4 เรื่อง 'การเงิน' ที่ควรทำ ก่อนการเงินเข้าขั้นวิกฤติ สไตล์ 'THE MONEY COACH'
ส่องเทคนิคการ 'การบริหารเงิน' ส่วนบุคคล สไตล์ 'THE MONEY COACH' ทั้งการวางแผนเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และต้องเร่งแก้ปัญหาเมื่อก่อนจะเข้าสู่ขั้นวิกฤติ
สถานการณ์วิกฤติ "โควิด-19" ในประเทศไทยและโลก ไม่ได้กระทบแค่เพียงปัญหาสุขภาพ แต่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมไปถึงกระทบเงินในกระเป๋า และความเป็นอยู่ของทุกคนด้วยเช่นกัน
หลากหลายมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือทั้ง "เงินเยียวยา" "สินเชื่อฉุกเฉิน" "มาตรการพักชำระหนี้ และการลดดอกเบี้ย" ต่างๆ อาจไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่นเหมือนในสถานการณ์ปกติ "ตนเอง" จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการ "บริหารจัดการเงิน" ของตัวเองได้ที่ดีสุด
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พูดคุยกับ "หนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์" หรือที่รู้จักกันในฐานะ "THE MONEY COACH (เดอะ มันนี่โค้ช)" ที่กำลังจะมีทอล์คโชว์การเงิน "SCB Presents Money Coach On Stage Special ใดๆ ในโลกล้วน นอร์มัลลล" ที่สามารถชมการถ่ายทอดสดได้ฟรี ผ่านทางเฟซบุ๊ค "Money Coach" เวลา 13.00 น. และ 18.00 น. ในวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2563
ก่อนไปฟังเทคนิคต่างๆ กันแบบเต็มๆ เดอะ มันนี่โค้ชเผย 4 เทคนิคในการจัดการเงินในสภาวะวิกฤติสำหรับบุคคลทั่วไปที่เป็นตัวช่วยให้สามารถผ่านพ้นวิฤติครั้งนี้ไปได้พร้อมๆ กัน
จักรพงษ์ เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ว่า "โดยปกติการบริหารเงินที่ดี จะต้องมีการเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน เผื่อเหลือเผื่อขาดเมื่อเกิดวิกฤติ แต่เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว สำหรับคนที่มีเงินสำรองอยู่จะต้องรีบวางแผนต่อไปอีก ขณะที่คนที่ได้รับผลกระทบและไม่มีเงินสำรองในช่วงที่ผ่านมาเลย จะต้องมาไล่เรียง รายละเอียดเรื่องเงินของตัวเอง เพื่อรับมือกับความที่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหลังจากนี้"
4 เทคนิคในการบริหารเงินฝ่าช่วงวิกฤติ ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเองมีดังนี้
- เทคนิคที่ 1 : วางแผนการเงินล่วงหน้า 6 เดือน อย่างละเอียด
จักรพงษ์ คาดการณ์ว่า "โควิด-19" จะอยู่กับเราข้ามปี การวางแผนการเงินให้ตัวเองล่วงหน้าไปอีก 6 เดือน จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้เห็นการเงินที่จะเกิดขึ้นปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ได้ชัดเจนที่สุด เพื่อให้เห็นว่าข้างหน้าจะเกิดอะไร แล้วมาจัดสรรในปัจจุบัน
"หลายคนอาจจะบอกว่าตอนนี้กำลังเหนื่อย กำลังแย่ จะให้มาคิดแบบนี้ ไม่ต้องคิดหรอก ยังไงมันติดลบอยู่แล้ว เป็นความคิดที่ผิด เพราะต่อให้จะติดลบ เราก็ควรที่จะรู้ว่าเราจะติดลบเท่าไหร่ แล้วเราจะจัดการยังไงได้บ้าง"
เมื่อเรารู้สถานะว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยคิดเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดไว้ก่อน ผ่านวิธีการลิสต์รายการรายรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ไม่มั่ว ไม่ประมาณ
"อย่าคิดเรื่องเงินในหัว หมายความว่าเราจะต้องมาลงกระดาษ หรือลงโปรแกรม Excel ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร"
"ต่อให้จะติดลบ เราก็ควรที่จะรู้ว่าเราจะติดลบเท่าไหร่ แล้วเราจะจัดการยังไงได้บ้าง"
- เทคนิคที่ 2 : จัดการรายจ่าย และหนี้สินของตัวเอง
เมื่อเราเห็นสถานะทางการเงินตัวเองอย่างชัดเจน ณ เวลาปัจจุบัน และอีก 6 เดือนข้างหน้าแล้ว จะต้องจัดการรายรับรายจ่ายเหล่านี้ให้สอดคล้องกันมากที่สุด
