เกาะติดเส้นทางพายุ 'โนอึล' เข้าไทยแล้ว! จังหวัดไหนกระทบบ้าง?

เกาะติดเส้นทางพายุ 'โนอึล' เข้าไทยแล้ว! จังหวัดไหนกระทบบ้าง?

เกาะติดเส้นทางพายุ "โนอึล" จากโซนร้อนลดระดับสู่ดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศ พร้อมเปิดพื้นที่ต้องระวังทั่วประเทศ

เกาะติดเส้นทางพายุ "โนอึล" กับนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุดวันนี้ (18 กันยายน 2563) เมื่อเวลา 14.00 น. ได้รายงานสถานการณ์พายุระดับ 3 (โซนร้อน) "โนอึล" ว่าพายุโนอึลได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ววันนี้ เมื่อเวลา 14.00 . ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 ที่มีความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ฟิลิปปินส์ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ จนเข้าพื้นที่ของเวียดนามเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เวลา 07.00 เคลื่อนตัวผ่าน สปป.ลาว

ขณะนี้เคลื่อนตัวด้วยความเร็วรอบศูนย์กลาง 65 กิโลเมตร (กม.)/ชั่วโมง (ชม.) เป็นโซนร้อน ซึ่งเมื่อปะทะเข้าประเทศไทยยังคงเป็นโซนร้อน และจะเปลี่ยนเป็นระดับสองที่เป็นดีเปรสชัน เพราะระดับความเร็วรอบศูนย์กลาง 65 กม./ชม. เมื่อเปลี่ยนเป็น 64 กม./ชม. ก็กลายเป็นดีเปรสชั่นแล้ว ทั้งน้ีขณะนี้มีการขยับตัวลงมานิดนึง เนื่องจากถูกความกดอากาศต่ำ หรือมวลอากาศเย็นทางเหนือดันลงมา ทำให้ต่ำจากแนวที่คาดการณ์ไว้ ส่วนการเคลื่อนตัวของพายุที่เข้ามาอยู่ที่ 50 กม./ชม. และเคลื่อนตัวตลอด เชื่อว่าไม่เหมือนพายุโพดุลในอดีต

160042778113

"ขณะนี้พื้นที่ที่น่าห่วงใย คือ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ หรือพื้นที่ที่รองรับน้ำ เช่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ เนื่องจากลุ่มน้ำยังแค่ฝนตกธรรมดาที่มีไหลตามปกติก็รองรับไม่ไหวแล้ว"

ทั้งนี้จากการรายงานของอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา สรุปเส้นทางของพาย "โนอึล" ดังนี้

  • พายุเข้าประเทศไทยแล้วที่ จ.มุกดาหาร รอยต่ออำนาจเจริญ ความรุนแรงลดลงระดับจากโซนร้อนสู่ดีเปรสชั่น
  • เส้นทางเดินของพายุต่อไปคือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู ชัยภูมิ

  • เมื่อเข้าสู่ เพชรบูรณ์ ลดระดับเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ
  • หลังจากนั้นเคลื่อนตัวสู่พิษณุโลก สุโขทัย ตาก
  • สลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกระจายตัวในพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลต่อภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะนครสวรรค์ ฝนตกหนักมาก รวมถึงภาคเหนือตอนล่าง เช่น อุตรดิตถ์ พิจิตร ตาก อีกทั้งกรุงเทพฯ ภาคกลาง เช่น ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไล่เรียงจาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

  • ได้รับผลกระทบตั้งแต่เมื่อวาน (17 กันยายน 2563) ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบตั้งแต่หลังจากเที่ยงคืนจนถึงเช้าของวันนี้ และจะต่อเนื่องไปจนถึงวันพรุ่งนี้ มีปริมาณฝนเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายพื้นที่มีฝนเกิน 100 มิลลิเมตร บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังและน้ำรอการระบาย 
  • ฝนตกในทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นฝนตกหนักมาก ยกเว้น 3 จังหวัดที่อยู่ตอนบน เช่น บึงกาฬ หนองคาย และอุดรธานี

  • อ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่สามารถรองรับน้ำได้ในปริมาณที่เป็นลุ่มน้ำใหญ่ๆ ส่วนลุ่มน้ำตอนล่างน่าจะได้รับผลกระทบบ้าง

ภาคเหนือ

  • เคลื่อนตัวไปในหลายพื้นที่ต่อไป แต่คงไม่เคลื่อนตัวไปพื้นที่ภาคเหนือตอนบน


อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าอีกว่า ซึ่งหลังจากที่เกิดปรากฏการณ์นี้ ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง เนื่องจากเส้นทางการไหลของน้ำยังอยู่ในพื้นที่ที่รองรับน้ำ พื้นที่ราบลุ่มต่ำ หรือพื้นที่ทางน้ำไหลผ่านต้องระมัดระวังมวลน้ำจากพื้นที่ที่อยู่ทางตอนเหนือที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำของบริเวณนั้น เช่น สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งอิทธิพลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ซึ่งทำให้ชายฝั่งทะเลอันดามันหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต พังงา ระนอง เป็นต้น จะได้รับผลกระทบคลื่นทะเลสูง 4 เมตร คลื่นลมทะเลแรงทั้งสองฝั่ง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ทางด้านจันทบุรีเป็นด้านที่รับลม จึงทำให้จันทบุรี ตราด และหลายจังหวัดทั่วทุกพื้นที่มีฝนตกหนักและหนักมาก ซึ่งภาพรวมจะเป็นอย่างนี้จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2563