แกรมมี่ ปั้นแบรนด์สินค้าศิลปิน ก้าวข้ามวิกฤติโควิด

แกรมมี่ ปั้นแบรนด์สินค้าศิลปิน ก้าวข้ามวิกฤติโควิด

เมื่ออดีตคนโฆษณา “ภาวิต   จิตรกร” ผันตัวมาขับเคลื่อนธุรกิจเพลง นั่งเก้าอี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งมีภารกิจมากมายต้องทำ โดยเฉพาะ “บันได 3 ขั้น” เพื่อนำธุรกิจเพลงแกรมมี่เติบโตระยะยาว

บันไดขั้นแรก ภาวิต ผ่าตัดและเปลี่ยนผ่านองค์กรฝ่าสึนามึดิจิทัลดิสรัปชั่น บันไดขั้นสองวาง 7 ยุทธศาสตร์ สร้างการเติบโตยั่งยืน และบันไดขั้นสาม วางโครงสร้างพื้นฐานให้ธุรกิจเพลงมีรายได้ประจำ(Recurring income) ทั้งหมดเป็นแผนระยะยาว

เปิดปี 2563 ภาวิต สร้างผลงานให้องค์กร โดยจีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯ ทุบสถิติรายได้และกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ ทว่า ปลายไตรมาส 1 ประเทศไทยต้องเผชิญมฤตยู โควิด-19” ช็อก !! ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์ ผลกระทบตามมามากมายโดยเฉพาะการล็อกดาวน์ ชัตดาวน์รายได้” ผู้ประกอบการ ไม่เว้นจีเอ็มเอ็ม มิวสิค

การตั้งสติ!เป็นสิ่งแรกที่ ภาวิต จัดการ และไม่ทิ้งลายครีเอทีฟคนโฆษณา โฟกัส” สิ่งที่ต้องทำ หนึ่งในนั้นคือการเดินตามบันได 3 ขั้นที่วางไว้ เลือกลุยบันไดขั้นที่ 2 อย่างเข้มข้น ซึ่งได้วาง 7 ยุทธศาสตร์เคลื่อนธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ สร้างสินค้าจากศิลปิน” ก่อนหน้านั้นมีโครงการนำร่องผลิต น้ำหอม ของ เป๊ก ผลิตโชค

ทว่า โมเดลล่าสุด ได้ตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ จำกัด(GMM GOODS) ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจขายตรงชั้นเดียว ดึง “ต่าย  อรทัย  ดาบคำ นักร้องลูกทุ่งมาปั้นแบรนด์ ออร่า-ทัย”(AURA-THAI) ส่งสินค้า 3 รายการ (SKU) ได้แก่ เซรั่ม, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและปกป้องผิวจากแสงแดด และแผ่นมาส์กหน้าบำรุงผิว บุกตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ (สกินแคร์) เต็มสูบ

การรุกธุรกิจขายตรง เพราะมองว่าการมาของโรคโควิดจะเกิดโอกาสให้ประชาชนอยากมีรายได้เสริม

159732702116

ภาวิต  จิตกร  - ต่าย  อรทัย  ดาบคำ

แต้มต่อการรุกธุรกิจขายตรงของจีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ มีมากมาย ซึ่งเชื่อว่าจะปูทางไปสู่ความสำเร็จทั้งด้านนักธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย และลูกค้าได้ ส่วนจุดแข็งอะไรที่บริษัทมี ภาวิต เจาะ 8 จุดแข็ง จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์ มาฉายภาพดังนี้ 1. จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์  เป็นบริษัทขายตรงในเครือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านคอนเทนต์ และ Media Marketing Solution แบบครบวงจรทั้งทีวี วิทยุ ออนไลน์ ฯ  

2.มีแผนธุรกิจทั้งระยะสั้น และ ระยะยาวในการส่งเสริมการสร้างสินค้าให้กับศิลปินเป็นจำนวนมาก และ หลากหลาย โดยทุกศิลปินจะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าทำการดำเนินธุรกิจ วางแผนยุทธศาสตร์ และ ควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอน 3. มีขุมทรัพย์ข้อมูลหรือ Big Data ของฐานแฟนคลับจำนวนมหาศาล ที่ได้ทำการวิเคราะห์ถึงโอกาสในความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีเต็ม จึงมั่นใจได้ในความพร้อมของกำลังซื้อที่รองรับที่มีอยู่มาก

