อัพสปีด 'การลงทุน' ในต่างประเทศด้วย ETF

อัพสปีด 'การลงทุน' ในต่างประเทศด้วย ETF

ส่องมุมมอง "การลงทุนในต่างประเทศ" ผ่าน ETF หลักทรัพย์ประเภทกองทุนรวมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่จะทำให้นักลงทุนเข้าถึงการลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งมีประเภทอะไรบ้าง? แต่ละแบบมีลักษณะการลงทุนอย่างไรบ้าง?

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน เมื่อเดือนที่แล้วผมได้เขียนและยกตัวอย่างให้เห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนในต่างประเทศที่จะช่วยเพิ่มทั้งโอกาสที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนและลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ การช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริหารความมั่งคั่งให้กับพวกเรา

ในคราวนี้ผมจะลงรายละเอียดในเรื่องของเครื่องมือ ที่จะช่วยทำให้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าถึงการลงทุนในต่างประเทศ หรือจะเรียกว่าเกือบทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ทางเลือกในรูปแบบง่ายๆ และค่าใช้จ่ายต่ำ นั่นก็คือ “การลงทุนผ่าน ETF”

Exchange Traded Fund หรือ ETF เป็นหลักทรัพย์ประเภทกองทุนรวมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และสามารถซื้อขายได้ด้วยราคาตลาดระหว่างชั่วโมงทำการของตลาด โดยปกติ ETF จะเป็นการลงทุนประเภทพาสสีพ ที่เน้นการเกาะติดดัชนีเป็นหลัก

อุตสาหกรรมนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยหลักๆ คือ 1.กระแสความนิยมในการลงทุนตามดัชนี 2.ความสะดวกสบายในการซื้อขาย 3.ต้นทุนในการบริหารจัดการที่ต่ำ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ETF รูปแบบใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้นักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยต่างได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

เราลองมาดู ETF ประเภทต่างๆ กันดูครับว่ามีอะไรบ้าง?

ประเภทแรก ผมจัดให้เป็น ETF ที่เกาะติดกับดัชนีทั่วโลก โดยดัชนีที่นิยมใช้เป็นตัวเปรียบเทียบมากสุดดัชนีหนึ่งคือ ดัชนี MSCI AC World หรือดัชนีที่ใช้ติดตามตลาดหุ้นทั่วโลก ตัวอย่างเช่น iShares MSCI ACWI ETF (ACWI) ETF นี้เริ่มจัดตั้ง ตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 2008 ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 12.57 พันล้านดอลลาร์ มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปีแรกที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียงแสนกว่าดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 30 เท่า ค่าใช้จ่ายโดยรวม (Expense Ratio) ของกองทุนนี้อยู่ที่ประมาณ 0.32% ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีของกองทุนนี้ก็ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง ที่ประมาณ 5.76% นอกจากนั้นยังมี ETF ที่เกาะติดดัชนีภูมิภาคหลักๆ ที่เป็นที่นิยมเช่น ตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ตลาดหุ้นยุโรป เป็นต้น

ประเภทที่สอง ได้แก่ ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นรายประเทศ ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นในประเทศอเมริกา เช่น Vanguard Total Stock Market Index Fund ETF Shares (VTI) ซึ่งเน้นลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนี CRSP US Total Market Index ที่ลงทุนในตลาดหุ้นในอเมริกา 100% ทั้งหุ้นขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ทั้งในตลาดหุ้น NYSE และ NASDAQ กองทุนนี้เริ่มจัดตั้ง ตั้งแต่เดือนพ.ค. ปี 2001 ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 937 พันล้านดอลลาร์ มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 2.9 ล้าน มีค่าช้าจ่ายกองทุนต่ำมากเพียง 0.03% มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ 10.8%

ETF ถัดมาเป็นหลักทรัพย์ยอดนิยมที่เกาะติดดัชนี S&P 500 หรือ SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) ซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ เดือนม.ค. 1993 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่สูงถึง 67 ล้านดอลลาร์ และมีค่าใช้จ่ายกองทุนที่ต่ำมากเช่นกันเพียง 0.09% ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี อยู่ที่ 10.35%

ETF ตัวถัดมาก็เป็นหลักทรัพย์ยอดนิยมเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในปีนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 39.17% Invesco QQQ Trust (QQQ) ซึ่งเน้นการลงทุนในดัชนี NASDAQ100 ตามที่เราทราบกันว่าปีนี้กระแสของความนิยมในหุ้นที่อยู่ในดัชนีกลุ่มนี้ได้รับความนิยม จากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ETF นี้มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่สูงมากเช่นเดียวกับ SPY โดยมูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 46 ล้านดอลลาร์ แต่มีค่าใช้จ่ายกองทุนที่สูงกว่า SPY ที่ 0.2%

นอกเหนือจาก ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ แล้วยังมี ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอื่นอีก เช่น Vanguard FTSE Europe Index Fund ETF Shares (VGK) ที่เน้นลงทุนตามดัชนีฟรุทซี่ยุโรป iShares MSCI United Kingdom ETF (EWU) ที่ลงทุนในตลาดหุ้นอังกฤษ iShares MSCI Japan ETF (EWJ) ที่ลงทุนในตลาดหุ้นประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ปัจจุบันเราแทบจะสามารถลงทุนในตลาดหุ้นประเทศใดๆก็ได้โดยผ่าน ETF เช่น ประเทศบราซิล แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ จีน อินเดีย เป็นต้น

ประเภทที่สาม เป็น ETF ที่ลงทุนตามแฟกเตอร์หลักที่ส่งผลต่อผลตอบแทนของตลาดหุ้น เช่น โมเมนตั้ม แวลลู หุ้นขนาดเล็ก หุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เป็นต้น

ประเภทต่อมาเป็นการลงทุนตามกระแสหลัก หรือธีมาติก ซึ่งในช่วงนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนมี บลจ ต่างๆ พากันออกกองทุนประเภทนี้กันซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของพวกเรา เช่น หุ้นกลุ่มไบโอเทค หุ้นกลุ่มอีชอปปิ้ง กลุ่มคลาวด์เทคโนโลยี กลุ่มที่ส่งเสริมการทำงานจากบ้าน

หรือยังมีธีมอื่นที่นิยมอีกมากมายแม้ไม่เกี่ยวข้องกับโควิดก็ตาม เช่น อีสปอร์ต น้ำสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน กัญชา การพนันออนไลน์ เป็นต้นและกลุ่มสุดท้ายคงเป็นสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ น้ำมัน รีทส์ บิทคอยน์ วิก เป็นต้น

ครับท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุนครับ