นับถอยหลัง พ.ย.ลงนาม Rcep เจาะ Geopolitics ภูมิภาค

นับถอยหลัง พ.ย.ลงนาม Rcep เจาะ Geopolitics ภูมิภาค

โค้งสุดท้ายปลายปี กำลังจะมีเหตุการณ์สำคัญที่ชี้ชะตาทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทย ว่าจะยังอยู่บนเวทีการค้าโลกต่อไปได้หรือไม่และอย่างไรด้วย

โค้งสุดท้ายปลายปี กำลังจะมีเหตุการณ์สำคัญที่ชี้ชะตาทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทย ว่าจะยังอยู่บนเวทีการค้าโลกต่อไปได้หรือไม่และอย่างไรด้วย เพราะโลกการค้าหลังโควิด-19 ที่ทำลายซับพลายเชนการผลิตของโลกช่วงที่เกิดการระบาดจนแทบจะเป็นอัมพาต

ทำให้แผนการผลิต การค้า และการลงทุนทั่วโลกจากนี้ จะไม่เพียงพิจารณาแค่ความน่าสนใจการลงทุนจากผลตอบแทนเชิงกำไร การตลาด แต่ต้องมีปัจจัยที่ช่วยปิดประตูความเสี่ยงต่างๆที่จะไม่ทำให้การผลิตหยุดชะงัก ขณะเดียวกันต้องมีแต้มต่อสำหรับการค้าและการลงทุน รวมถึงหากเกิดข้อพิพาทใดๆต้องมีเงื่อนไขกลไกการแก้ปัญหานั้นๆไว้ด้วย 

ช่วงเดือนพ.ย. ในโอกาสที่เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพิษโควิดทำให้การประชุมจะต้องเป็นรูปแบบออนไลน์  และกำหนดการบางอย่างอาจต้องตัดทิ้ิงออกไปแต่กำหนดการหนึ่งที่จนถึงนาทีนี้ยังได้รับการยืนยันจากทุกฝ่ายว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่นอนคือ การลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป

“รูปแบบจะเป็นการส่งเอกสารข้อตกลงอาร์เซ็ปให้แต่ละประเทศเวียนลงนามกันจนครบจำนวน คือ 15 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ยกเว้นอินเดียทำให้ข้อตกลงจะเป็นลักษณะ 15 ชาติบรรลุข้อตกลงกันไปก่อน แต่จะเปิดช่องเพื่อให้อินเดียสามารถเข้าร่วมได้ในภายหลัง” อรมน ทรัพย์ทวีธรรมอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

แม้การบรรลุข้อตกลงแบบไม่มีอินเดียอยู่ด้วยจะทำให้ความน่าสนใจของอาร์เซ็ปลดลง เพราะทั้งด้านจำนวนประชากร และมูลค่าจีดีพีจะลดลงไปแต่โดยภาพรวมอาร์เซ็ปยังมีความน่าสนใจในการค้าและการลงทุนต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือ อาร์เซ็ปจะเป็นจุดเชื่อมโยงซับพลายเชนที่สำคัญของโลก และประเทศไทยจะยึดกลยุทธ์ซับพลายเชนที่สำคัญของโลกไว้ได้ 

160258540230

สำหรับขั้นตอนจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ความเห็นชอบการขอลงนามข้อตกลงฯ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นการพิจารณาของของรัฐสภา หากได้รับความเห็นชอบและให้สัตยาบันข้อตกลงฯก็จะถือว่าจบกระบวนการภายใน

ทั้งนี้อาร์เซ็ปกำหนดว่า ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อ สมาชิกอาเซียน ครึ่งหนึ่งให้สัตยาบันและสมาชิกที่ไม่ใช่อาเซียน (Non-Asean) อีกครึ่งให้สัตยาบัน ดังนั้น กว่าจะมีผลบังคับใช้ได้จริงคาดว่าประมาณครึ่งหลังปีหน้า 

“ตอนนี้อยู่ในขั้นขัดเกลาถ้อยคำ ตัวข้อตกลงฯเมื่อลงนามเสร็จแล้วก็จะแปลเป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ และก่อนหน้านี้ก็ได้ค่อยๆทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเพราะเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้ไทยจะพร้อมใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ทันที”

สำหรับ อาร์เซ็ปนับเป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยจำนวนประชากรเกือบครึ่งโลกจึงเป็นแหล่งผลิตและตลาดรองรับสินค้าที่สำคัญ โดยด้านการผลิตตามข้อตกลงการค้านี้กำหนดให้สามารถใช้แหล่งกำเนิดสินค้า(ROO) แบบสะสมในสมาชิกอาร์เซ็ปได้ จึงเรียกว่า“Made in Rcep” ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพประเทศไทยที่มีความสามารถการผลิตและมีแรงงานที่มีทักษะ สามารถใช้แต้มต่อนี้นำเข้าวัตถุดิบจากอาร์เซ็ปเพื่อมาผลิตและส่งออกโดยมีสิทธิพิเศษทางภาษีภายในสมาชิกฯเป็นข้อต่อรองที่สำคัญนับเป็นการวางกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศในอนาคตที่กำลังมีการแข่งขันสูงและมีเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนที่แตกต่างออกไปจากปัจจุบันมากขึ้น

160258549915

โดยอาร์เซ็ปได้นำประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าในอนาคตมารวมไว้กับข้อตกลงเช่นการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขันทางการค้า จึงถือเป็นข้อกลงที่ทันสมัย เหมาะกับการค้ายุคใหม่

อรมน กล่าวว่าแม้ไทยจะมีอาร์เซ็ปแล้ว แต่ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ก็ยังมีความจำเป็นที่จะมาเสริมแกร่งกลยุทธ์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย เพราะซีพีทีพีพีถือว่าเป็นคนละส่วนของภูมิศาสตร์การเมืองหรือGeopoliticsที่จะซ่อมจุดอ่อนเสริมจุดแข็งของไทยได้ 

อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยกรรมาธิการซีพีทีพีพี ของรัฐสภาได้หารือนัดสุดท้ายเมื่อ วันที่ 7ต.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นจะนำสรุปผลการทำงานเสนอให้ประธานรัฐสภา และเสนอเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลควบคู่กันไป 

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ กำลังร่างพ.ร.บ.กองทุนเอฟทีเอ เพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งมีหลักการให้เป็นกองทุนที่มีเงินหนุนเวียน สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม 

เบื้องต้น อาจเป็นรูปแบบการเก็บภาษีจากผุู้นำเข้าสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีจากข้อตกลงเอฟทีเอ เป็นต้น แต่ต้องระดมความเป็นอย่างรอบด้านก่อน นอกจากนี้ ต้องมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่นๆ เช่นกองทุนที่ดูแลเกษตรต่างๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเสนอเป็นร่างพรบ.ได้ภายในปีนี้ 

ส่วนการเตรียมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ขณะนี้ผลศึกษาผลกระทบใกล้แล้วเสร็จ เตรียมนำเผยแพร่ เพื่อระดมความเห็นต่อไป