KKPเข้มสินเชื่อไร้หลักประกัน

KKPเข้มสินเชื่อไร้หลักประกัน

“เกียรตินาคิน” ส่งซิกลดปล่อยกู้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน หวังคุมความเสี่ยง หลังเศรษฐกิจชะลอหนักจากพิษโควิด พร้อมสั่งคุมเข้มการปล่อยกู้ ย้ำไม่ลงไปแข่งด้านราคา เหตุไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP กล่าวว่า ภายใต้ความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และจากผลกระทบจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ จะเห็นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันลดลง และหันไปสู่สินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เพราะสินเชื่อที่มีหลักประกัน จะทำให้ธนาคารสามารถดูแลความเสี่ยงได้ดีกว่า หากเทียกกับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคงไม่เลิกปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกันไปเลย  แต่จะปรับโฟกัสไปสู่สินเชื่ออื่นๆ ที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้พอร์ตสินเชื่อไม่มีหลักประกันลดลงโดยอัตโนมัติ ดังนั้นธนาคารไม่จำเป็นต้องหยุดการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว

ปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อที่มีหลักประกันบางส่วนในพอร์ตราว 2-3% ของสินเชื่อรวม หรือราว 6-7 พันล้านบาท เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เข้าสู่การพักชำระหนี้ ดังนั้นสินเชื่อก็ยังไม่ได้ลดลงในระยะอันใกล้นี้

“เราไม่ได้หยุดปล่อยกู้ไม่มีหลักประกัน หรือตัดออกจากพอร์ตไปเลยทีเดียว เพราะในพอร์ต เรามีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ราว 2-3% ในพอร์ตที่บางส่วน เข้าโครงการช่วยเหลือของธนาคาร เข้าสู่การพักหนี้ ดังนั้นสินเชื่อก็ยังคงเดิม แต่อนาคต เมื่อเรามุ่งไปสู่สินเชื่ออื่นๆมากขึ้น สัดส่วนสินเชื่อไม่มีหลักประกันก็จะค่อยๆลดลงของมันเองในที่สุด”

อย่างไรก็ตาม แม้กลยุทธ์ของธนาคาร จะมุ่งไปสู่สินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง และมีผลกระทบมากขึ้นจากโควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องมีการพิจารณาเครดิตผู้กู้อย่างระมัดระวัง และรัดกุม และมีวิธีการพิจารณาที่แม่นยำมากขึ้น เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น แล้วเกิดการยึดหลักประกัน ในภาวะที่สินทรัพย์ที่ยึดมาล้นตลาด การขายสินทรัพย์ทอดตลาด เวลามูลค่าหลักประกันลด ก็คงไม่คุ้ม ดังนั้นการพิจารณาให้สินเชื่อเครดิตต้องมาก่อนอันดับแรก

       

การพิจารณาให้สินเชื่อจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นตั้งแต่ต้น โดยพิจารณาคนที่มีความสามารถมากขึ้น เช่นผู้มีรายได้ประจำ ขณะที่ผู้กู้ที่มีรายได้อิสระเหล่านี้ เกณฑ์การพิจารณาอาจต้องมีกระบวนการพิจารณา อย่างรัดกุมมากขึ้น เช่น การดูไปถึงรายได้ผู้กู้ โดยเฉพาะหากอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง แบงก์ก็อาจต้องพิจารณาลดการปล่อยสินเชื่อหากเทียบกับหลักประกันลดลงมากขึ้น เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา ธนาคารปรับกลยุทธ์ไปบางสินเชื่อให้มีผลตอบแทน และได้ลูกค้าที่มีเครดิตดีมากขึ้น เช่นสินเชื่อรถยนต์ ที่เริ่มเข้าไปปล่อยสินเชื่อในรถที่มีแบรนด์ ในตลาด ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีลูกค้าที่ดีเข้ามาเพิ่มได้

ส่วนการพิจารณาด้านการลดดอกเบี้ย เพื่อแข่งขันในการแย่งลูกค้านั้น ไม่ใช่กลยุทธ์ของธนาคาร และเชื่อว่า จังหวะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่ แต่ละแบงก์จะลงมาแข่งด้านดอกเบี้ย เพื่อให้ได้สินเชื่อ หรือลูกค้าเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการกำหนดดอกเบี้ยของธนาคาร จะพิจารณาตามความเหมาะสม และดูทิศทางให้อิงกับดอกเบี้ยตลาด เพราะหากดอกเบี้ยสูงไป ลูกค้าก็อาจไม่เข้ามาขอกู้อยู่ดี หรือหากต่ำไป ก็อาจกระทบต่อต้นทุนของธนาคารได้