'รัฐ-คิงส์เกต' จ่อยุติคดีวิน-วิน คาดเจรจาได้ข้อยุติ ม.ค.64

'รัฐ-คิงส์เกต' จ่อยุติคดีวิน-วิน คาดเจรจาได้ข้อยุติ ม.ค.64

ไทยเร่งเคลียร์ข้อพิพาท ‘คิงส์เกต’ คาด ม.ค.64 จบแบบคดีวิน-วิน ได้ข้อสรุปการเจรจาก่อนอนุญาโตตุลาการตัดสิน ยืนยันไม่ได้สั่งปิดเหมือง เปิดทางยื่นต่อประทานบัตร เปิดโรงแต่งแร่ได้

ข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย กับรัฐบาลไทยถูกนำเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งคิงส์เกตเข้ามาถือหุ้นในบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ 

ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 หลังจากนั้นคิงส์เกตได้ทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยลงวันที่ 3 เม.ย. 2560 เพื่อใช้สิทธิ์หารือ (Consultation Process) ภายใต้เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย

แต่ไม่เป็นผลทำให้วันที่ 2 พ.ย. 2560 ได้แจ้งนำเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่การไต่สวนที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 3-12 ก.พ.2563 โดยคาดว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งในเดือน ก.พ.2564

ในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ผ่านมา คิงส์เกตแสดงจุดยืนที่จะเจรจาหาทางออกร่วมกับรัฐบาลไทยทั้งก่อนและหลังการกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ขณะที่บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ประเมินการเสียโอกาสทำเหมืองที่จะผลิตโลหะใน 8-10 ปี ข้างหน้า แบ่งเป็นโลหะทอง 8.9 แสนออนซ์ มูลค่า 37,020 ล้านบาท และโลหะเงิน 8.3 ล้านออนซ์ มูลค่า 3,984 ล้านบาท รวมมูลค่า 41,004 ล้านบาท 159961328815

คาดเจรจาได้ข้อยุติ ม.ค.64

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ความคืบหน้าเรื่องนี้อยู่ขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ โดยกรณีดังกล่าวไม่ใช่การฟ้องร้องบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เป็นการฟ้องร้องราชอาณาจักรไทย และต้นเหตุไม่ใช่เพราะคำสั่ง ม.44 ที่ให้ระงับการประกอบธุรกิจเป็นเหตุผลหลัก แต่ยังมีปัจจัยอื่นรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ การเจรจาที่เป็นไปด้วยดีของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ต่างต้องการให้ข้อพิพาทดังกล่าวยุติลง และมีแนวโน้มว่าในต้นปี 2564หรือ ช่วงเดือน ม.ค.2564 ปัญหาทุกอย่างจะได้ข้อยุติลงเป็นที่พอใจทุกฝ่าย โดยไม่ต้องรอให้อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดในเดือน ก.พ.2564

นอกจากนี้ ล่าสุดการเจรจาระหว่างไทยและคิงส์เกตมีความก้าวหน้าหลายประเด็นที่ไม่เข้าใจระหว่างกัน โดยได้มีการพูดคุยเคลียร์แต่ละประเด็นจนเป็นที่น่าพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งความต้องการของคิงส์เกต คือ กลับมาประกอบธุรกิจต่อได้ ส่วนความต้องการของทางการไทย คือ การทำเหมืองต้องไม่กระทบสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ปัญหาทางคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับเอกชนให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

โดยข้อพิพาทมีมานานหลายรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วในประเด็นการอนุญาตที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงข้อร้องเรียนของชาวบ้านรอบเหมืองที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีการแก้ปัญหา กระทั่งมีการใช้ ม.44 ออกคำสั่งระงับการทำเหมืองชั่วคราว เพื่อตรวจสอบว่า

สำหรับการทำเหมืองนั้น มีผลกระทบต่อชาวบ้านจริงหรือไม่ หากมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงจะให้คิงส์เกตปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการเหมืองให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 เพื่อจะได้มาขออนุญาตประกอบการอีกครั้ง แต่คิงส์เกตยังไม่ดำเนินการขออนุญาต

แจงอนุญาโตฯไม่ได้ปิดเหมือง

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ผ่านขั้นตอนการส่งเอกสารของทั้ง 2 ฝ่ายเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีคำสั่งช่วงต้นปี 2564 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาหาข้อยุติตามกรอบที่รัฐบาลได้ให้ไว้ และหากการเจรจาประสบผลสำเร็จจะได้ข้อยุติคดีก่อนที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำสั่ง แต่ถ้าเจรจาไม่ได้ข้อยุติ ก็ต้องรอฟังคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ยืนยันต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า ไม่เคยออกคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทอัคราฯ หรือสั่งปิดเหมืองเลย เพียงแต่ไม่ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือโรงแต่งแร่ทองคำ และประทานบัตรบางแปลงที่หมดอายุลง เพราะมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จึงชะลอการต่ออายุจนกว่าจะได้ข้อยุติเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสิทธิ์ที่รัฐบาลทำได้เพื่อปกป้องคนในประเทศ

เปิดทางขอต่อประทานบัตร

แต่ในกรณีเหมืองทองคำของอัคราฯ ไม่ได้สำรวจตรวจวัดค่าโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม และในเลือดของประชาชนในพื้นที่มาก่อน จึงไม่มีค่าเดิมมาอ้างอิงกว่าโลหะหนักที่พบเกิดจากการทำเหมืองได้ จึงไม่ได้ข้อสรุปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 กำหนดให้ผู้ขอประทานบัตรและโรงแต่งแร่จะต้องตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อทำเป็นค่ากลางสำหรับตรวจสอบว่าเหมืองแร่ได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งจะตรวจสอบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทุกปีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อชุมชน

สำหรับในกรณีของอัคราฯ หลังจากที่รัฐบาลตรวจสอบในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ได้เปิดให้ทางอัตราฯ เข้ามายื่นขอต่ออายุโลหะกรรม หรือโรงแต่งแร่ และขอต่ออายุประทานบัตรได้ โดยไม่มีการรอนสิทธิ์แต่ต้องยื่นภายใต้ข้อกำหนด พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ที่ออกมาหลังมีข้อพิพาท ซึ่งมีมาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด หากทำตามข้อกำหนดได้ก็ดำเนินกิจการได้

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอัคราฯ อ้างว่าได้ยื่นขอต่ออายุโรงแต่งแร่ และประทานบัตรตั้งแต่ พ.ร.บ.แร่ ฉบับเดิม และทำตามข้อกำหนดครบ แต่ภาครัฐประวิงเวลาไม่ต่ออายุทำให้ต้องมาดำเนินการใหม่ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 จึงเสียโอกาสและต้องเสียงบดำเนินการเพิ่ม จึงยกในเรื่องนี้มาเป็นข้อเรียกร้อง และระบุเป็นข้อขัดแย้งสู่กระบวนการอนุญาโตตุลากร