จ่อฟัน 16 คนเอี่ยวม็อบ - ถก 6 ญัตติแก้รธน.ส่อยืด ส.ว.ชงตั้งกมธ.ยื้อโหวตวาระแรก
สั่งชุดสืบสวนไล่ตรวจกล้องวงจรปิด ฟันผู้จัด-แนวร่วม ม็อบ 19 ก.ย. แบ่ง3กลุ่ม 16 คนเข้าข่ายความผิด รวมสำนวนปักหมุดสนามหลวง ขณะที่ญัตติแก้รธน.ส่อยืด “ส.ว.” ชงตั้งกมธ.ศึกษา-ยื้อโหวตวาระแรก ปชป. สวนกลับ ยันวิป 3 ฝ่ายทุบโต๊ะต้องจบวาระแรก 24 ก.ย.
ความคืบหน้าการดำเนินคดีกลุ่มผู้ชมุนุมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดพล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) เปิดเผยว่า การกระทำความผิดในการชุมนุมนั้นเบื้องต้นพบผู้เข้าข่ายกระทำความผิดทั้งหมด 16 คน โดยเเบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตตามพ.ร.บ.การชุมนุม 2.กลุ่มเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม โดยการเชิญชวนมี ทั้งที่เป็นการประกาศปราศรัยบนเวที ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมจริงของวันที่ 19 และ 20 ก.ย.รวมไปถึงการโพสต์ข้อความเชิญชวนทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือเชิงสัญลักษณ์ในโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง และ 3.เป็นกลุ่มคนที่ขึ้นร่วมปราศรัยบนเวที โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการแกะคำพูดปราศรัย บางช่วงบางตอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ให้ชุดสืบสวนไล่ตรวจกล้องวงจรปิดเพื่อนำมาประกอบกับนำหลักฐานจากสื่อมวลชนที่เป็นภาพการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มชุมนุมควบคู่ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันต้องทำคดีให้ครอบคลุม ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่ากลั่นเเกล้ง
ส่วนคดีความที่ทางกรมศิลปากร และสำนักงานเขตพระนครกรุงเทพมหานคร เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ชนะสงคราม ตามความผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 10 ห้ามไม่ให้ผู้ใดซ่อมแซมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือถอนต่อเติมทำลายหรือเคลื่อนย้ายสิ่งใดๆภายในพื้นที่โบราณสถาน และข้อหาทำลายทรัพย์สินของราชการนั้นจะนำรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกัน
นายกฯ ยันไม่ใช่คู่ขัดแย้ง
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่24ก.ย.นี้ว่าเป็นเรื่องของการชุมนุมที่ผ่านมาตนก็ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ต้องดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายต่างๆทุกประการที่มีอยู่
“ผมไม่อยากให้เป็นความขัดแย้งกันต่อไปอีกเพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใครที่ผ่านมาก็ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดกลั้นอดทนเสียสละเรื่องอื่นๆผมก็ต้องของคุณบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยที่ช่วยกันดูแลลูกหลานท่านหลายๆอย่างก็ปรากฎมาให้เห็นแล้วก็เป็นเรื่องของสังคมจะตัดสินวิเคราะห์กันเอง”
นายกฯกล่าวว่าตนว่าวันนี้เราต้องสร้างการเรียนรู้กันให้ม่กขึ้นมีหลักคิดหลักการและเหตุผลในการทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนโดยรวมจะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสประชาชนก็เสียโอกาสไปด้วยนี่เป็นสิ่งสำคัญที่อยากจะฝากพวกเรา
“ไม่มีใครแพ้ชนะหรอกครับสิ่งที่ตามมาคือประเทศเราก็จะเสียหายผมเป็นกังวลตรงจุดนั้นมากกว่า” นายกฯ กล่าว
สว.ชงตั้งกมธ.ศึกษา-ยื้อโหวตรธน.
