'อว.-กลาโหม'ดันโรดแมพเทคโนโลยีความมั่นคง
อว.เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เอส-เคิร์ฟตัวที่ 11 จับมือ “ กรมวิทย์กลาโหม” จัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยี เน้นใช้วัตถุดิบในปท. พัฒนาโดยคนไทย ตอบโจทย์ใช้ประโยชน์ 2 ทางทั้งทหารตำรวจ และภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์
ดันทดลองใช้ผ่านแซนด์บ็อกซ์
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า สอวช.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (Dual use) เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และการใช้ประโยชน์โดยเน้นความสำคัญของการใช้วัตถุดิบที่มีภายในประเทศ และการพัฒนาโดยคนไทย เพื่อให้เกิดการต่อยอดและขยายผล ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ในการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงฯ เป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สอวช. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) พร้อมทั้งได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และรวบรวมข้อมูลความต้องการใช้งานเทคโนโลยีด้านความมั่นคงของภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจและสังคม
“เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญมาก มีการหารือและผลักดันในระดับนโยบายมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่นวัตกรรมทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะมีเรื่องการรักษาความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เรื่องของงานวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศฯ มีปัจจัยสำคัญ คือ เมื่อมีการผลิตออกมาต้องมีที่นำไปทดลองใช้ หรือเราเรียกว่าแซนด์บ็อกซ์ การดำเนินการแบบจำกัดขอบเขต เพื่อให้เราได้ข้อมูลทั้งด้านความปลอดภัย การใช้งาน การออกกฎระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ได้ข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการต่อไป” นายกิติพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ความมั่นคงของประเทศถูกกำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยมีเป้าหมายสำคัญในเรื่องการสร้างความมั่นคงปลอดภัย พร้อมรับมือภัยพิบัติและภัยคุกคามในทุกรูปแบบ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น เอส-เคิร์ฟ ลำดับที่ 11 โดย กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแลการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use) ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงและภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์
ภาพ ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ
ตัวอย่าง เทคโนโลยีสองทางที่สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในภารกิจด้านความมั่นคง และภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์ จากการวิจัยและพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงฯ สวทช. เช่น ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ เพื่อป้องกันการบินเข้าไปสอดแนมหรือบุกรุกพื้นที่สำคัญ, ผลงาน QFace: Facial recognition access control ระบบการจดจำใบหน้ามนุษย์โดยอัตโนมัติเพื่อการเข้าพื้นที่ควบคุม แบตเตอรี่จากวัสดุกราฟีนให้ความปลอดภัย ไม่ระเบิด วิจัยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบบการกรองอากาศด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้าสถิต ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5, จมูกอิเล็กทรอนิกส์ตรวจวัด จำแนกกลิ่น และ sense-Nose ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะขนาดพกพา
วางเป้าหมายอุตฯความมั่นคงในอนาคต
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กล่าวว่า กรมฯ ได้ตระหนักถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ ให้ความสำคัญกับงานวิจัย และเชื่อว่าขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่การจะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ที่จะผนึกกำลังทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และงานวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์มีความเข้มแข็ง
การจัดทำแผนที่นำทางฯ ที่ร่วมกันคิดในวันนี้ จึงเป็นประโยชน์ที่จะมีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาร่วมกันในอนาคต ในการใช้วัตถุดิบของประเทศ การพัฒนาคน พัฒนาให้เกิดการต่อยอด การขยายผล และพัฒนาสินค้าเพื่อความมั่นคงไปสู่การใช้ในเชิงพาณิชย์ กรมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันเทคโนโลยีโรดแมพ เพื่อที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
ตร.ย้ำประชาชนต้องได้ประโยชน์
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคส่วนตำรวจเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยการพัฒนาขึ้นจากบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่และพบปัญหาในการปฏิบัติงานและคิดว่าเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ พัฒนาเป็นเทคโนโลยีขึ้นมา
“สิ่งสำคัญในการพัฒนาทางเทคโนโลยีคือ ความร่วมมือ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พร้อมมีส่วนร่วมและสนับสนุนในภารกิจเพื่อจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ โดยยึดมั่นว่าทุกสิ่งที่ทำ ประชาชนต้องได้ประโยชน์” พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว