถูกใช้ในวัว ควาย ม้า ลา ฬ่อ และช้างบ้าน ทั่วภูมิภาคเอเชียใต้ ใช้แก้ปวดกล้ามเนื้อและแก้อาการลุกไม่ขึ้นในปศุสัตว์ โดยชาวบ้านจะไปซื้อยาจากร้านขายยาสัตว์ใกล้บ้าน และฉีดแก่สัตว์เองโดยขาดการควบคุม โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขาซึ่งมีแร้งอาศัยอยู่มาก เมื่อวัวใกล้ตายก็จะถูกนำมาผูกทิ้งไว้ให้ตายเองเพื่อเป็นอาหารแร้ง แต่ยานี้กลับเป็นพิษรุนแรง ทำให้นกแร้งไตวายเฉียบพลัน ตายไปมหาศาลหลายล้านตัวแทบเกือบสูญพันธุ์
คาดการณ์กันว่า ประชากรนกแร้งในภูมิภาคเอเชียใต้หายไปร้อยละ 99 จากเมื่อ 20 ปีก่อน การได้มาเยือนและสนับสนุน 'ภัตตาคารแร้ง' เมืองนาวาลพาราสีจึงเป็นหลักประกันประชากรนกแร้งให้อยู่คู่โลกต่อไป
วันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปเมืองโพคารา (Pokhara) เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศสามารถมองเห็นยอดเขา Dhaulagiri, Manaslu, Machhapuchhre อันสวยงามและยิ่งใหญ่ แต่ด้วยระยะทางจากอุทยานแห่งชาติจิตตะวันเพียง 150 กิโลเมตร กลับต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง เพราะถนนหนทางแคบ รถราและสรรพสัตว์บนถนนมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องขับรถขึ้นลงเขาเกือบตลอดเวลา แต่ระหว่างทางก็ได้ดูเหล่าสรรพชีวิตต่างๆ แบบเพลินๆ ไปด้วย พอมาถึงก็เข้าที่พักด้วยความเหนื่อยอ่อนและเตรียมร่างกายให้พร้อมเดินขึ้นเขาในวันต่อไป
เช้าวันรุ่งขึ้นออกนอกเมืองโพคารา ไปยังจุดเริ่มต้นเดินขึ้นเขาสู่ Australian Camp บนเทือกเขาหิมาลัย โดยใช้เวลาเดินขึ้นเขาประมาณ 2.5 - 3 ชั่วโมง สัมภาระทั้งหมดจะถูกแบกโดยลูกหาบคนท้องถิ่น ระหว่างทางเดินที่เหนื่อยหอบก็หยุดชมวิวและวิถีชนเผ่าพื้นเมืองไปด้วย ซึ่งทางเดินก็จะลัดเลาะทิวเขาและแนวป่าดิบเขาแบบหิมาลัยไปเรื่อยๆ ทำให้ตลอดเวลา 3 ชั่วโมงผ่านไปเร็วมาก ซึ่งมาพร้อมกับอาการเมื่อยกล้ามเนื้อขา
โรงแรมที่พักอยู่บนเขาสูงประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ฝังตัวอยู่ในป่าดิบเขาหรือป่าเมฆ และอยู่ใจกลางจุดอพยพของนกล่าเหยื่อหลายชนิด ค้นพบโดยนักปักษีวิทยาชาวเนปาล เมื่อประมาณปี พ.ศ.2550 เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่นกนับแสนจะอพยพหนีหนาวจากไซบีเรีย มองโกเลีย และจีนในทิศทางตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านทางนี้ลงไปประเทศอินเดียและข้ามมหาสมุทรมุ่งหน้าต่อไปทวีปแอฟริกาในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายนของทุกปี โดยมีนกแร้งดาวเด่น ซึ่งพบเฉพาะบนเขาที่นี่ คือ ‘แร้งเคราหิมาลัย’ เป็นแร้งชนิดเดียวที่กินไขกระดูกเป็นอาหาร
ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลจำนวนนกล่าเหยื่ออพยพ จนเชื่อได้ว่าเป็นจุดอพยพผ่านถาวรและมีความสำคัญระดับโลกทำให้นักดูนกจากทั่วโลกหลั่งไหลมาชมกระแสธารนกล่าเหยื่อหลายชนิดกันทุกปี สำหรับในประเทศไทยเราก็มี ‘เขาดินสอ’ ตำบลบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอซึ่งเป็นจุดอพยพผ่านของนกล่าเหยื่อที่สำคัญระดับโลกเช่นกัน
เช้าต่อมาตื่นมาแต่ยังไม่สว่างเพื่อชมแสงแรกของวันที่ปะทะหิมะบนยอดเขามัจฉาปูชเร (Machhapuchhre) หรือ ยอดเขาหางปลา (Mt. Fishtail) ปรากฏออกมาเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม แปลกตาอย่างใกล้ชิด สวยดั่งสวรรค์ชั้นฟ้ามันเป็นเช่นนี้เอง