สำหรับผู้ที่มีหนี้สิน จักรพงษ์แนะนำว่า "ถ้าอาการหนัก คุยแบบขอหยุดพักชำระ ที่ไม่ใช่มาตราการขั้นต่ำ เราสามารถเจรจาขอเป็นสิทธิพิเศษได้ เพราะฉะนั้น ควรเจรจาอย่างจริงจัง สื่อสารตรงๆ ว่าจ่ายไม่ได้ เพราะจะได้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์มากกว่า"
เดอะ มันนี่โค้ช เผยสเต็ปการเจรจาหนี้ได้ตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
- เทคนิคที่ 3 : เพิ่มโอกาสรอดด้วยการเพิ่มรายรับ
จักรพงษ์กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมการการเงินคือ "รายรับ - ค่าใช้จ่าย = เงินคงเหลือ" เพราะฉะนั้น ถ้ามองไปข้างหน้า 6 เดือน แล้วไม่มีเงินคงเหลือ แปลว่า "รายได้ไม่พอ" สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ ลดเงินเดือน ออกจากงาน จะต้องพยายามสร้างรายได้เพิ่ม แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากมองในมุมเดียวว่าเราเป็นคนโชคร้ายในวิกฤติครั้งนี้ หรือดราม่ากับชีวิตมากไป ปัญหาจะไม่ถูกแก้
จักรพงษ์ แนะนำว่า ลองใช้โซเชียลมีเดียประกาศหางาน หรือโชว์ทักษะบางอย่างเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง แทนที่จะตัดพ้อสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ลองเหลือบมองทักษะตัวเอง เราอาจจะเคยใช้ทักษะหนึ่งมาตลอดแล้วตกงาน ใช่ว่าเราจะได้แค่นั้น เราเคยฝึกอะไรมา มีงานอดิเรก เคยลองทำสมัยเรียน หรือมีเครือข่ายธุรกิจจากคนรู้จักที่สามารถเพิ่มรายได้ในตอนนี้ ที่สามารถใช้ต้นทุนในการเริ่มต้นต่ำได้
"พอเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ อย่าคาดหวังถึงผลลัพธ์ว่ามันจะได้เงินกลับมาครอบคลุมเท่าเดิม ทุกอย่างต้องใช้เวลา ถ้าเราไม่มองแต่เงิน เวลามันจะผ่านเยอะ และไม่ได้เริ่มต้นอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม แม้มันจะเหนื่อยหน่อยแต่ได้เริ่มต้น มันก็จะค่อยๆ ช่วยทดแทนไปได้"
ถ้ามองว่าเราเป็นคนโชคร้าย หรือดราม่ากับชีวิตมากไป ปัญหาจะไม่ถูกแก้
- เทคนิคที่ 4 : ควบคุมการเงิน ในระยะยาว
"สำหรับใครที่ไม่ได้เดือดร้อนมากจากสถานการณ์นี้ อยากให้มองเรื่องของการรักษาหน้าที่การงาน รวมไปถึงการสร้างภาระระยะยาว"
จักรพงษ์ อธิบายว่า สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบทางการเงินโดยตรงในช่วงนี้ แต่ไม่ควรประมาท ก่อนจะสร้างภาระหนี้ ในระยะยาวจะต้องทบทวนก่อนว่า "แหล่งรายได้" ของเรามั่นคงจริงหรือเปล่า ในระยะยาวมันจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า ตอนนี้อาจจะจ่ายไหว แต่ปลายปีมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายไม่ไหวเพิ่มเข้ามา อาจจะทำให้ตึงมือ หรือไม่พอจ่ายหรือไม่
ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่เราจะอยู่ด้วยรายได้ทางเดียวอีกต่อไปแล้ว
ขณะเดียวกัน สำหรับคนที่การเงินยังดี การงานมั่นคง เองก็ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากเรากำลังเข้าสู่โลกที่มีแหล่งรายได้เดียวไม่เพียงพออีกต่อไป
ในอดีตเรามักจะนึกถึงการทำงานตลอดชีวิต พูดถึงบำนาญมากมายหลังอายุ 60 ซึ่งปัจจุบัน เงินบำนาญเหล่านี้เริ่มถดถอยและลดลงเรื่อยๆ รวมถึงโลกการเงินที่ผันผวนมาก และเชื่อมโยงกันหมด กระทบถึงกันได้หมดเมื่อเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น
ความแน่นอนทางการเงินในโลกยุคใหม่คือความไม่แน่นอน เราต้องอยู่และบริหารความไม่แน่นอนให้ได้
"รายได้ทางที่ 2 และ 3 มันอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือก แต่เป็นทางรอดไปแล้ว อาจจะมีรายได้หลักสักทาง และมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งที่พัฒนาขึ้นไป วันหนึ่งอาจจะพัฒนาขั้นมาทดแทนรายรับที่เป็นรายได้หลักของคุณ หรือทำควบคู่กันไปเพื่อ เสริมความมั่งคั่งให้ไปได้เร็วขึ้น และป้องกันความเสี่ยงให้กับชีวิตตัวเอง เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่เราจะอยู่ด้วยรายได้ทางเดียวอีกต่อไปแล้ว" โค้ชหนุ่มกล่าวปิดท้าย!