'Kitchen Therapy' สุขภาพจิตดี เพราะ 'ทำอาหาร' บ่อย

'Kitchen Therapy' สุขภาพจิตดี เพราะ 'ทำอาหาร' บ่อย

ทำความรู้จักแนวคิด "Kitchen Therapy" หรือ "ครัวบำบัด" การผ่อนคลายที่ไม่ใช่แค่อิ่มท้อง แต่ยังช่วยให้ "สุขภาพจิตดี" ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เราอาจเคยได้ยินเรื่องการบำบัดโรคด้วยน้ำ หรือ "วารีบำบัด" การบำบัดจิตใจด้วยธรรมชาติ ฯลฯ นอกจากสิ่งเหล่านี้ยังมีเรื่องใกล้ตัวที่สามารถช่วยบำบัดหรือเยียวยาจิตใจด้โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลๆ หรือไม่ต้องไปสถานบำบัดสุขภาพ เพียงแค่เดินเข้าครัว” 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปทำความรู้จักกับ "Kitchen Therapy" หรือ "ครัวบำบัด" กุญแจดอกสำคัญที่ทำให้คุณหลีดกหนีจากความเหนื่อยล้าสะสม และทำให้หลายเป็นคน "สุขภาพจิตดี" ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หลายคนชอบทำอาหารรับประทานเอง แม้ว่าอาชีพการงานของพวกเขาจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับด้านอาหารเลยก็ตาม (พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่เชฟหรือพ่อครัว) สาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้ขลุกอยู่กับครัวทุกครั้งที่มีเวลาว่าง หรืออยู่ในห้วงวันหยุดสุดสัปดาห์ นั่นเป็นเพราะ "ห้องครัว" และ "อาหาร" ทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย หายเหนื่อย แม้หลายคนจะส่ายหัวและมองว่าการทำอาหารเป็นเรื่องเหนื่อยหนัก

"หลังวันทำงานอันยาวนาน หนึ่งในวิธีที่ฉันชอบที่สุดในการผ่อนคลายคือการหั่นผักสำหรับมื้อเย็น การสับมีดลงกับเขียงทำให้จิตใจของฉันสงบลงและปลอบประโลมจิตวิญญาณ การทำอาหารคือการทำสมาธิ และหลังจากนั้นเราจะได้รับประทานอาหารที่ดี"

Ellen Kanner นักเขียนด้านอาหารผู้เขียนบทความเรื่อง Feeding the Hungry Ghost กล่าวใน Phychology Today ถึงสาเหตุที่เธอกลายเป็นคนรักการทำอาหารตัวยง จนต้องเข้าครัวทำอาหารกินเองหลังเลิกงานเป็นประจำ เพราะเธอสัมผัสถึงพลังบำบัดเวลาเข้าครัวมานานแล้ว

“การเตรียมอาหารไม่เหมือนอย่างอื่นที่ฉันทำในแต่ละวัน มันเป็นการบำรุงและเป็นศูนย์กลางที่ทำให้ฉันชะลอตัวและมีสมาธิ” เอลเลน แคนเนอร์ กล่าว

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับ เอลเลน แคนเนอร์ แต่ยังยืนยันได้ในทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันการบำบัดด้วยการทำอาหารเป็นวิธีการรักษาที่คลินิกสุขภาพจิตและในสำนักงานนักบำบัดจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

160224203621_1

"Kitchen Therapy" หรือ "ครัวบำบัด" หรือ "การบำบัดด้วยการทำอาหาร" ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภาวะสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่หลากหลาย รวมถึงภาวะซึมเศร้า, ความวิตกกังวล, ความผิดปกติของการกิน, สมาธิสั้น, และการเสพติดต่างๆ 

แน่นอนว่า "Kitchen Therapy" ไม่ใช่แค่เดินเข้าไปในครัวแล้วหยิบอาหารมากิน แต่หมายถึงการ "ปรุงอาหาร" หรือ "ทำอาหาร" ด้วยตัวเอง เพื่อรับประทานเอง หรือรับประทานกับครอบครัว "ครัวบำบัด" จะช่วยบำรุงสุขภาพจิตใจของผู้ที่จดจ่ออยู่กับมันในทุกๆ กระบวนการ เริ่มตั้งแต่การหาวัตถุดิบ เตรียมวัตถุดิบ ปรุงอาหาร ชิมรส และรับประทานอาหาร โดยสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนหลังจากบำบัดจิตใจด้วยการทำอาหาร พบว่ามีข้อดีมากมาย ดังนี้

  • ช่วยคลายเครียด 

การพยายามจดจ่อในกระบวนการทำอาหารอาจไม่ได้ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้โดยตรง แต่จะเกิดในทางอ้อม เมื่อคุณจดจ่อกับช่วงเวลานี้คุณจะไม่ครุ่นคิดถึงเรื่องราวในอดีต หรือกังวลเกี่ยวกับปัญหาในอนาคต นับเป็นอีกหนึ่งการบริหารจิต ที่ช่วยให้มีสติ ช่วยลดความเครียดในชีวิตได้แบบบางคนอาจไม่รู้ตัว

Jackson Connor อธิบายไว้ใน galoremag ว่า “การทำอาหารช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลได้แทบจะในทันที อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม.. ความรู้สึกง่ายๆ ของการมีเนื้อสัตว์และผักที่ร้อนระอุบนกระทะก็ส่งผลกระทบต่อฉันในระดับอารมณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

