‘เอ็มบีเค’เขย่าผังร้านค้าจัดโซนนิ่งครั้งใหญ่รอบ36ปี
เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กางแผนฝ่าวิกฤติ อัดฉีดหลักพันล้านปรับโซนนิ่งร้านค้าครั้งใหญ่รอบ 36 ปี ลดความเสี่ยงพึ่ง “ทัวริสต์” หลังพิษโควิดหายวูบ ระดมพันธมิตรเสริมทัพแม่เหล็กใหม่ ชู “กลุ่มอาหาร” เรือธงขยายฐานลูกค้าชาวไทย วัยรุ่น-คนทำงาน คาดโฉมใหม่สมบูรณ์แบบปี
พิษโควิดส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือมีลูกค้าเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้เช่นเคย และประเมินว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปีกว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ
นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากน่านฟ้าปิด ทำให้นักท่องเที่ยววูบหายจากตลาด ซึ่งปริมาณลูกค้าหมุนเวียนของเอ็มบีเคฯ ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เฉลี่ย 80,000-100,000 แสนคนต่อวัน เป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60-70% โดยปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการ 30,000-40,000 คนต่อวันเท่านั้นเกือบทั้งหมดเป็นชาวไทย
ดังนั้น เอ็มบีเคฯ จึงวางแผนยกเครื่องธุรกิจครั้งใหญ่ด้วยการจัดโซนนิ่ง ปรับเปลี่ยนร้านค้า เพิ่มร้านค้าแม่เหล็กใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารซึ่งพบว่ามีการตอบรับจากลูกค้าที่ดี ทั้งสอดรับสถานการณ์ที่ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายทำให้กลุ่มสินค้าแฟชั่น หรือสินค้าที่ไม่จำเป็น ชะลอตัว
“โควิดหยุดทุกอย่าง เราคงรอให้การท่องเที่ยวกลับมาไม่ไหว ต้องมาเริ่มต้นใหม่กับคนไทย ซึ่งเป็นจังหวะในการปรับตัวครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปีที่เรายังไม่เคยจัดโซนนิ่งอย่างจริงจัง จึงเป็นโอกาสสำคัญในการปรับผังร้านค้า ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ”
ปัจจุบัน เอ็มบีเคฯ มีพื้นที่รวม 140,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ขาย 84,000 ตร.ม. มีร้านค้ากว่า 1,700 ร้านค้า ซึ่งผลกระทบจากโควิดทำให้ร้านค้าราว 10% ต้องปิดให้บริการ ขณะที่เอ็มบีเคฯ ยังให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าโดยลดค่าเช่าในอัตรา 70% ซึ่งจะพิจารณาเดือนต่อเดือนเพื่อประเมินสถานการณ์
สำหรับ การปรับปรุงพื้นที่และจัดโซนนิ่งร้านค้าใหม่ จะทยอยดำเนินการในไตรมาสสุดท้ายนี้ ต่อเนื่องปีหน้า ตั้งแต่ชั้นจี (1) จนถึงชั้น 6 ภายใต้งบประมาณหลักพันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 พร้อมกับสถานการณ์ตลาดและวิกฤติโควิดน่าจะคลี่คลายอย่างชัดเจน ตั้งเป้าหมายปริมาณลูกค้าจะไต่ระดับกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 80,000 คนต่อวันปลายปี 2564
เชื่อว่าจากการปรับปรุงครั้งใหญ่นี้จะดึงดูดลูกค้าเข้าใช้บริการเพิ่มสูงถึง 120,000 คนต่อวันได้ในอนาคตเมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่สัดส่วนลูกค้าจะเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยว 60% ลดเหลือ 50% เท่ากันระหว่างลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ
ระดมพันธมิตร'ร้านอาหาร'แม่เหล็กดึงลูกค้า
