อุตฯ 'ซีฟู้ด' จากนอร์เวย์ มั่นใจดีมานด์ไทยฟื้น

อุตฯ 'ซีฟู้ด' จากนอร์เวย์ มั่นใจดีมานด์ไทยฟื้น

อุตอาหารทะเลนอร์เวย์ เผยยอดส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.ค.- ส.ค.63 รวม 7.8 พันล้านบาท ชี้ตลาดในไทยเริ่มฟื้นตัว พบผู้บริโภคปรับตัวเกิดเทรนด์ซื้อสินค้าทำเองที่บ้าน เร่งจับมือพันธมิตรรุกการตลาดออนไลน์

นายอัสเบรียน วาร์วีค เรียด์ไทวด์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เปิดเผยว่า นอร์เวย์เป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลอันดับ 2 ของโลก โดยแต่ละปีมีการส่งออกเป็นมูกค่ามากกว่า 1.7 แสนล้านโครนนอร์เวย์ ในปริมาณ 2.7 ล้านตัน และหากเทียบกับอาหารต่อมื้อก็สามารถผลิตได้ประมาณ 36 ล้านมื้อ ขณะที่ตัวเลขส่งออกเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไต้หวัน ตัวเลขส่งออกตั้งแต่ ม.ค. - ส.ค.2563 พบว่ามีมูลค่าสูงอยู่ที่ 2.3 พันล้านโครนนอร์เวย์ หรือราว 7,870 ล้านบาท ลดลงราว 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากสถานการณ์โควิด -19

อย่างไรก็ดี หากแยกเป็นรายประเทศ จะพบว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการนำเข้าอาหารทะเลนอร์เวย์ลดลงมากที่สุด เนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด -19 รุนแรง ขณะที่ตลาดแนวโน้มการนำเข้ายังดีต่อเนื่อง คือไทยและเวียดนาม โดยเฉพาะไทยที่ภาพรวมการนำเข้าลดลงไปเพียง 12% ซึ่งพบว่าการนำเข้าปลาแซลมอนสด ลดลง 12% แซลมอนแช่แข็ง ลดลง 5% ในขณะที่การนำเข้าในส่วนของเทร้าท์สด กลับเพิ่มขึ้น 28% และส่วนของเทร้าท์แช่แข็ง ลดลง 59% โดยคาดการณ์ว่าปริมาณนำเข้าที่ลดลง นัยยะสำคัญคือในช่วงของการปิดเมือง ที่โรงแรมและร้านอาหารได้รับผลกระทบทำให้ยอดตกไปบ้าง

"เริ่มเห็นสัญญาณบวกกลับมาในช่วงวีคที่ 16 ซึ่งการที่ดีมานด์ลดลง ก็คงเป็นเพราะผลกระทบการหายไปของจำนวนนักท่องเที่ยว เมื่อ 6-7 เดือนที่ผ่านมา แม้การบริโภคในร้านอาหาาจะลดลง แต่ตอนนี้ดีมานด์การนำเข้าของไทยก็กลับมาสูงแล้ว ซึ่งเห็นเทรนด์ใหม่เกิดขึ้น คือ คนไทยนิยมซื้ออาหารทะเล ซื้อปลาสดนอร์เวย์จากซุปเปอร์มาร์เก็ตกลับไปประกอบอาหารเองที่บ้าน ทำให้สามารถชดเชยยอดการบริโภคในร้านอาหารที่ลดต่ำลงได้"

นายอัสเบรียน ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่สำคัญในการส่งออกแซลมอนนอร์เวย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอยู่ตลอดแม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 และจะยังคงเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเทรนด์ความต้องการบริโภคอาหารทะเลที่ผู้บริโภคปรับตัวซื้อสินค้าไปประกอบอาหารเองที่บ้าน ทำให้ NSC มองกลยุทธ์ในปี 2563 ที่เหลือ และปี 2564 โดยทำกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อสร้างตัวตนทางออนไลน์ผ่านทางการร่วมมือกับสื่อและแคมเปญภาคธุรกิจค้าปลีกสู่ผู้บริโภค (B2C) อาทิ ธรรมชาติซีฟู้ดส์ คู่ค้าในประเทศของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์

"ตลาดไทยสำคัญ ปีนี้เราต้องเร่งทำโซเชียลมีเดีย เน้นสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงแหล่งที่มาของอาหาร เพราะเราได้สำรวจมาแล้วว่า 80% คนไทยต้องการทราบถึงแหล่งที่มาของอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่านอร์เวย์เป็นแหล่งที่มาของแซลมอนที่แท้จริงที่เลือก และเมื่อทำสำรวจ ก็ยังพบว่าทำไมแหล่งที่มาจึงสำคัญ เพราะการทราบของแหล่งที่มาทำให้คนไทยยอมจ่ายในราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ได้ของที่ทราบถึงแหล่งที่มา มีความเชื่อมั่นในอาหาร"

ทั้งนี้ เป้าหมายการส่งออกอาหารทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไต้หวัน ในปี 2563 NSC ยังคงประเมินว่าจากการปรับตัวของผู้บริโภคในการซื้ออาหารทะเลเพื่อประกอบอาหารที่บ้านนั้น จะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน ที่มีการเติบโต 34% และในปี 2564 จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในส่วนของประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี แต่จะขยายตัวอย่างไรนั้น ต้องรอดูเทรนด์ของนักท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย

นางศันสนีย์ แกทเทนบี้ เดวี่ส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ธรรมชาติซีฟู้ดส์ กล่าวว่า ธรรมชาติซีฟู้ดส์ เปิดมา 13 ปี ปัจจุบันมีเคาน์เตอร์ซีฟู้ดส์ 150 สาขาทั่วประเทศ ร้านอาหาร 20 สาขาทั่วประเทศ ฟู้ดส์เซอร์วิส 102 ราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ธรรมชาติซีฟู้ดส์ส่งสินค้าอาหารทะเลให้ รวมทั้งยังมีร้านซีฟู้ดส์ออนไลน์อีกด้วย โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 เนื่องด้วยผู้คนระมัดระวังในการเลือกทานมากขึ้น และคำนึงถึงประโยชน์เชิงสุขภาพ เช่น อาหารสามารถช่วยป้องกันโรคได้ สร้างความปลอดภัยให้ตนได้ แหล่งที่มาของอาหารที่เชื่อถือได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ส่งผลให้การปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา ธรรมชาติซีฟู้ดส์จึงปรับตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อรองรับเทรนด์การบริโภคใหม่ๆ ปรับกลยุทธ์ทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่และกำลังเป็นกระแส อีกทั้งยังใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นแหล่งของดาต้า และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกว่าคนไทยต้องการสิ่งใดในขณะนี้ ทำให้สามารถนำเสนอไอเดียต่างๆ เพื่อจูนกับลูกค้าได้ตลอด และส่งผลให้ยอดขายของธรรมชาติซีฟู้ดส์จาก ม.ค.- ส.ค.2563 พบว่า รายได้จากรีเทล ลดลง 9.5% F&B ลดลง 35% ฟู้ดเซอร์วิส ลดลง 19% แต่ในขณะที่ช่องทางออนไลน์ เพิ่มขึ้น 189%