วัดพลังกรรมการอัยการ เอาผิด 'มือสั่งคดีบอส' ?

วัดพลังกรรมการอัยการ เอาผิด 'มือสั่งคดีบอส' ?

ผ่านมา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่ข่าวการถอนหมายจับ “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ถูกเปิดเผย จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งกรรมการที่ตรวจสอบองค์กรตนเอง ตำรวจ และอัยการ รวมถึงกรรมการกลาง

โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งผลสรุปชุดแรกของทีมอัยการที่ออกมา และแนวโน้มข้อสรุปของชุดของตำรวจ ดูเหมือนโอกาสหาคนผิดมาสอบสวนลงโทษจะเลือนราง 

เพราะท่าทีคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 2 คณะ ต่างก็ปกป้ององค์กรตัวเอง โดยยืนยันว่าปฏิบัติตามกระบวนการอย่างถูกต้อง แม้จะหาทางออกด้วยการเตรียมแจ้งข้อหาใหม่ และแจ้งข้อหาเพิ่มกับนายบอส จากนั้นก็น่าจะปิดฉากเรื่องนี้ลง

ในส่วนของตำรวจ ปรากฏว่า พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น จากกองพิสูจน์หลักฐาน ที่เคยกลับคำให้การเรื่องความเร็วรถเฟอร์รารี จาก 177 เหลือไม่ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จน “บอสรอดทุกข้อหา” ล่าสุดได้กลับลำอีกรอบ อ้างว่าการกลับคำให้การครั้งก่อนสับสน คราวนี้ขอยืนยันความเร็วรถ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเหมือนเดิม

ประเด็นนี้ ทำให้สังคมมองว่า ตำรวจกำลังรับลูกอัยการ ที่มีข้อสรุปว่าเรื่อง “ความเร็วรถ” เป็นหลักฐานใหม่ หลังจากนี้ก็จะแจ้งข้อหาใหม่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว ก็คือ ข้อหาเดิมแต่จะใส่หลักฐานเข้าไปใหม่ ส่งไปให้อัยการฟ้อง และแจ้งข้อหาเพิ่มเรื่องเสพโคเคน แล้วก็จบเรื่องแบบไม่มีใครผิด ส่วนนายบอสก็สามารถหนีต่อไปได้ถึงปี 2570 จนขาดอายุความ

สิ่งที่สังคมกำลังคาใจ คือกระบวนการทั้งหมดนี้ จะไม่มีใครผิดกระนั้นหรือ ทั้งที่ “ข้อเท็จจริง” ที่นำมาสู่การสั่งคดีใหม่ ในแบบ “กลับคำสั่ง” จากฟ้องเป็นไม่ฟ้อง เต็มไปด้วยพิรุธ น่าสงสัยว่าจะมีการกระทำกันเป็นขบวนการหรือไม่ แต่คณะกรรมการ 7 อรหันต์ของอัยการ กลับสรุปเฉพาะประเด็น “กระบวนการ-ขั้นตอน” ว่าชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิหนำซ้ำหนึ่งในคณะทำงานฯ ยังย้อนถามนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยว่า “ไม่โอเคตรงไหน”

ข้อสงสัยหลายอย่าง แม้แต่ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อรรถพล ใหญ่สว่าง ก็อดรนทนไม่ไหว จึงได้ทำบันทึกข้อความถึงอัยการสูงสุด วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากฝั่งนายบอส จนนำไปสู่การสั่งสอบเพิ่ม และ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องทุุกข้อหานั้น เป็นการกระทำที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ล่าสุดอดีตอัยการสูงสุด ที่ได้รับการยอมรับในวงการอย่างมาก คือ คณิต ณ นคร ก็ออกมายืนยันว่าคดีนี้ “อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไปแล้ว” การจะสั่งสอบสวนเพิ่ม หรือกลับคำสั่ง ต้องเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเท่านั้น

จากประเด็นของประธาน ก.อ.อรรถพล และอดีตอัยการสูงสุดอย่าง ดร.คณิต ทำให้มีข้อสังเกตต่อเนื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปเพื่อความชัดเจนก็คือ