ยิ่งไปกว่านั้นการบำบัดด้วยการทำอาหาร ยังช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ สะท้อนจาก Norman Sussman ผู้อำนวยการโครงการรักษาอาการซึมเศร้าที่ NYU School of Medicine เขาอธิบายว่า "การพยายามมีส่วนร่วมกับคนที่รู้สึกหดหู่ ด้วยการทำอาหารเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม ในช่วงเวลาที่คุณลงมือทำอาหารจะช่วยหลีกเลี่ยงสภาวะซึมเศร้าได้จริงๆ เช่น ความเฉื่อย, การขาดพลังงาน, การขาดโฟกัส, การขาดความสนใจ" 

160224203621

  • ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ความภูมิใจ 

คนที่ชอบทำอาหาร มักจะมีทักษะในการทำอาหารเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และผลพลอยได้ที่จะตามมาจากการเข้าครัวบ่อยๆ อีกอย่างก็คือ ทำให้มี "ความคิดสร้างสรรค์" มากขึ้นตามไปด้วย เกิดทักษะในการคิดเมนูอาหารใหม่ๆ จากวัตถุดิบที่จำกัด การปรุงแต่งรสชาติทีเหมาะสมได้โดยไม่ต้องเปิดสูตร รวมไปถึงการจัดจานที่น่ารับประทานไม่แพ้ร้านอาหารที่ช่วยกระตุ้นให้คนร่วมโต๊ะมีความสุขตามไปด้วย

Ellen Kanner บอกอีกว่า "ผู้คนเริ่มเบื่อกับการทำสูตรอาหารที่พยายามทำให้มันออกมาเหมือนในช่องสอนทำอาหาร ไม่มีใครบอกว่าคุณจำเป็นต้องทำแบบนั้น จงสนุกกับกระบวนการนี้และไม่ต้องกังวลกับความสมบูรณ์แบบ"

นั่นหมายความว่า การทำอาหารคือการเรียนรู้ การลองผิดลองถูก ยอมรับความผิดพลาด และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ ซึ่งแน่นอนว่าซอฟต์สกิลเหล่านี้จะช่วยให้คนที่ทำอาหารบ่อยๆ นำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ได้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น สุขภาพจิตของคนที่ทำอาหารเองจะดีขึ้นอีก เมื่อรู้สึกพอใจกับอาหารที่ทำ และได้รับคำชมเชยจากคนที่ได้ลิ้มลอง ที่ยิ่งกระตุ้นให้อยากทดลองทำอาหารบ่อยๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์​ใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ได้จำกัดแค่ในห้องครัว แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้

  • สุขภาพกายที่ดี 

อาหารดี สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติสร้างให้กายและใจของมนุษย์ทำงานอย่างสอดคล้องกัน คนที่ชอบทำอาหารส่วนใหญ่ รู้ดีว่าวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารแต่ละเมนูมาจากไหน ปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งการปรุงอาหารเอง เป็นทางเลือกที่ทำให้ควบคุมคุณภาพอาหารได้ในราคาที่ต่ำกว่าร้านอาหาร ซึ่งหากทำอาหารได้รสชาติดี ถูกปาก แถมทำจากวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพบ่อยๆ สิ่งที่ตามมาคือสุขภาพกายที่ดี ที่จะส่งเสริมให้สุขภาพจิตใจดีขึ้นตามไปด้วย

เชฟ Mariah Carey และ Pierce Brosnan และผู้เขียน Recipe for a Delicious Life ให้นิยามข้อดีในการทำอาหารในมุมมองของพวกเขาว่า "หัวใจหลักของการทำอาหารคือการทำสมาธิในทุกๆ ขั้นตอน พร้อมกับการรับประกันว่าจะได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นรางวัล" 

160224203615

  •  ความสัมพันธ์ที่ดี 

สิ่งที่อย่างไม่น่าเชื่ออีกอย่างที่ได้จากการทำอาหารบ่อยๆ ก็คือ "ความสัมพันธ์ที่ดี" ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เช่น การทำอาหารร่วมกับคู่หู ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา ลูก หรือเพื่อนร่วมห้อง สามารถกระตุ้นการสื่อสารและความร่วมมือ "การรับประทานอาหารบนโต๊ะหมายถึงการละทิ้งความแตกต่างและความไม่พอใจและมุ่งเน้นไปที่งานที่ทำอยู่" Ellen Kanner นักเขียนด้านอาหารกล่าว 

นอกจากนี้ หากในครอบครัวคุณชอบอาหารไม่เหมือนกัน คุณยังจะได้ฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งขณะคิดเมนูอาหารได้อีกด้วย โดยคุณอาจจะพูดว่า "ฉันรู้ว่าคุณชอบมันฝรั่ง คืนนี้เราจะทำเมนูจากมันฝรั่งกันดีกว่า แต่คราวหน้าฉันอยากให้เรากินควินัว ความปรารถนาที่จะกินในไม่ช้าก็เร็วเป็นแรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพในการประนีประนอม

ยิ่งไปกว่านั้น การแบ่งปันอาหารให้กับเพื่อนร่วมงานหรือคนใกล้ตัว นอกจากจะช่วยฝึกฝีมือในการทำอาหารให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากการช่วยแนะนำเรื่องรสชาติอาหาร หรือขอบคุณน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ด้วย