KKP ลุ้นธปท.ไฟเขียวปันผลงวดปี 63 ยันกำไรสะสมปึ้ก 4.4 หมื่นล้าน

KKP ลุ้นธปท.ไฟเขียวปันผลงวดปี 63 ยันกำไรสะสมปึ้ก 4.4 หมื่นล้าน

KKP ชี้มีศักยภาพจ่ายปันผลปี 2563 แต่รอดูนโยบายธปท. ย้ำต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะอีกด้าน ธนาคารจำเป็นต้องเก็บกระสุน เพื่อสำรองเพิ่ม รองรับหนี้เสีย จากความเสี่ยงผิดนัดชำระมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยว่า  สำหรับการพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นงวดปี 2563 ยังไม่ทราบว่านโยบายการจ่ายปันผลเป็นอย่างไร ซึ่งต้องรอธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) พิจารณา แต่หากดูความสามารถการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ธนาคารยังมีความสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินปันผล ของ KKP ที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับกระบวนการจ่ายเงินปันผล และได้ชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นรับทราบแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าการจ่ายปันผลจะไม่มีการยึดติดหรือระบุ การจ่ายปันผลเท่ากับสัดส่วน หรือเปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับกำไร แต่การจ่ายเงินปันผลของธนาคาร จะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งจะคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานการณ์ต่างๆในแต่ละปี 

 

โดยในช่วงเวลาที่ผลประกอบการดีๆ สิ่งที่ธนาคารต้องทำคือการเก็บกระสุนไว้ เพื่อเป็นทุนสำรอง รองรับความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นมากกว่า เพราะเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคงเข้มแข็งถือเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า หากดูกำไรสะสมของธนาคารขณะนี้อยู่ในระดับสูงถึง 4.4 หมื่นล้านบาท

“วันนี้เรายังไม่รู้ เรื่องการจ่ายปันผล เพราะต้องรอนโยบายจากธปท. แต่ธนาคารก็มีความสามารถจ่ายปันผลได้ วันนี้หากดูกำไรสะสมเรามีราว 4.4 หมื่นล้านบาท แต่การจ่ายปันผลก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะในช่วงที่ดีๆ ธนาคารก็ต้องมีการเก็บกระสุน โดยสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพให้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สถานการณ์ข้างหน้า มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้นมีแนวโน้มที่จะเห็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ของสถาบันการเงิน และของธนาคาร ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่มีโอกาสเห็นการผิดนัดชำระหนี้ หรือดีฟอลล์มากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มการตั้งสำรองมีทิศทางเพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันธนาคารมีสำรองส่วนเกินอยู่ในระดับสูงที่ราว 1.5 พันล้านบาท

  “การสำรองของธนาคารพาณิชย์ วันนี้ตามมาตรฐานทางการเงิน IFRS9 ไม่ได้ให้เราใส่อะไรตามอำเภอใจได้ ต้องให้สอดคล้องกับคุณภาพหนี้ ดังนั้น หากมีการสำรองมากขึ้น ก็ต้องทำโมเดล และตอบให้ได้ว่า ทำไมต้องใส่สำรองเกิน ซึ่งหากดูคุณภาพหนี้วันนี้ พบว่า มันยังหลอกตาอยู่เยอะ ไม่ใช่ความจริง เพราะเข้าสู่การผ่อนปรน ตามเกณฑ์ของธปท.”