พาณิชย์เตรียมประชุมกรอ.พาณิชย์ปลายเดือนต.ค.นี้

พาณิชย์เตรียมประชุมกรอ.พาณิชย์ปลายเดือนต.ค.นี้

พาณิชย์ เตรียมประชุมกรอ.พาณิช์ ระดมทุกภาคส่วน เดินหน้าแก้เศรษฐกิจ ดันส่งออกไทยขยายเป็นบวกได้ในปีหน้า ด้านสรท.คาดส่งออกไตรมาส 4 ติดลบน้อยลงกว่าทุกไตรมาส

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้เตรียมนัดประชุม กรอ.พาณิชย์ หรือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ ภายในปลายเดือนต.ค.นี้เพื่อหารือประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพิจารณาแนวทางรับมือเศรษฐกิจในภาวะโรคระบาดโควิด-19 ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยืดเยื้อส่งผลให้การส่งออกกระทบทั่วโลก และการผลักดันการส่งออกของไทย นอกจากนั้นระหว่างนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมการค้าชายแดนที่กระทบจากโควิด-19ระบาดประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ

นางมัลลิกา กล่าวว่า นายจุรินทร์ ต้องการรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมและสนับสนุน และจะได้ร่วมกันแสดงความเห็นแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าการส่งออกที่เป็นปัญหายืดเยื้อมาจากหลายสถานการณ์ระดับโลกนั้นจะเบาบางลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และในปี 2564 นั้นทีมเศรษฐกิจทั้งหมดมุ่งมั่นจะให้สถานการณ์เป็นบวก โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกปี 2564 น่าจะขยายตัว 4 %

ทั้งนี้ได้เร่งรัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ประสานบูรณาการภาคเอกชนที่มีข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายจากการนำไปโรดโชว์ก่อนโควิด-19 ให้เร่งรัดส่งมอบสินค้าให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุดทั้งนี้เพื่อจะได้จัดการกับออเดอร์สินค้าในปีต่อไป

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า คาดว่าปลายเดือนนี้ทางกรอ.พาณิชย์จะมีการประชุมหลังจากที่ได้เลื่อนมาแล้ว ซึ่งจะมีการหารือถึงการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และคาดการณ์การส่งออกในปีหน้า ในส่วนของสรท.เอง มีข้อหารือให้ทางกรอ.พาณิชย์ช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องของการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ปัจจุบันมีหน่วยงานหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียเวลาในการไปทำธุรกรรมด้านเอกสาร จึงอยากขอให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขให้สามารถทำได้เพียงจุดเดียว

ทั้งนี้คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะติดลบน้อยลง ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาการการส่งออกไทยติดลบต่ำกว่า 10 % สถานการณ์เริ่มนิ่ง ซึ่งสินค้าที่มีความจำเป็นเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น