  1. สรุปแล้วคำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข เป็นโมฆะใช่หรือไม่
  2. นายเนตร นาคสุข ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนด้วยหรือไม่
  3. ฝ่ายตำรวจที่รับคำสั่งจากนายเนตร นาคสุข และสอบสวนเพิ่มเติม กระทั่งสรุปเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่ส่งกลับไป ต้องรับผิดชอบอย่างไร
  4. พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งไม่ได้ทำความเห็นแย้งในคดีนี้ จนทำให้ “บอสรอดทุกข้อหา” ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างหรือไม่

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตำรวจก็คือ การไม่ทำความเห็นแย้งของผู้ช่วย ผบ.ตร. มีปัญหาว่าถูกต้องเหมาะสมตามหลักการหรือไม่ เนื่องจากสำนวนคดีนี้เป็นสำนวนที่ตำรวจมีความเห็น “สมควรสั่งฟ้อง” แม้ต่อมาจะมีการสั่งสอบเพิ่มจากฝ่ายอัยการก็ตาม แต่ฝ่ายตำรวจก็ควรท้วงติง และสุดท้ายก็ต้องทำความเห็นแย้งด้วยหรือไม่ เนื่องจากขัดกับสำนวนเดิมของตนอย่างชัดแจ้ง

ที่สำคัญมีหลักฐานล่าสุดเป็นเอกสารเมื่อปี 2561 จากอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ตอบกลับไปยังคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน) ที่รับเรื่องขอความเป็นธรรมจากฝั่งนายบอส ยืนยันว่า คดีนี้อัยการสูงสุดสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว เพราะพยานหลักฐานใหม่ที่อ้าง โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์ความเร็วรถจาก ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เป็นหลักฐานที่เคยใช้ยื่นขอความเป็นธรรมมาก่อนหน้านั้น ซึ่งได้พิจารณาไปหมดแล้ว และสั่งยุติเรื่องไปแล้วโดยอัยการสูงสุด

เรื่องนี้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมได้ไม่จบสิ้น ก็จะทำให้ผู้ต้องหาที่มีอำนาจเงินและบารมี สามารถใช้กลไกต่างๆ ในการร้องขอความเป็นธรรมได้ตลอดเวลา ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงอาจต้องการเตะถ่วงคดีให้ขาดอายุความก็เป็นได้ โดยไม่ได้ต้องการร้องขอความเป็นธรรมจริงๆ อีกทั้งพยานหลักฐานต่างๆ ในฝ่ายผู้ต้องหา หากคิดว่ามีน้ำหนักมากพอ ก็สามารถนำไปใช้ต่อสู้ในศาลได้อีกถึง 3 ศาล

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ อัยการสูงสุดคนที่สั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของนายบอส คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการการกฎหมายฯ สนช.ชุดที่รับพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากฝั่งนายบอสด้วย ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สมควรต้องรู้ว่า ไม่สามารถรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากนายบอสได้อีก

             ทั้งหมดนี้จะทำให้สังคมคิดได้หรือไม่ว่า มีการดำเนินการให้บอสรอดทุกข้อหา “อย่างเป็นกระบวนการ” โดยมีตัวละครที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

- กรรมาธิการการกฎหมายฯ สนช. บางส่วน รับเรื่องขอความเป็นธรรม ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องรับ

- นายเนตร นาคสุข รับพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรม ทั้งที่อัยการสูงสุดสั่งยุติเรื่องไปแล้ว

- นายเนตร นาคสุข สั่งตำรวจสอบสวนเพิ่ม ทั้งที่ไม่มีอำนาจ เพราะอัยการสูงสุดยังไม่ได้สั่ง

- ฝ่ายตำรวจสอบสวนเพิ่มจากคำสั่งที่ไม่มีอำนาจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