หากมองฐานแฟนคลับของแกรมมี่ เรียกว่ามีมหาศาลมาก และในการทำวิจัย หรือสำรวจพฤติกรรม ความเห็นของผู้บริโภคผ่านออนไลน์ จึงมีผู้ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามมากถึง 1.5 หมื่นรายต่อครั้ง เรียกว่าล้นหลาม เพราะการทำวิจัยตลาดโดยทั่วไป สุ่มกลุ่มตัวอย่างหลักร้อยถึงพันเท่านั้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึก ความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มได้เป้าหมาย เพื่อเสิร์ฟสินค้าให้ตรงใจ

4. มีเงินจูงใจและแผนจ่ายโบนัสที่สูงเป็นรูปธรรม เพื่อตัวแทนขายในการสร้างรายได้จนสามารถยึดเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลักในการดำเนินชีวิต 5.ได้ร่วมมือกับโรงงานชั้นนำของประเทศในการผลิตสินค้า และ สินค้าทุกชิ้นได้รับการรับรองจากสถาบันนานาชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าที่ศิลปิน แฟนคลับ กล้าแนะนำ และบอกต่อ 6. มีเงินลงทุนจำนวนมากในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยคอนเทนต์ที่แตกต่าง และมีสื่อแบบครบวงจร ทั้งสื่อโทรทัศน์, สื่อวิทยุ, สื่อโซเชียลมีเดีย, สื่อนอกบ้าน และสื่อ จุดขาย(Point of Sale) รวมถึงสื่อของศิลปิน GMM Music ที่จะช่วยกันร่วมโปรโมทธุรกิจ และ สินค้าให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งประเทศ

7.  มีหลักสูตรการขายสินค้ารองรับ ทั้งคอร์สเรียน On Ground และคอร์สเรียน Online เพื่อให้ตัวแทนขายสามารถขายสินค้าได้อย่างง่ายดายและยั่งยืน และ8. ได้คัดสรรทีมงานที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านขายตรง, ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า(CRM) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล(Data Scientist)  ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและการตลาด, ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสังคมออนไลน์ และการค้า

อาวุธครบมือ จึงเสริมความแกร่งให้กับแบรนด์ "ออร่า-ทัย" ได้อย่างดี แม้ยุคปัจจุบันศิลปินดังมีแฟนคลับมากหรือน้อยต่างสามารถไปผลิตสินค้าสร้างแบรนด์ได้เอง แต่การมี "บิ๊กคอร์ป" ทุนหนา กลยุทธ์การทำตลาด ทีมงานครบเครื่อง ช่องทางจำหน่ายมีพร้อม จึงเป็น "กองหนุน" ให้สินค้าศิลปินมีโอกาสเกิดไม่ยาก

ส่วนการเลือก ต่าย  อรทัย” เหตุผลไม่ต้องังขา การอยู่ในวงการมา 20 ปี มีฐานแฟนคลับจำนวนมากชื่นชอบติดตามอย่างยาวนาน ยิ่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ "เจาะจง" ได้ใครเป็นใคร ตัวตน สนใจอะไร ช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น เฟซบุ๊กกว่า 5.5 ล้านราย อินสตาแกรม 6 แสนราย และยูทูป 7.2 แสนราย ยิ่งวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก(Big Data) พบกลุ่มเป้าหมายชัดเจนเป็นผู้หญิงวงกว้าง(Mass)พร้อมสนับสนุนศิลปิน เฉพาะการซื้อสินค้าจากงานคอนเสิร์ตเฉลี่ยหลักร้อย-พันบาทยอดใช้จ่ายสูงสุด 4,000 บาท ส่วนพฤติกรรมการซื้อเซรั่มเฉลี่ย 500-900 บาท ครีมบำรุงผิว 300-480 บาท และมาส์กหน้า 70-100 บาท หากเจาะใจสาวกเพียง 2 หมื่นคนต่อเดือน บริษัทสามารถทำรายได้หลัก ร้อยล้านบาท ต่อปี