นายสมพล กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าคนไทยพบว่าเข้ามาใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสัดส่วน 89% ของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า,รองเท้า,กระเป๋า,เครื่องประดับ) 38% สินค้าอุปโภคบริโภคในท็อปส์ 23% ชมภาพยนตร์/เล่นเกมส์ 21% โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์19% เป็นโจทย์ตั้งในการเร่งเพิ่มกลุ่มร้านอาหารในพื้นที่ชั้นจี และชั้น 2 บริเวณด้านหน้าติดสกายวอล์ค พร้อมขยายเวลาเปิดบริการเริ่มตั้งแต่ 07.00 น. โดยบางร้านมีแผนจะปิดบริการเวลา 05.00 น.เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภครุ่นใหม่
โดยร้านใหม่จะทยอยเปิดให้บริการ อาทิ ทูฟาสต์ ทูสลีพ (too fast too sleep) ให้บริการร้านกาแฟในวันที่16 ต.ค. ศูนย์อาหารอิ่มจัง (Im Jung Food Court) วันที่ 1 พ.ย. ร้านป้อน (PONN) และร้านก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร จะเปิดให้บริการต้นเดือน ธ.ค. ร้านทิมฮอร์ตัน
“ชั้น 2 จากเดิมเป็นร้านแฟชั่นส่วนใหญ่จะถูกปรับเปลี่ยนย้ายไปในโซนใหม่ เปิดพื้นที่ให้ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นเทรนด์นิยมมาทดแทน”
สำหรับชั้น 3 เดิมเป็นร้านแฟชั่น ทอง จิวเวลลี ของที่ระลึก หรือสินค้าชาวต่างชาติ จะถูกพัฒนาและจัดระเบียบให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และจะมีความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาสินค้ายุทธศาสตร์ของไทย เช่น ทุเรียน ในรูปแบบของฮับใหญ่พร้อมกระจายส่งตรงผู้บริโภคถึงประตูบ้าน โดยจะเปิดตัวโครงการในเร็วๆ นี้
ชั้น 4 พื้นที่จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ สินค้าไอทีต่างๆ ยังคงเดิมและมีพันธมิตรใหม่เข้ามาเสริมทัพ เช่น เสียวหมี่ ชั้่น 5 จากร้านเอาท์เล็ต ปรับเป็นโซนเอ็ดดูเคชั่น ศูนย์รวมสถาบันกวดวิชาใจกลางกรุง และชั้น 6 เดิมจำหน่ายของที่ระลึก ปรับเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ
ตั้งแต่ ชั้น 4, 5 และ 6 จะเป็น Learning Hub โดยเริ่มเปิดให้บริการบ้างแล้ว อาทิสถาบัน KPH และจะเปิดเต็มรูปแบบครบ 19 สถาบันในต้นปี 2564 อาทิ ออนดีมานด์ (On demand), Sup K และ ดาวองซ์
ช้อปชิมโชว์ปลุกกำลังซื้อ
เอ็มบีเคฯ ยังได้ดำเนินกลยุทธ์ที่มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ของตลาดในช่วงโควิด-19 ซึ่งบรรยากาศการใช้จ่ายชะลอตัว ล่าสุดเปิดแคมเปญ “ช้อป ชิม โชว์ GO MBK” ครบเครื่องทุกเรื่องความสุขของคนไทยที่เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ตอกย้ำและสร้างการรับรู้ในภาพลักษณ์ (Brand perception) ศูนย์การค้าของคนไทยที่มีร้านค้า สินค้า บริการ และ อีเวนท์ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ และขยายฐานลูกค้าคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา และวัยทำงาน ให้เข้ามาใช้บริการในศูนย์มากขึ้น
โดยจะมีการใช้โซเชียลมีเดียในการทำตลาดเชิงรุกเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการปล่อยไวรัล คลิป (Viral Clip) ชุดมาครับ มาจ๊ะ มา MBK ออกมาช่วยย้ำเตือนแบรนด์ (Remind Brand) ศูนย์การค้าของคนไทยที่มีสินค้าและบริการหลากหลายครบครันเพื่อคนไทย ซึ่งไม่ได้มีจุดแข็งที่รู้จักกันเฉพาะการเป็นศูนย์รวมโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอทีขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นสวรรค์ของ นักช้อป นักชิม ทั้งอาณาจักรเพชรและทอง กล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพร้านอาหารสตรีทฟู้ดชื่อดังจนถึงเชนร้านอาหารยอดนิยม ซึ่งร้านส่วนใหญ่เปิดให้บริการมานานตั้งแต่เปิดศูนย์จนมีลูกค้าประจำทั้งชาวไทยและต่างประเทศ