'รัฐมนตรีคลัง' ที่ประเทศต้องการ
จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นอกจากการเร่งหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เหมาะสมที่เข้าใจปัญหาและทำงานกับรองนายกรัฐมนตรีได้ตรงเป้าหมายแล้ว การโฟกัสมาตรการหรือการให้ความสำคัญกับปัญหาใดก่อนนั้น ก็ถือว่าจำเป็นอย่างมาก
เห็นสภาพเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกยามนี้แล้วต้องบอกว่า เราต้องการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างเร่งด่วนและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เข้าใจปัญหา และทำงานกับรองนายกรัฐมนตรีได้ตรงเป้าหมาย จริงอยู่เป็นความยากของนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเผชิญภาวะหาคนยาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ดี คือ “ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นจริง” แน่นอนท้าทายนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดในรัฐบาล แต่เป็นพันธกิจสำคัญที่ต้องทำ เพราะต้องสรรหาบุคลากร ที่มีประสิทธิภาพมานั่งในตำแหน่งสำคัญ ที่ต้องเข้าใจโลก เข้าใจเศรษฐกิจ ต้องทำงานร่วมกับหลายกระทรวง และธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ต้องย้ำกันแบบนี้เพราะล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ออกมาประเมินแล้วว่าภูมิภาคเอเชียเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์
ทั้งๆ ที่ก่อนโควิดระบาด เศรษฐกิจเอเชียสดใสมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปี 2562 ขยายตัว 5.1% เอดีบีคาดว่าภูมิภาคนี้จะฟื้นตัวในปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัว 6.8% แต่วันนี้ นอกเหนือจากโควิด ยังมีปัจจัยเชิงลบอื่นๆ ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เพิ่มมากขึ้น และความผันผวนทางการเงินที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดที่ยาวนาน ในภาพรวมเช่นนี้เศรษฐกิจเอเชียเข้าสู่ขาลงเป็นวงกว้าง เกือบ 3 ใน 4 ของภูมิภาคคาดว่าจะหดตัวในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 60 ปี
เราเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างรัฐบาล และยังหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้นั้น ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ ศบศ.เป็นหลัก เพื่อแก้อุปสรรคการแบ่งรองนายกฯกำกับด้านเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องทำงานเกาะติดรายละเอียดรายวันนั้น มีความจำเป็นในยุคปัจจุบัน เพราะโครงสร้างของปัญหามีความละเอียดอ่อนซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นที่ต้องใช้รัฐมนตรีว่าการเศรษฐกิจที่เข้าใจและเกาะติดในรายละเอียด ก่อนที่จะนำเสนอมาตรการเข้าสู่การพิจารณาของ ศบศ.หรือ คณะรัฐมนตรี
นอกจากการเร่งหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เหมาะสมแล้ว การโฟกัสมาตรการหรือการให้ความสำคัญกับปัญหาใดก่อนนั้น ถือว่าจำเป็น หากถามว่าอะไรที่น่าห่วงทางเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าหรือการจัดหนี้ที่ตอนนี้มาขอพักหนี้ไว้แล้วจำนวนมาก ดังนั้นต้องมานั่งประเมินว่า หากปล่อยตรงนี้ออกมาจะกระทบหนี้มากน้อยแค่ไหนข้อเสนอของภาคเอกชน ให้พักหนี้ต่อไปอีก 2 ปี มีความจำเป็นแค่ไหน เงินทุนสถาบันการเงิน จะรองรับได้เพียงพอหรือไม่หากหนี้เสีย พุ่งเกิน 10% หรือเหมาะสมหรือไม่เรื่องจ่ายปันผลของสถาบันการเงิน ในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เข้าใจเพื่อทำงานร่วมกับแบงก์ชาติ