159732709170

เราเชื่อมั่นใน Fans base marketing เพราะฐานแฟนคลับพร้อมสนับสนุนศิลปินทุกอย่างหรือระดับ Advocacy ซึ่งต่าย อรทัย เป็น 1 ใน 5 ศิลปินแกรมมี่ ที่มี Advocacy สูง

ศิลปิน Top 5 ของแกรมมี่ที่มี Advocacy สูง ได้แก่ เบิร์ด ธงไชย, ตูน บอดี้สแลม, เป๊ก ผลิตโชค, หนุ่ม กะลา และต่าย อรทัย (ไม่เรียงลำดับ) จากศิลปินทั้งค่ายราว 300 ชีวิต แผนธุรกิจในปีหน้าจะมี 2 ศิลปิน ออกสินค้า 2 แบรนด์ ใน 2 หมวด คือสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) และสินค้าเพื่อสุขภาพเสริมทัพ ส่วนออร่า-ทัยจะมี 3 สินค้าใหม่เสริมทัพ

ภาวิต เล่าว่า การที่ศิลปินมาปั้นแบรนด์สินค้าจำหน่าย ยังเป็นเทรนด์โลกด้วย เพราะสาวกคือกลุ่มเป้าหมายชั้นดีที่มีความจงรักภักดี (Brand Loyalty) ต่อศิลปินคนโปรด จะเห็นว่าระดับโลก นักร้องดังริฮานน่าลุยธุรกิจเครื่องสำอาง ชุดชั้นใน เสื้อผ้า สร้างอาณาจักรหมื่นล้าน หรือแจ๊คสัน หวังแห่ง GOT7 ปั้นเสื้อผ้าแบรนด์ TEAMWANG เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การรุกขายตรงของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯ ภาวิต ย้ำว่าไม่ได้แข่งกับใครเพราะเป้าหมายครั้งนี้ชัด เราตกปลาในบ่อของตัวเอง ไม่ตกในบ่อของคนอื่น และการทำตลาดไม่ต้องการเปิดศึกหลายยุทธจักร เพราะจะห้ำหั่นกันเหนื่อย

สำหรับการผนึกศิลปินปั้นแบรนด์สินค้าขายตรง 3 ปีแรก ตั้งเป้าหมายยอดขายรวม 500 ล้านบาท เฉพาะออร่า-ทัยคาดสร้างยอดขายราว 300 ล้านบาท และมีตัวแทนขาย 9,000 คนในปีแรก เพิ่มเป็น 15,000 คนในปีที่ 2 และแตะ 25,000 คนในปีที่ 3 ขณะที่เป้าใหญ่ระยะยาวคือการผลักดันรายได้มีสัดส่วน 10% ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ซึ่งที่ผ่านมาโครงสร้างรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท มาจากสปอนเซอร์ บริหารศิลปิน 35% ดิจิทัล 28% โชว์บิซ 13% บริหารสื่อ 8% เทรดดิ้ง 7% และอื่น 9%

ปี 2563 จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้รับผลกระทบจากโควิด เพราะหลายธุรกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะโชว์บิซงานแสดง โชว์ตัวของศิลปินตามผับบาร์ร่วม 7,000 งานต่อปี ต้องเบรก แต่ยังมีกลุ่มที่เติบโตคือ เพลงดิจิทัล” เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอย่างไรผู้บริโภคยังคงฟังเพลงเพื่อความบันเทิงอยู่เสมอ ดังนั้นจากแผนธุรกิจข้างต้น ภาวิต ต้องการฝ่าวิกฤติไวรัสร้ายให้บริษัท ไม่ขาดทุน

ปีนี้อาจไม่ได้ตั้งเป้าสู่จุดเติบโต แต่บริษัททำทุกวิถีทางที่จะไม่ขาดทุน ซึ่งผมให้ความมั่นใจว่าเราจะไม่อยู่ในภาวะขาดทุน เหมือนที่หลายบริษัทเจอในช่วงโควิด จนต้องล้มหายตายจาก