'ดอกมะลิ' สื่อรัก 'วันแม่' และความหมายที่ซ่อนอยู่

'ดอกมะลิ' สื่อรัก 'วันแม่' และความหมายที่ซ่อนอยู่

รู้จัก "ดอกมะลิ" สื่อรัก "วันแม่" ที่ไม่ได้มีความหมายแค่การแสดงความกตัญญูต่อแม่ในวันแม่แห่งชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสรรพคุณทางด้านการรักษาโรคที่ซ่อนอยู่ในราวกลีบดอกสีขาวนวลเหล่านี้ด้วย

ดอกมะลิ ดอกไม้เล็กๆ สีขาวนวลที่มีกลิ่นหอมชวนดม ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ วันแม่ และถือเป็นพันธุ์ไม้มงคลที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของความรัก และปราถนาดี อีกทั้งยังสื่อถึงความกตัญญูอีกด้วย โดยเฉพาะ วันแม่แห่งชาติ หรือ วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เราจะได้เห็นภาพของผู้คนเตรียมนำดอกมะลิ ตลอดจนพวงมาลัยดอกมะลิเพื่อแสดงความรักที่มีต่อแม่ในโอกาสสำคัญแบบนี้

อันที่จริงแล้ว ดอกมะลินั้น เป็นพรรณไม้ยืนต้น พบได้ในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จนถึงขนาดกลาง บางชนิดมีลำต้นแบบเถาเลื้อย โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย ที่ซึ่งถือเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ตามความเชื่อพราหมณ์-ฮินดู ทำให้ชาวอินเดียถือว่า ดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำองค์พระนารายณ์ เวลาทำพิธีบูชาพระนารายณ์ก็จะใช้ดอกมะลิเป็นของถวายหลัก

สำหรับประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่า ดอกมะลิ นำเข้ามาจาก อินเดียตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาพุทธ ด้วยคุณลักษณะ กลิ่นหอมเย็น และสีขาวบริสุทธิ์ของดอกมะลิทำให้คนส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาพระ อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นมะลิเอาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน จะช่วยเสริมให้คนในบ้านได้รับความปราถนาดี เป็นที่รัก และเป็นที่คิดถึงของคนทั่วไป อีกทั้งยังทำให้คนในบ้านมีจิตใจที่บริสุทธิ์ รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

159705067468

ที่ทำให้ ดอกมะลิ นั้นเป็นดอกไม้ประจำวันแม่แห่งชาติ เนื่องจาก คนไทยถือเป็นดอกไม้มงคล นิยมนำมาร้อยเป็นมาลัยเพื่อบูชาพระ และถือเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกล และหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลายนั่นเอง

ต้นมะลิ นั้น มีผิวเปลือกลำต้นสีขาวมีสะเก็ดรอยแตกเล็กน้อย ลำต้นเล็กกลมแตกกิ่งก้านสาขาไปรอบๆ ลำต้น ใบเป็นใบเดียวแตกใบเรียงกันเป็นคู่ๆ ตามก้าน และกิ่งลักษณะของใบมนป้อม โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นมันออกสีเขียวเข้ม การออกดอกมะลิเป็นดอกเดี่ยว หรือ ออกเป็นช่อตามซอกใบกลีบดอกมีสีขาวประมาณ 6 - 10 กลีบเรียงเป็นวงกลม หรืออาจซ้อนกันเป็นชั้นแตกต่างกันตามสายพันธุ์ของมะลิสามารถจำแนกได้ดังนี้

มะลิลา หรือ มะลิซ้อน เป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดียวออกเป็นคู่ตรงกันข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่ขอบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียว ปลายกลีบมน ดอกสีขาว มะลิชนิดนี้ จะใช้ในการเด็ดดอกขาย

มะลุลี ลักษณะต้น ใบ อื่นๆ คล้ายมะลิลา แต่ใบใหญ่กว่าดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก และดอกกลางบานก่อน เช่นกัน แต่มีดอกซ้อน 3-4 ชั้น ปลายกลีบมน

มะลิถอด ลักษณะโดยทั่วๆ ไป ทั้งต้น ใบ การจัดเรียงของใบ รูปแบบของใบคล้ายมะลิลาซ้อน แต่ใบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อมี 3 ดอก ดอกซ้อนมากชั้นกว่า คือ 3-6 ชั้น ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ขนาดดอก 2.5-3.5 ซม.

