‘บำรุงราษฎร์’ ดูแลสุขภาพองค์รวม ดันไทยสู่ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลก
Global COVID-19 Index (GCI) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 จาก 184 ประเทศทั่วโลกในการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุด จึงเป็นจังหวะดีในการเดินหน้าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism)
ข้อมูลการจัดอันดับของ Global Wellness Institute รายงานว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยติดอันดับ 13 ของโลก สามารถสร้างรายได้มากกว่า 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ The International Healthcare Research Center (IHRC) ระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ของประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลก
โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ร้อยละ 38 ของจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด และตลาดมีแนวโน้มเติบโตราวร้อยละ 14 ต่อปีสะท้อนให้เห็นถึงความได้เปรียบในการแข่งขันด้าน Medical Hub ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศ โดยมีผู้ป่วยต่างชาตินิยมเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย 5 อันดับแรก คือ กลุ่มตะวันออกกลาง 12.5% เมียนมา 8.7% สหรัฐฯ 6.2% สหราชอาณาจักร 5% และญี่ปุ่น 4.9% ตามลำดับ
ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร (CEO) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีเป้าหมายเพื่อการขยายสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Destination) ในระดับโลก ภายในปี 2565 มุ่งสู่การรักษาในขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) ซึ่งเป็นระดับการให้การบริบาลทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนอย่างมากด้วยนวัตกรรมขั้นสูง และด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสากล รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างครอบคลุม
โดยโรงพยาบาลมี core competencies หรือจุดแข็ง 3C ได้แก่
1. Critical care การให้การบริบาลผู้ป่วยในภาวะวิกฤต
2. Complicated disease ดูแลรักษาโรคยากที่มีความซับซ้อน
3. Cutting-edge technology ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย
ที่สำคัญบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรอง Global Healthcare Accreditation's Certification of Conformance with COVID-19 Guidelines for Medical Travel Programs ซึ่งได้การรับรองมาตรฐานโดย GHA ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา (GHA เป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานสากลเพียงหน่วยงานเดียวที่เน้นให้การรับรองผู้ให้บริการด้านการเดินทางเพื่อการแพทย์เท่านั้น) ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยเป็นความหวังและที่พึ่งของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งผู้ป่วยจากทุกแห่งทั่วโลกได้มอบความไว้วางใจให้แพทย์ไทยได้ดูแล นับเป็นความภาคภูมิใจของการแพทย์และวงการสาธารณสุขไทย และเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่สร้างความเชื่อมั่นในด้าน Medical Tourism ให้กับประเทศไทย
ทั้งนี้ ปัจจัยในการตัดสินใจเดินทางเข้ามารับการรักษาของผู้ป่วยต่างชาติ เป็นเพราะความเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษาโรคซับซ้อนในระดับจตุตถภูมิ หรือ quaternary care ของประเทศไทย มาตรฐานใกล้เคียงโรงพยาบาลในยุโรป ทั้งเรื่องความชำนาญการของแพทย์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย การเข้าถึงแพทย์ ระยะเวลาในการรอคิวที่สั้น และค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าประเทศอื่น ๆ
เช่น กระบวนการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน ในสหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายสูงถึง $92,000 เหรียญ (หรือประมาณ 2.8 ล้านบาท) แต่จะเหลือประมาณ $35,000 เหรียญ (ประมาณ 1 ล้านบาท) ในประเทศไทย หรือแม้แต่การผ่าตัดข้อเข่าเทียมในสหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายสูงถึง $28,000 เหรียญ (หรือประมาณ 8.6 แสนบาท) แต่จะเหลือประมาณ $14,000 เหรียญ (ประมาณ 4.3 แสนบาท) ในประเทศไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่นิยมเดินทางมารักษาโรคเฉพาะทาง ตรวจสุขภาพ บริการด้านการชะลอวัย และศัลยกรรมความงาม ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2560 มีผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการในไทย จำนวนทั้งสิ้น 4.23 ล้านราย (ครั้ง) ในส่วนของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในแต่ละปีให้บริการผู้ป่วยกว่า 1.1 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มาจากประเทศต่างๆ กว่า 190 ประเทศทั่วโลก โดยในปี2562 โรงพยาบาลฯ ให้บริการผู้ป่วยต่างชาติถึง 632,000 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 57 ของผู้ป่วยทั้งหมดของโรงพยาบาลฯ กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่สำคัญอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV และกลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council)
