วินาทีปะทะ! เฟอร์รารีวิ่งเร็วกว่ามอเตอร์ไซค์เท่าไหร่?

วินาทีปะทะ! เฟอร์รารีวิ่งเร็วกว่ามอเตอร์ไซค์เท่าไหร่?

ดร.สามารถ ชี้ เฟอร์รารีวิ่งเร็วกว่ามอเตอร์ไซค์ถึง 2.1 เท่า ทำให้มอเตอร์ไซค์ถูกแรงกระแทกกระเด็นไปไกลถึงเกือบ 200 เมตร

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte การคำนวนหาความเร็วของเฟอร์รารี หลังมี อาจารย์ออกมาคำนวนแล้วกลับมีผลออกมาไม่ตรงกัน โดยเนื้อหาระบุว่า...

ถ้าต้องการรู้ว่าขณะที่เฟอร์รารีชนกับมอเตอร์ไซค์ ความเร็วของเฟอร์รารีมากกว่าความเร็วของมอเตอร์ไซค์เท่าไหร่ จึงทำให้มอเตอร์ไซค์ถูกแรงกระแทกกระเด็นไปไกลถึงเกือบ 200 เมตร จะต้องอ่านบทความนี้

ผู้สนใจเรื่องนี้คงทราบแล้วว่า ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้คำนวณความเร็วของเฟอร์รารีขณะเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้สูตรเดียวกันคือ

ความเร็ว = ระยะทาง/ระยะเวลา

แต่ทั้ง 2 ท่าน ได้ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน กล่าวคือ ดร.สธน คำนวณความเร็วของรถเฟอร์รารีได้ 177 กม./ชม. ในขณะที่ รศ.ดร.สายประสิทธิ์คำนวณได้ 76 กม./ชม. ซึ่งต่างกันมาก ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูว่าของใครถูก ของใครผิด นอกจากการคำนวณความเร็วของเฟอร์รารีแล้ว รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ยังได้คำนวณความเร็วของมอเตอร์ไซค์ด้วย พบว่าได้ความเร็ว 30 กม./ชม. แต่ไม่มีข้อมูลว่า ดร.สธน ได้คำนวณความเร็วของมอเตอร์ไซค์ไว้ด้วยหรือไม่

หลังจากผมได้เขียนบทความเรื่อง “เฟอร์รารีคันนั้นวิ่งแค่ 76 กม./ชม. จริงหรือ?” ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่ามีเสียงเรียกร้องขอให้ผมคำนวณหาความเร็วของเฟอร์รารีและมอเตอร์ไซค์ในขณะชนกัน ให้รู้กันชัดๆ ไปเลยว่าเฟอร์รารีใช้ความเร็วมากกว่ามอเตอร์ไซค์เท่าไหร่ จึงสามารถทำให้มอเตอร์ไซค์กระเด็นไปไกลถึงเกือบ 200 เมตร

ผมได้ให้ทีมงานดูวิดีโออย่างละเอียด พบว่ากล้องวงจรปิดมีค่าความเร็วในการบันทึกภาพ (Frame Per Second หรือ FPS) เท่ากับ 25 เฟรม/วินาที ขอให้จำค่าจำนวนเฟรมใน 1 วินาทีนี้ไว้ให้ดี เพราะจะต้องใช้ในการคำนวณหาระยะเวลา เพื่อใช้ในการคำนวณหาความเร็วต่อไป ผมได้คำนวณหาความเร็วของเฟอร์รารีและมอเตอร์ไซค์ได้ผลดังนี้

1. ความเร็วของเฟอร์รารี
1.1 วิธีที่ 1 
1.1.1 หาระยะทาง
ผมหาระยะทางโดยเริ่มวัดตั้งแต่จุดที่มุมซ้ายหน้าของเฟอร์รารีวิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ ไปจนถึงจุดที่มุมซ้ายหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิง ได้ระยะทาง 4.91 เมตร นั่นคือความยาวของเฟอร์รารีนั่นเอง
1.1.2 หาระยะเวลา
ผมนับจำนวนเฟรมโดยเริ่มตั้งแต่จุดที่มุมซ้ายหน้าของเฟอร์รารีวิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ ไปจนถึงจุดที่มุมซ้ายหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิงได้ 3.5 เฟรม แล้วเปลี่ยนจำนวนเฟรมเป็นระยะเวลา ซึ่งได้เท่ากับ 0.14 วินาที (ระยะเวลา = จำนวนเฟรมที่นับได้/จำนวนเฟรมใน 1 วินาที หรือ 3.5/25 = 0.14 วินาที)
1.1.3 หาความเร็ว
ความเร็ว = ระยะทาง/ระยะเวลา หรือ 4.91/0.14 = 35.07 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 126.25 กม./ชม.