มะลิซ้อน (Grand Duke of Tuscany) ลักษณะทั่วๆ ไปคล้ายมะลิถอด และมะลิลาซ้อน แต่ใบมีลักษณะแคบกว่า ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอกเช่นกัน กลีบดอกซ้อน แต่ซ้อนกว่า 5 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบดอก 10 กลีบ ขึ้นไป ขนาดดอก 3-4 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอมมาก

มะลิพิกุล หรือ มะลิฉัตร ลักษณะต่างๆ คล้ายกับ 4 ชนิดแรก ใบคล้ายมะลิซ้อน และมีคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อ 3 ดอก ดอกซ้อนเป็นชั้นๆ เห็นได้ชัด (คล้ายฉัตร) และดอกมีขนาดเล็กพอๆ กับดอกพิกุล ขนาดดอก 1-1.4 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอม

159705068673

สรรพคุณ และประโยชน์ของดอกมะลิมีหลากหลาย ด้วยกลิ่นหอมเย็นใจให้ความรู้สึกสุขสงบ คนสมัยก่อน นอกจากจะนิยมปลูกดอกมะลิเอาไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ อีกทั้ง ยังเก็บดอกมะลิตูมมาใส่พาน หรือนำมาร้อยเป็นมาลัยบูชาพระ เมื่อกลิ่นหอมอ่อนๆ จากดอกมะลิที่คอยโชยแตะจมูกในห้องพระยิ่งช่วยให้ใจสงบขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ยังนำดอกมะลิมาลอยในน้ำดื่ม หรือจะนำดอกมะลิไปลอยในน้ำเชื่อมกินกับขนมหวานไทยก็ทำให้มีกลิ่นหอมชวนรับประทานมากขึ้น สำหรับสรรพคุณทางสมุนไพรของมะลิก็มีแทบทุกส่วน คือ

รากของมะลิ แก้ได้สารพัดโรคทั้งปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เลือดออกตามไรฟัน รวมทั้งช่วยรักษาหลอดลมอักเสบได้ด้วย หากนำรากมาฝนกินกับน้ำแก้ร้อนในได้ดี คนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทรวงอกให้นำรากมาประมาณ 1-1.5 กรัม ต้มน้ำกินก็ช่วยได้

ใบมะลิ ใช้แก้ไข้ที่เกิดจากอาการเปลี่ยนแปลงได้ดีรวมทั้งรักษาอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย หากนำใบมาตำแล้วละลายกับน้ำปูนใสแต้มแผลฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิวหนังจะหายไวขึ้น ตลอดจนช่วยบำรุงสายตาและขับน้ำนมสตรีที่มีครรภ์ได้ด้วย

ดอกมะลิ นอกจากความสวยและความหอมแล้วยังแก้โรคบิด อาการปวดท้อง หากตำให้ละเอียดพอกที่ขมับ แก้อาการปวดหัวและปวดหูชั้นกลางได้ แถมยังช่วยรักษาแผลพุพอง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย รวมทั้งเป็นยาบำรุงหัวใจได้อย่างดีเยี่ยมอีกขนานหนึ่งด้วย

สำหรับดอกมะลิกับวันแม่แห่งชาตินั้น มีความเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ ประเทศไทยเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2486 ณ สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอนโดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และ กำหนดให้ดอกมะลิเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ ดอกมะลิ กลายสัญลักษณ์หนึ่งที่เคียงคู่ วันแม่ อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน