อุตฯเปิดแผนดันไทย ผู้นำหุ่นยนต์อาเซียน

อุตฯเปิดแผนดันไทย  ผู้นำหุ่นยนต์อาเซียน

ปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมอันดับที่ 11 ของโลก อันดับ 5 ของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน เป็นข้อมูลที่แทบไม่น่าเชื่อว่าไทยมีหุ่นยนต์ในระบบอุตสาหกรรมแล้ว แต่เนื้อในของเรื่องนี้ ชี้ว่าเรายังต้องการการการพัฒนาอีกมาก

ปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมอันดับที่ 11 ของโลก อยู่ในอันดับ 5 ของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน  โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภูมิภาคอาเซียนภายใน 2569และมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง สถานการณ์และเป้าหมายของประเทศไทยเรื่องหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมกำลังชี้ทิศทางอนาคตของประเทศ 

สมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน เปิดเผยว่า แม้ไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์ในอัตราค่อนข้างสูงแต่ถ้าวัดเป็นความหน่นแน่นของจำนวนหุ่นยนต์ต่อประชากรยังเป็นรองประเทศสิงคโปร์ โดยไทยยมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 51 ยูนิตต่อแรงงาน 1 หมื่นคน ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วมีค่าเฉลี่ยนที่ 90 ยูนิตต่อแรงงาน 1 หมื่นคน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขยายจำนวนการใช้หุ่นยนต์ได้อีกมาก โดยหุ่นยนต์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ , ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ , ยางและพลาสติก ซึ่ง International Federation of Robotics (IFR) คาดว่าการใช้หุ่นยนต์ของไทยจะเติบโต 5-10% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2565

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของไทยในขณะนี้ มีการนำเข้ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติประมาณ 10% หรือมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่วนการส่งออกเครื่องจักรกลไทยส่งออกกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติประมาณ 10% หรือมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งไทยมีโอกาสสูงในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในอาเซียน เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์มานาน และอุตสาหกรรมนี้ก็ใช้หุ่นยนต์มากที่สุด

159732317946

สำหรับเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภูมิภาคอาเซียนภายใน 2569 และมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมที่ไทยถนัด เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เกษตร และอาหาร ซึ่งไทยควรจะเน้นในเรื่องการนำเข้าหุ่นยนต์ เพื่อนำมาต่อยอดติดอุปกรณ์เซ็นซอร์ต่างๆ เช่น ติดกล้อง มือหยิบจับต่างๆ และเขียนโปรแกรมออกแบบระบบการใช้งานที่เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมของลูกค้า

“ตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคอาเซียน หลายประเทศต่างหันไปใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และกลุ่มซีแอลเอ็มวีต่างก็ไว้ใจในสินค้าของไทย โดยคู่แข่งของไทยน่าจะมีเพียงประเทศสิงคโปร์ ประเทศเดียว”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์สูง แต่ยังมีปริมาณไม่เพียงพอที่ต่างชาติจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตหุ่นยนต์ ซึ่งในโลกนี้มีเพียงประเทศเยอรมนี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มีโรงงานผลิตหุ่นยนต์ แต่ทั้งนี้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ก็เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดในประเทศไทย โดยได้ตั้งเป้าภายในปี 2564 จะผลิตหุ่นยนต์ภายในประเทศทดแทนการนำเข้าให้ได้ 50% ซึ่งในขณะนี้ผู้ประกอบการไทยทำได้ประมาณ 30-40% แล้ว

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์ภายในประเทศ โดยเบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ถึงการต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธ.ค.2563 เพื่อสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศให้มากขึ้น ทั้งการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% หากโครงการมีการใช้ระบบอัตโนมัติเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมการผลิตของไทยไม่น้อยกว่า 30% ของเงินลงทุน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ให้ผู้ซื้อระบบหรือนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเร็วๆ นี้

159732414092

กัมปนาท ตันติพิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด กล่าวว่า ในขณะนี้ศักยภาพผู้ประกอบการ System Integrators (SI) ของไทยสู้ได้สามารถประกอบปรับปรุงเพิ่มศักยภาพ และออกแบบโปรแกรมวางระบบให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า โดยประเทศรอบบ้านของไทย โดยเฉพาะเวียดนามในปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขาย 140 ล้านบาท เป็นการส่งออก10%

ทั้งนี้ อยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือในการนำคณะผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์ของไทยออกไปเจาะตลาดต่างประเทศ และคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพให้พบปะกับผู้ผลิตของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยออกไปเปิดตลาดแต่ถูกโกงไปหลายราย

ส่วนตลาดหุ่นยนต์ของไทยก็ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ มีการนำเข้าหุ่นยนต์ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นยูนิตต่อปี และมั่นใจว่าในอนาคตจะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากรัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรม s-curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต้องใช้หุ่นยนต์ในการผลิต ประกอบกับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้โรงงานต่างๆให้ความสนใจเข้ามาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและยา เครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการเกษตร โลจิสติกส์

“คำสั่งซื้อหุ่นยนต์ได้ชะลอตัวไปช่วงโควิด แต่ขณะนี้ได้มีคำถามและความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมากมายังบริษัทแสดงความสนใจและให้ความสำคัญที่จะศึกษาการปรับกระบวนการผลิตมาใช้หุ่นยนต์ แม้กระทั่งรายเล็ก เพราะปัจจุบันราคาของหุ่นยนต์ลดลงและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีความต้องการหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมาก เพราะต้องการลดการสัมผัสของมนุษย์ ปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้จะใช้เวลาช่วง 4-5 เดือน คาดว่าในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า จะเห็นการลงทุนใช้หุ่นยนต์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในส่วนของ โรบอท ซิสเต็ม ก็มีผู้ประกอบการเข้ามาสอบถามศึกษาการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น 30-40% สอดคล้องกับในช่วงวันที่ 23-26 ก.ย.นี้ จะมีการจัดงานอินเตอร์แมค ที่ไบเทค บางนา ซึ่งเป็นงานที่ผู้ผลิตจะนำเครื่องจักรอุตสาหกรรมและหุ่นยนต์มาจัดแสดงและเสนอ โปรโมชั่นพิเศษให้กับลูกค้า รวมทั้งจะมีสถาบันการเงินเข้ามาปล่อยสินเชื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาให้คำแนะนำในทุกๆด้าน