จี้นำคดี 'บอส อยู่วิทยา' ขึ้นสู่ศาล เรียกความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย 

จี้นำคดี 'บอส อยู่วิทยา' ขึ้นสู่ศาล เรียกความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย 

“นักวิชาการกฎหมาย เสวนา คดี บอส อยู่วิทยา จี้ นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย เสนอเอาผิด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ที่ยังไม่ขาดอายุความ - เปิดกล้องวงจรปิด นั่งถกคำนวนความเร็วรถร่วมกัน

ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา ‘คดี(กระทิงแดง)ชนตำรวจ นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นายสุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด  นายปริญญา เทวานฤมิตรกูล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และ นายรณกรณ์ บุญมี รองคณบดีนวัตกรรมและพัฒนาและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และการเสวนาแบ่งเป็น 3 ส่วน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีของ บอส อยู่วิทยา เรื่องโครงสร้างของคดี  ข้อสังเกตโดยตรงในคดี และ วิธีแก้ไขและตอบคำถามถึงคดีนี้


นายสุรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา มองถึงการสั่งฟ้อง หรือ ไม่ฟ้องในคดีนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าหากสั่งไม่ฟ้องจะต้องมีเหตุผลในการสั่งด้วย เช่น พยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่  พยานหลักฐานได้มาด้วยความชอบธรรมหรือไม่ และ เหตุผลเรื่องดุลยพินิจ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนเพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ในขณะนี้จะต้องย้อนกลับไปดูว่ากระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือหรือไม่ การดำเนินการ่างๆรอบคอบและทำตามระบบ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมองว่า พยานสำคัญ2คนนั้นไม่ใช่ที่มาการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

ด้านนายปริญญา รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า คดีนี้มีสร้างความสงสัยต่อนักกฎหมายค่อยข้างมาก ทั้ง การสั่งไม่ฟ้องของอัยการ และ ตำรวจไม่ค้าน อีกทั้งยังมีเรื่องพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฎขึ้นเมื่อปี 2562 แล้วน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดจึงทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยมีข้อเรียกร้องให้อัยการสูงสุดทบทวนว่าการสั่งไม่ฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติคัดค้านการไม่ฟ้องของอัยการซึ่งสามารถแก้ไขได้ และมองว่าควรเชิญทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน เพราะวิทยาศาสตร์สามารถหาทางออกได้

ดังนั้นหากมองหาหลักฐานใหม่ที่จะนำมาเปิดเผยคงไม่ยาก นั่นคือการ เปิดกล้องวงจรปิดขณะนั้นที่ใช้ในการวัดความเร็วและนำมาวัดกันใหม่ และการเชิญบริษัทรถเฟอรารี่มาถามถึงความเร็วของรถที่จะสามารถทำให้รถบุบได้รวมถึงมองว่า โคเคนที่แพทย์รามายืนยันว่ามีในร่างกายบอสจริง นั้นจะเป็นหลักฐานใหม่ได้ เพราะถ้าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดนั้น คดีนี้จะยังไม่ขาดอายุความ และขอตั้งข้อสังเกตุไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยว่า การไม่ตั้งข้อสารจากการตรวจพบสารเสพติดเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ทั้งนี้ยืนยันว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการพิพากษาบอส หรือต้องการเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการปกป้องประเทศไทย ต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์น่าเชื่อถืออยู่ และเรียกร้องด้วยว่า ขออย่าเพิ่งเพิกถอนหมายจับ บอส เพราะ กระบวนการยุติธรรมยังมีความสงสัยอยู่ และ ต้องการให้คดีนี้ไปถึงศาลยุติธรรมให้ได้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ


ขณะที่นายอรรถพล อดีตอัยการสูงสุด ระบุว่า การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น รองอัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสามารถสั่งได้ และเป็นการทำถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรายงานให้อัยการสูงสุดรับทราบ แต่จะต้องทำรายงานส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยในทางคดี

ส่วนอัยการจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องนั้น จะเชื่อหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่หากมีความเห็นทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่ตรงกัน ก็จะต้องไปดูที่พยานบุคคล ทั้งนี้กรณีของบอส ก็ได้มีการตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ดังนั้นหากมองว่าจะเป็นการสั่งฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการก่อน เพราะจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้สั่งคดีด้วย รวมถึงจะต้องดูว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยละเอียดรอบคอบ และเป็นดุลยพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายข้อสงสัยของสังคมได้


ส่วนกรณีที่ว่า ถ้าไม่มีพยานหลักฐานใหม่จะหยิบยกมาฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น คำตอบคือ จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น ซึ่งพยานหลักฐานเดิมแต่มีประเด็นใหม่ก็ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ และ แม้คดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว ก็อย่าพึ่งคิดว่าจบแล้ว หากมีพยานหลักฐานใหม่


ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่าควรปรับโครงสร้างอัยการให้อยู่ในระบบนั้น ขอยืนยันว่าระบบเดิมนี้ดีอยู่แล้วหากใครต้องการมาเปลี่ยนจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะทำให้องค์กรอัยการจะดีขึ้นกว่าเดิมที่เป็นอยู่