ทำความรู้จักทุน 'ไชน่าโมเดล' มาดีหรือมาร้าย?

ทำความรู้จักทุน 'ไชน่าโมเดล' มาดีหรือมาร้าย?

ส.อ.ท. เผย จีนเข้ามากินรวบทั้งระบบ กระทบเอสเอ็มอีไทยรุนแรง ห่วงใช้ไทยเป็นฐานทุ่มตลาดสหรัฐ-ยุโรป ถูกชาติตะวันตกจับตาดึงไทยเข้าสู่สงครามการค้า ด้านพาณิชย์ชี้ศึกการค้าสหรัฐจีนจบยาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่าการเข้ามาลงทุนจากจีนจะส่งผลบวกเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนจากจีนก็ต่างจากนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง โดยนักลงทุนญี่ปุ่นจะนำวิศวกรและหัวหน้างานเข้ามาและจ้างแรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนไทย

ขณะที่จีนประชากรมากการออกมาลงทุนจะใช้รูปแบบ “ไชน่าโมเดล” คือ ออกมาทั้งหมดตั้งแต่หัวหน้างาน ผู้จัดการโรงงานพนักงานทุกฝ่ายทุกแผนก โดยอ้างว่าแรงงานชาติอื่นสู้แรงงานจีนไม่ได้  ทำให้จีนจะยกมาหมดทั้งองคาพยพ ทั้งแรงงานและซัพพลายเออร์มาไทยทั้งหมด โดยโรงงานเอสเอ็มอีจีนที่ตามรายใหญ่เข้ามาจะผลิตสินค้าเข้ามาแข่งขันจาเอสเอ็มอีไทยสู้ไม่ได้ โดยก่อนหน้าที่จีนจะเข้ามาลงทุนสินค้าเอสเอ็มอีจีนก็ทะลักเข้าไทยและมีราคาถูกกว่าโรงงานไทย จนทำให้โรงงานเอสเอ็มอีไทยต้องนำเข้าจากจีนแทนการผลิตเองขายยังกำไรกว่า ในระยะยาวจะบั่นทอนความแข็งแกร่งการผลิตไทยลง ซึ่งการที่จีนเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเองก็ยิ่งทำให้เอสเอ็มอีไทยเสียเปรียบมากขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจของจีนที่เข้ามาตั้งในไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะหลบหนีสงครามการค้า ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งเข้าไปยังตลาดสหรัฐแทนโรงงานจากจีน ท้ายที่สุดจะทำให้ไทยถูกสหรัฐ และยุโรปจับตาอย่างใกล้ชิน และถูกตอบโต้ทางการค้าและออกมาตรการกดดันต่างๆมาที่ประเทศไทย ทำให้สินค้าโดยรวมของไทยได้รับความเดือดร้อน โดยขณะนี้โรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่อันดับ 1-5 ของจีนได้เข้ามาตั้งโรงงานในไทยแล้ว โดยมีโรงงานเปิดการผลิตไปแล้ว 3 โรง และส่งยางล้อไปยังสหรัฐ อีก 2 โรงกำลังจะเปิดการผลิต ในตอนนี้โรงงานจีนทั้ง 3 ราย ถูกสหรัฐตอบโต้การทุ่มตลาดไปแล้ว และโดนโรงงานไทยไปอีก 2-3 โรง จากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ดังนั้น ไทยจะต้องควบคุมการลงทุนให้เกิดการสมดุล การย้านฐานมาลงทุนในไทยเป็นข้อดี แต่ต้องควบคุมจำนวนใหสมดุลเหมาะสม ท้ายสุดจะเป็นการหนีจากประเทศจีนมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตทุ่มตลาดสินค้าประเทศอื่น ทำให้ดุลการค้าระหว่างไทยกับยุโรปสูงขึ้น ทำให้ไทยยิ่งโดนจับตาและถูกสหรัฐขึ้นภาษีกับไทยได้ และทำให้ค่าเงินบาทของไทยถูกจับตา เพราะสหรัฐมองว่าค่าเงินไทยอ่อนเกินไปจนทำให้ไทนยังค้าขายเกินดุลสหรัฐเพิ่มขึ้นทุกปี

159741252488

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อ้านวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 และส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศต่างๆ รวมถึงไทย อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการค้าที่ผ่านมา ชี้ว่าไทยสามารถปรับตัวรับมือกับสงครามการค้า และใช้โอกาสนี้ เป็นผู้ส่งออกสินค้าทดแทนให้ทั้งสหรัฐและจีน ทำให้สินค้าไทยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นทั้งสองตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนสหรัฐ และจีนยังสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น

สำหรับสงครามการค้าทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าเปลี่ยนไป การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง การนำเข้าของสหรัฐจากจีน มีสัดส่วนลดลงจาก21.84 % ในปี 2560 (ก่อนเกิดสงครามการค้า) เหลือเพียง 18.39%  ในปี 2562 

ขณะที่การนำเข้าของจีนจากสหรัฐ มีสัดส่วนลดลงจาก 8.41%  ในปี 2560 เป็น5.95%  ในปี 2562 และส่งผลต่อเนื่องมายังไทยและประเทศอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจีน เห็นได้จากความต้องการสินค้าไทยของจีนและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ของจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หดตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรการส่วนใหญ่ของสหรัฐและจีนมีผลบังคับใช้ 

อย่างไรก็ดีการ ส่งออกจากไทยไปสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้า  โดยปี 2561 เติบโต 5.5% ปี 2562 เติบโต 11.8% และปี2563 เติบโต 2.5%  นอกจากนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออกจากไทยไปจีนและประเทศในห่วงโซ่การผลิตจีน เช่น ฮ่องกง กลับมาขยายตัวสะท้อนว่าผลของสงครามการค้าเบาบางลง ผู้ประกอบการในห่วงโซ่เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น ส่งผลให้ไทยได้โอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ส่งออกสินค้าทดแทนได้มากขึ้น  ทำให้ส่วนแบ่งของไทยในทั้งสองตลาดเพิ่มขึ้น

159741254469

ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ยังเป็นโอกาสที่ไทยควรเร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถการค้าไทยในอนาคต ทั้งจากนักลงทุนสหรัฐและจีน รวมถึงนักลงทุนประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะยังคงลงทุนในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพรวมถึงไทย 

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน และประเด็นที่ส่งผลต่อการส่งออกไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ การบังคับใช้ข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐและจีน โดยเฉพาะประเด็นเชิงโครงสร้าง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยี ที่จีนต้องปฏิบัติตามนอกเหนือจากการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นชนวนความขัดแย้ง เช่น สิทธิมนุษยชน และการปกครองฮ่องกง รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และนโยบายการต่างประเทศในภาพรวมของสหรัฐในระยะต่อไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจการค้าและนโยบายในหลายประเทศ และอาจถูกสหรัฐใช้เป็นเหตุผลเพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ กับจีนในอนาคตด้วย