“โครงสร้างค่ารักษาพยาบาลถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการแข่งขันสู่ Medical Hub ในระดับโลก เอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรม Healthcare ในประเทศไทย กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย”ภญ.อาทิรัตน์กล่าว
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพในระดับโลก ซึ่งจากประสบการณ์การดำเนินการมากว่า 40 ปี บำรุงราษฎร์ได้เตรียมความพร้อมในเรื่อง บุคลากร องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี
รวมถึงได้มีการพัฒนายกระดับการให้บริการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับ new normal และพฤติกรรมของผู้มารับบริการที่เปลี่ยนไปอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เช่น การแยกพื้นที่บริการเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ, บริการ teleconsultation, บริการ Homecare Services หรือชื่อว่า Bumrungrad @ Home Service Center เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ป่วยและครอบครัวถึงบ้าน และบริการ “60 Second Service” เพื่อให้บริการขั้นพื้นฐาน เช่น ฉีดวัคซีน และรับยา ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย และ ปลอดภัย
นอกจากนี้ เราได้เล็งเห็นเทรนด์ของโลกในด้าน Wellness ทางโรงพยาบาลร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ซึ่งเป็นศูนย์สุขภาพการแพทย์เชิงป้องกันและเวชศาสตร์ชะลอวัยในภูมิภาคเอเชีย ที่มีประสบการณ์ เกือบ 20 ปี เพื่อให้การดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ตามแนวคิดการแพทย์แบบผสมผสานแบบองค์รวม ทั้งในด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน (conventional medicine) และการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Medicine) โดยมีบริการ การตรวจวิเคราะห์ เชิงลึก ระดับพันธุกรรม เพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรคในอนาคต รวมถึงวางแผนการดูแลรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรฐานและคุณภาพระดับสากล
ล่าสุด ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ในเครือของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในฐานะศูนย์ดูแลสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย และเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก DNVGL’s ในด้านคุณภาพระดับสากล ร่วมกับบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด (มหาชน) เปิดตัว RAKxa (รักษ) ศูนย์บูรณาการดูแลสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตามนโยบาย อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub เป็นนโยบายของประเทศไทยในการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน
"โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ไม่หยุดพัฒนาเพื่อต่อยอดในเชิงการแพทย์ ช่วยพลิกฟื้นวิกฤตหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่มรายได้ดี ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เป้าหมายสูงสุด คือการสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการกลับเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ยกระดับให้ประเทศไทยกลายเป็น World-Class Medical & Wellness Destination ของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลก หลังโควิด-19 คลี่คลายลง และช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้อีกครั้ง” ภญ. อาทิรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ โรงพยาบาลฯ ยังได้สร้างภาพยนตร์สั้น ชื่อเรื่อง ‘Local Hero’ ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของการดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติรายหนึ่ง ที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงและไม่มีโอกาสได้รับการรักษาในประเทศของเขา เนื่องจากข้อจำกัดในสถานการณ์โควิด-19 และในที่สุดผู้ป่วยรายนี้ก็ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอและตัดสินใจเดินทางเข้ารับการรักษายังประเทศไทย ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
นอกจากจะเป็นเรื่องของความรักและความหวังในการมีชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการช่วยเหลือผู้ป่วยรายหนึ่งให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีชีวิตรอด ด้วยหลักมนุษยธรรม อันเป็นการตอกย้ำในเรื่องศักยภาพทางการแพทย์และการบริบาลผู้ป่วยของไทย ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของไทยในด้าน World Class Medical Destination เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ได้เริ่มเผยแพร่ทางช่องทางของโรงพยาบาลฯ ทั้งในและต่างประเทศแล้ว