ส่วนความเคลื่อนไหวก่อนการะประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน6 ญัตติในวันนี้(23ก.ย.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อวางกรอบการพิจารณาของวุฒิสภาว่า ที่ประชุมวิปวุฒิให้สิทธิ์ส.ว.โหวตอย่างอิสระในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งมาจากฝ่ายใด แต่ยอมรับว่าขณะนี้ส.ว.มีความเห็นต่างกันในเรื่องการลงมติ ส่วนจะมีกลุ่มนิสิตนักศึกษามาชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันที่ 24 ก.ย. ยอมรับเป็นความกดดัน แต่ไม่มีผลต่อการลงมติของส.ว.
อย่างไรก็ดีในการประชุมวิปวุฒิมีการรายงานให้ทราบถึงข้อเสนอจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายที่มีข้อเสนอไม่ให้มีการลงมติในวันที่ 24 ก.ย. โดยให้ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพื่อความรอบคอบ ซึ่งตามระเบียบระยะเวลาการศึกษา 45 วัน ซึ่งสามารถใช้เวลาช่วงที่ปิดสมัยประชุมไปพิจารณาหารือ และนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งช่วงเปิดสมัยประชุม วันที่ 1 พ.ย.
“วิรัช”รับรธน.ผ่านรวด6ญัตติยาก
ส่วนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม วิป 3 ฝ่ายโดยยอมรับว่ายากสำหรับการให้ความเห็นชอบญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีบรรจุอยู่ในวาระการประชุม 6 ญัตติ เนื่องจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 84 เสียง ดังนั้นสภาจะต้องชี้ให้เห็นถึงเหตุผลให้ ส.ว.เห็นด้วย โดยแนวโน้มมีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นชอบ ยืนยันว่าไม่มีการส่งสัญญาณจากรัฐบาล
ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเร่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นนั้น ต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีการเร่งรัด ขณะเดียวกันไม่รู้สึกกังวลต่อการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม รวมถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่จะมาชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันนี้24 ก.ย.นี้ด้วย
ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่าในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ไม่มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติเป็นเพียงการเสนอทางออกเท่านั้นว่าควรจะเป็นอย่างไรบ้าง ยืนยันว่าต้องมีการโหวต เพราะทุกคนก็ลงชื่อสนับสนุนในญัตติแล้ว
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการพูดคุยกับ ส.ว. ในการเห็นชอบรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวคิดว่า ไม่จำเป็นต้องไปคุยอะไรมาก เพราะไม่ใช่ผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่คือผลประโยชน์ของประเทศ และสังคม ขอย้ำว่าวันนี้การแก้รัฐธรรมนูญ ต้องแก้เพื่อสังคม ไม่ใช่แก้แล้ว ส.ส. จะได้ หรือส.ว.จะเสีย ส่วนญัตติทั้ง 6 ฉบับจะผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการทั้งหมดหรือไม่ ไม่สามารถประเมินได้ แต่หากญัตติใดไม่ผ่าน ก็จะยื่นอีกในสมัยประชุมหน้า
ไอลอว์ยื่น1แสนชื่อปชช.จี้แก้รธน.
วันเดียวกันกลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ นำรายชื่อประชาชนกว่าแสนรายชื่อ ส่งให้รัฐสภาเพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชน ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใน5ประเด็น1.ที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.เท่านั้น2.ที่มาของส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน3.เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่
4.เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นโดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขและ5.ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มีส.ส.ร. 200 คนที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
“วรงค์” ปลุกปชช.ค้านแก้รธน.
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ค เนื้อหาตอนหนึ่งว่า กลุ่มไทยภักดียืนยันถึงสิทธิของประชาชน16.8ล้านเสียงที่ผ่านประชามติและสถาปนารัฐธรรมนูญปี2560ขึ้นมา จึงขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมส่งมอบรายชื่อ130,000รายชื่อเพื่อเป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่แสดงเจตนารมณ์คัดค้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบกัน23กันยายนนี้เวลา9.00น.ที่หน้าอาคารรัฐสภาใหม่