- นายเนตร นาคสุข มีคำสั่งไม่ฟ้องบอสทุกข้อหา ทั้งที่ไม่มีผลลบล้างคำสั่งฟ้องเดิม

- พล.ต.ท.เพิ่มพูน ไม่ทำความเห็นแย้ง ทั้งที่ขัดกับสำนวนการสอบสวนเดิมที่ตำรวจทำไว้เอง

คำถามที่ต้องถามกันต่อก็คือ เมื่อระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนท่าทีของผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงอัยการชัดขนาดนี้ เหตุใดจึงยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากอัยการสูงสุด เช่น ออกคำสั่งสอบสวนการใช้ดุลยพินิจของ นายเนตร นาคสุข เพราะถึงขณะนี้ทุกอย่างยังนิ่ง

      งานนี้ “กูรูในแวดวงกฎหมาย” ชี้ว่า อาจต้องไปรอลุ้นกันในการประชุมคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.)วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ว่า ก.อ.จะมีมติให้ตั้งกรรมการสอบวินัย นายเนตร นาคสุข หรือไม่ หรือจะต้องย้อนไปตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อนว่า “ใช้ดุลยพินิจ” สั่งคดีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือจะปล่อยให้เรื่องจบไปแบบค้างคาแบบนี้ เพราะคณะกรรมการ 7 อรหันต์ของอัยการ ก็สรุปแล้วว่า นายเนตร สั่งคดี และกลับคำสั่งคดีจาก “ฟ้อง” เป็น “ไม่ฟ้อง” โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน

       ดังนั้น จึงต้องไปดูโครงสร้าง ก.อ. ซึ่งมีอยู่ 15 คน ว่าเสียงส่วนใหญ่จะไปทางไหน หรือจะมีการ วัดพลังกันหรือไม่ ระหว่างฝั่งประธาน ก.อ. กับฝั่งอัยการสูงสุด

             ไล่ดูโครงสร้าง ก.อ. พบว่า มีประธาน ก.อ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของพนักงานอัยการทั่วประเทศ เป็นประธาน ซึ่งก็คือ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง มีอัยการสูงสุด เป็นรองประธาน ก.อ.โดยตำแหน่ง นอกจากนั้นก็มี ก.อ.โดยตำแหน่งอีก 5 คน เป็นรองอัยการสูงสุดอันดับ 1-5 เรียงลำดับอาวุโส ซึ่งนายเนตร นาคสุข ก็เป็น ก.อ.โดยตำแหน่งอยู่ด้วย

          ที่เหลืออีก 8 คนเป็น ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากการเลือกตั้งของพนักงานอัยการ เป็นอัยการในราชการ 4 คน อัยการบำนาญ 2 คน และคนนอกที่ไม่เคยเป็นอัยการ 2 คน

          ประเด็นที่ต้องลุ้นกันก็คือ ในโครงสร้าง ก.อ.15 คนนี้ มีอยู่ 4 คนที่ไปทำหน้าที่เป็นคณะทำงาน 7 อรหันต์ ที่สรุปว่านายเนตร สั่งคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย สมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และนายปรเมศว์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี

           นอกจากนั้นยังมีตัวนายเนตรเองที่เป็น ก.อ. และมีอัยการสูงสุด ซึ่งนิ่งเงียบมาตลอดกับเรื่องที่เกิดขึ้น เป็น ก.อ.โดยตำแหน่งด้วยอีกคนหนึ่ง

            จะเห็นได้ว่า ฝั่งที่ไม่ได้มองว่านายเนตรมีความผิด หรือสั่งคดีโดยมิชอบ ถ้ารวมอัยการสูงสุดด้วย ก็จะมีอยู่ 6 เสียงแล้ว จากทั้งหมด 15 เสียง ฉะนั้นหาอีก 2 เสียงก็จะเป็นเสียงข้างมาก

            เมื่อลองบวกลบคูณหารดูแล้วก็จะเห็นว่า การดำเนินกระบวนการไปสู่การหาตัวคนผิดในฝั่งอัยการ ไม่ใช่เรื่องง่าย !