1.2 วิธีที่ 2
1.2.1 หาระยะทาง
ผมหาระยะทางโดยเริ่มวัดตั้งแต่จุดที่มุมขวาหน้าของเฟอร์รารีวิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ ไปจนถึงจุดที่มุมซ้ายหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิง ได้ระยะทาง 8.42 เมตร
1.2.2 หาระยะเวลา
ผมนับจำนวนเฟรมโดยเริ่มตั้งแต่จุดที่มุมขวาหน้าของเฟอร์รารีวิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ ไปจนถึงจุดที่มุมซ้ายหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิงได้ 6 เฟรม แล้วเปลี่ยนจำนวนเฟรมเป็นระยะเวลา ซึ่งได้เท่ากับ 0.24 วินาที (ระยะเวลา = จำนวนเฟรมที่นับได้/จำนวนเฟรมใน 1 วินาที หรือ 6/25 = 0.24 วินาที)
1.2.3 หาความเร็ว
ความเร็ว = ระยะทาง/ระยะเวลา หรือ 8.42/0.24 = 35.08 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 126.29 กม./ชม. ซึ่งถือว่าได้ใกล้เคียงกับวิธีแรกมาก จึงสรุปได้ว่าความเร็วของเฟอร์รารีที่ผมคำนวณได้เท่ากับ 126 กม./ชม.

2. ความเร็วของมอเตอร์ไซค์
2.1 หาระยะทาง
ผมหาระยะทางโดยเริ่มวัดตั้งแต่จุดที่ล้อหน้าของมอเตอร์ไซค์วิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ ไปจนถึงจุดที่ล้อหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิง ได้ระยะทาง 1.83 เมตร นั่นคือความยาวของมอเตอร์ไซค์นั่นเอง
2.2 หาระยะเวลา
ผมนับจำนวนเฟรมโดยเริ่มตั้งแต่จุดที่ล้อหน้าของมอเตอร์ไซค์วิ่งแตะเส้นอ้างอิงคือต้นไม้ ไปจนถึงจุดที่ล้อหลังวิ่งผ่านเส้นอ้างอิงได้ 4 เฟรม แล้วเปลี่ยนจำนวนเฟรมเป็นระยะเวลา ซึ่งได้เท่ากับ 0.16 วินาที (ระยะเวลา = จำนวนเฟรมที่นับได้/จำนวนเฟรมใน 1 วินาที หรือ 4/25 = 0.16 วินาที)
2.3 หาความเร็ว
ความเร็ว = ระยะทาง/ระยะเวลา หรือ 1.83/0.16 = 11.44 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 41.18 กม./ชม.

3. ข้อเปรียบเทียบ
3.1 ความเร็วของเฟอร์รารีที่ผมคำนวณได้เท่ากับ 126 กม./ชม. สูงกว่าความเร็วที่ รศ.ดร.สายประสิทธิ์คำนวณได้ซึ่งมีค่า 76 กม./ชม. แต่ต่ำกว่าความเร็วที่ ดร.สธนคำนวณได้ซึ่งมีค่า 177 กม./ชม.

3.2 ความเร็วของมอเตอร์ไซค์ที่ผมคำนวณได้เท่ากับ 41 กม./ชม. สูงกว่าความเร็วที่ รศ.ดร.สายประสิทธิ์คำนวณได้ซึ่งมีค่า 30 กม./ชม.

4. สรุป
4.1 จากการคำนวณของผมพบว่าในขณะเกิดอุบัติเหตุเฟอร์รารีวิ่งด้วยความเร็ว 126 กม./ชม. ส่วนมอเตอร์ไซค์วิ่งด้วยความเร็ว 41 กม./ชม. นั่นคือเฟอร์รารีวิ่งเร็วกว่ามอเตอร์ไซค์ถึง 85 กม./ชม. หรือเร็วกว่าถึง 2.1 เท่า

4.2 ความเร็วของเฟอร์รารีที่ผมคำนวณได้มีค่ามากกว่าของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ถึง 50 กม./ชม. (126-76) แม้ว่าใช้วิธีเดียวกันคือวิธีที่ 2 ดังกล่าวในข้อ 1.2 ทั้งนี้เป็นเพราะ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ใช้ระยะทางสั้นกว่าของผม ในขณะที่ใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกัน กล่าวคือ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ใช้ระยะทางเท่ากับ 5.281 เมตร ซึ่งเป็นความยาวตามเส้นทแยงมุมของรถ แต่ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้สนใจหลายท่านว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากรถไม่ได้วิ่งในแนวเส้นทแยงแต่วิ่งในแนวเส้นตรง ในขณะที่ผมใช้ระยะทางจากการคำนวณตามแนวเส้นตรงได้ 8.42 เมตร ในส่วนของระยะเวลานั้น รศ.ดร.สายประสิทธิ์ใช้ 0.25 วินาที ผมใช้ 0.24 วินาที เป็นผลให้ รศ.ดร.สายประสิทธิ์คำนวณความเร็วได้เท่ากับ 5.281/0.25 = 21.12 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 76 กม./ชม. ในขณะที่ผมคำนวณความเร็วได้เท่ากับ 8.42/0.24 = 35.08 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 126 กม./ชม.

4.3 ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเองว่าจะเชื่อผลการคำนวณของใคร ทั้งหมดนี้ ผมต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของเรื่องนี้รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป โดยไม่มีเจตนาที่จะดิสเครดิตผู้ใดทั้งสิ้น