จากนั้นพอแดดแรง อากาศอบอุ่นขึ้นทั้งวันยันพระอาทิตย์ตกก็ปักหลักที่หัวเนินใกล้ที่พักเพื่อรอชมนกแร้ง เหยี่ยว อินทรี หลายพันตัวอพยพผ่าน โดยมีตัวช่วยให้นกเหล่านี้แวะบินวน คือกระดูกขาชิ้นโตๆ และเครื่องในควาย ที่ซื้อมาจากตลาดในเมืองโพราคา ถูกวางไว้ในป่าไม่ไกลจากจุดที่นั่งชมนกนั่นเองเพราะเมื่อนกแร้งบินผ่านมา ก็จะสังเกตเห็นและร่อนวนเวียนตัดสินใจว่าจะลงจอดกินอาหารดีหรือไม่ ทำให้ได้ชมนกแร้งหลายชนิดร่อนลงมาจากฟ้าอย่างใกล้ชิดนักท่องเที่ยวอย่างมาก และคิดย้อนกลับไปว่า ประเทศไทยเราก็สามารถทำจุดท่องเที่ยวแบบนี้ได้เช่นกัน ที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงนกอพยพเดือนธันวาคม – มกราคมของทุกปี เพราะถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวโดยเป็นมิตรกับสัตว์ป่าอย่างคุ้มค่า
นกแร้งอพยพได้กินอาหารมีแรงเดินทางไปต่อ คนเที่ยวได้ชมสัตว์ป่าแบบใกล้ชิดเกิดความประทับใจ และกลับมาเที่ยวซ้ำ คนท้องถิ่นมีรายได้จากเป็นไกด์นำเที่ยว บริการที่พักทำอาหาร บริการเครื่องดื่ม รับจ้างแบกของขึ้นเขา ขายของที่ระลึก ฯลฯ ถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแนวใหม่อีกรูปแบบหนึ่ง
หลังจากใช้เวลาอยู่บนเขา 5 วัน ในวันกลับก็จับเครื่องบินกลับกรุงกาฐมาณฑุโดยใช้เวลาบินเพียง 40 นาทีเท่านั้น เพราะถ้านั่งรถกลับ ด้วยระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตรอาจต้องใช้เวลาประมาณ 12 – 14 ชั่วโมง แต่เมื่อมาทางเครื่องบินพลังงานเหลือก็แวะเยี่ยมชม ย่านการค้าทาเมล (Thamal) เพื่อเลือกซื้อของฝากแบบสบายๆ โดยไม่เหนื่อยเดินทาง
ในเช้าวันกลับประเทศไทย ก็ได้แวะ จัตุรัสพระราชวังกาฐมาณฑุ (Kathmandu DurbarSquare) โดยไปเยี่ยมชมวังกุมารี (Kumari Ghar) ซึ่งเป็นที่อาศัยของเด็กหญิงที่ถูกต้องตามลักษณะในศาสนาฮินดู และถูกแต่งตั้งเป็นสมมุติเทพ จากนั้นก็เยี่ยมชมแผ่นหินสูงใหญ่ที่แกะสลักเป็น ‘เจ้าแม่กาลี’ ชายาแห่งพระศิวะ ในปางดุร้ายที่สุด กายสีดำสนิท มี 10 พระกร ถืออาวุธร้ายอยู่ในทุกพระกร ที่ริมฝีปากแดงดั่งเลือด มีหัวกะโหลกเป็นเครื่องประดับ มีงูร้อยคาดองค์ดั่งสังวาล
สุดท้ายไปเยี่ยมชม วัดตาเลจู (TalejuTemple) เทวีที่ปกปักคุ้มครองกษัตริย์ราชวงศ์มัลละมาทุกยุคสมัย เป็นศาสนสถานที่มองเห็นได้จากในระยะไกลเพราะสูงกว่า 30 เมตร ตั้งอยู่บนฐาน 12 ชั้นสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2107 หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย สุดท้ายเดินทางไปสนามบินเพื่อกลับประเทศไทยโดยการบินไทยเช่นเดิม
ตลอด 14 วัน ที่ได้ดื่มดำศิลปะ – วัฒน – ธรรมชาติ ทำให้เห็นว่า ‘เนปาล’ จะเดินหน้าไปสู่อนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยเพราะผู้คน ศาสนา สังคม ธรรมชาติ ได้เกาะเกี่ยวร้อยรัดกันอย่างเหนียวแน่นทำให้ยังมีมนต์ขลังเย้ายวนให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกไปเยือนซ้ำแล้วซ้ำอีก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงยังสามารถไปต่อได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะจุดขายที่โดดเด่นครบเครื่องยากที่จะหาประเทศใดเทียบเคียง
เมื่อโควิดจากไป เราจะได้กล่าว “นมัสเต” กันอีกแน่นอน...