ส่องสรรพคุณ 'ดอกมะลิ' ที่คุณอาจไม่เคยรู้

ส่องสรรพคุณ 'ดอกมะลิ' ที่คุณอาจไม่เคยรู้

เข้าสู่เดือน ส.ค. ของทุกปี คนไทยมักคุ้นเคยกับการใช้ "ดอกมะลิ" เป็นตัวแทนความรักและสำนึกพระคุณของคุณแม่ แต่รู้หรือไม่ว่า ดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์ที่มีกลิ่นหอมนี้ยังมีประโยชน์และสรรพคุณอีกเพียบ และถูกใช้เพื่อการบรรเทารักษาโรคมานานหลายยุคหลายสมัยแล้ว

เมื่อถึงวันแม่แห่งชาติของทุกปีในวันที่ 12 ส.ค. ประชาชนมักใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์แสดงความรักที่มีต่อคุณแม่ เพราะ "ดอกมะลิ" เปรียบเสมือนความรักที่บริสุทธิ์ และใช้สื่อความหมายถึง การเคารพบูชา และการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกที่มีต่อแม่

อันที่จริงแล้ว นอกจากดอกมะลิจะมีความสำคัญในวันแม่และเป็นดอกไม้กลิ่นหอมสดชื่นแล้ว กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยืนยันว่า ดอกมะลิยังเต็มไปด้วยสรรพคุณมากมาย ทั้งใช้บำรุงหัวใจ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ผ่อนคลายจิตใจ และมีประวัติในการใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาไทยหลายตำรับด้วยกัน

 

  • ถิ่นกำเนิด

มะลิมีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนชื้นและกึ่งร้อนชื้นในเอเชียและคาบสมุทรอาระเบีย เช่น อินเดีย ไทย มาเลเซีย เมียนมา คูเวต โอมาน และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และแถบแปซิฟิก โดยพืชในสกุลนี้มีประมาณ 200 ชนิด ส่วนในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 45 ชนิด และสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

สำหรับมะลิที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด ซึ่งมะลิที่พบเห็นกันแพร่หลายในไทย ได้แก่ มะลิลา มะลิลาซ้อน มะลิถอด มะลิพิกุลหรือมะลิฉัตร มะลิทะเล มะลิทะเล มะลิเลื้อย มะลิวัลย์ พุทธชาด ปันหยี เครือไส้ไก่ อ้อยแสนสวย และมะลิเขี้ยวงู เป็นต้น

159705068279

ส่วนแหล่งปลูกมะลิที่สำคัญของไทย ได้แก่ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ชลบุรี พิษณุโลก ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น และหนองคาย

 

  • ยอดสรรพคุณของมะลิ

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ระบุว่า ในประวัติศาสตร์ ดอกมะลิ ถูกใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงครรภ์ แก้ลมวิงเวียน ช่วยนอนหลับ ด้วยรสหอมเย็น ทำให้สดชื่น ชื่นใจ ผ่อนคลาย ทุกบ้านจะใช้ดอกมะลิลอยน้ำใส่ขันไว้รับแขก ไว้ดื่มดับกระหาย แก้อ่อนเพลีย และในทางยาไทย ดอกมะลิ เป็นยาในพิกัดเกสรทั้ง 5 เกสรทั้ง 7 และ เกสรทั้ง 9 และเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมหลายขนาน เช่น ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกศ ยาหอมอินทจักร์ และโดยเฉพาะหอมเทพจิตรที่มีดอกมะลิประกอบมากที่สุดในตำรับ

นอกจากการใช้เป็นยาไทย ในศาสตร์สุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือการบำบัดโดยการใช้กลิ่นหอม ยังมีการใช้กลิ่นหอมของดอกมะลิ เพื่อบำรุงร่างกาย ปรับสมดุลอารมณ์และจิตใจ แก้ปวดศีรษะ คลายเครียด และช่วยการนอนหลับให้ดีขึ้น กระทั่งมีการยกให้ ดอกมะลิ เป็น King of Essential oils ขณะที่ กุหลาบ เป็น Queen of Essential oils และมีการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เพื่อยืนยันสรรพคุณและประโยชน์ของดอกไม้ชนิดนี้ ที่น่าสนใจ ดังนี้

159705988511

1. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโคโรนารี และ กระตุ้นหัวใจ ฤทธิ์ดังกล่าวเป็นผลช่วยสนับสนุนการใช้มะลิในตำรับยาหอม ยาพื้นบ้านที่ช่วยแก้ลมวิงเวียนได้

2. ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus sanguinis ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ โดยสารสกัดเมทานอล จากดอกมะลิลาแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว

3. ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และเชื้อรา Aspergillus niger โดยสารสำคัญในดอกมะลิลา มีผลยับยั้งได้

4. ฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ มีฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ

5. ฤทธิ์สงบประสาท และทำให้นอนหลับ ฤทธิ์ดังกล่าวถูกใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยการศึกษาน้ำคั้นจากรากสดมะลิลา 1-8 กรัม ต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง หนู กระต่าย และสุนัข มีผลในการสงบประสาท ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้นอนหลับ ในปริมาณต่างกัน จึงควรระมัดระวังในการใช้ เพราะการใช้มากเกินไปจะทำให้สลบได้

6. ฤทธิ์ไล่หมัด น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิลา มีฤทธิ์ไล่หมัดได้ดีกว่าสารเคมี diethyltoluamide

ส่วนอีกตำรายาหนึ่งระบุว่า ใบ รสฉุนซ่า ใช้แก้ไข้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ปวดท้อง อึดแน่น ท้องเสียดอก รสฉุน ชุ่ม สุขุม ใช้สมานท้อง แก้บิด ปวดท้อง ผิวหนังเป็นผื่นคัน แผลเรื้อรังต้มน้ำใช้ล้างตา แก้เยื่อตาอักเสบแช่น้ำมันพืชจนพองตัว ใช้หยอดหูแก้ปวดหู, ราก รสขม สุขุม มีพิษทำให้สลบ แก้ปวดเอ็นขัดยอกเนื่องจากหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก เลือดออกตามไรฟัน ปวดหัว นอนไม่หลับ

 

  • รูปแบบและขนาดที่แนะนำให้ใช้

สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ระบุว่า สำหรับสรรพคุณบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อ่อนเพลีย แนะนำให้ใช้ดอกมะลิแห้ง 1.5–3 กรัม ต้มน้ำ หรือชงน้ำร้อนดื่ม

แก้ผิวหนังผื่นคัน แผลเรื้อรัง ใช้ล้างตา แก้ตาอักเสบ แก้ปวดไข้ ต้มน้ำล้างตา บริเวณแผลผื่นคัน หรือแช่น้ำมันพืชหยอดหู แก้ร้อนใน เสียดท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน โดยใช้รากฝนผสมกับน้ำรับประทาน

รักษาแผล ฝีพุพอง แก้ไข้ ขับน้ำนมโดยใช้ใบตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวแล้วนำไปลนไฟแล้วจึงใช้ทาบริเวณที่เป็นแก้อาการนอนไม่หลับ โดยใช้รากแห้งประมาณ 1-1.5 กรัมนำมาฝนกับน้ำรับประทาน

แก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากสด 1-1.5 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด

นอกจากนี้ ในมาเลเซีย ใช้ดอกพอกหัว แก้ปวดหัว ใบใช้พอกแก้ฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิดหนัง และบาดแผล ต้มน้ำกินแก้ไข ต้มกับน้ำมันพืช ใช้ทาหัว แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับตา ทำให้ตาสว่าง และใช้เป็นยาแก้วิกลจริต ใบแห้งใช้พอกแผลเรื้อรังและโรคผิวหนังอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม การใช้ดอกมะลิมีข้อควรระวัง รวมไปถึง ไม่ควรรับประทานมะลิ ในรูปแบบ ยา หรือขนาดสูง ติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจทำให้เฉื่อยชาและหลงลืมง่าย, ไม่ควรรับประทานรากมะลิดองเหล้า เพราะอาจทำให้หมดสติ และระวังการใช้ดอกมะลิในผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือด วาร์ฟาริน

--------------------------

อ้างอิง: ThailandPlus, DisThai, ThaiCrudeDrugกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก