พิษโควิด ฉุดกำไร 9 แบงก์ไตรมาส 3 วูบ 55% มาที่ 2.3 หมื่นล้านบาท เหตุแห่ตั้งสำรองเพิ่มกว่า 6 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์คาดเลือดยังไหลไม่หยุด ไตรมาส 4 ส่อตั้งสำรองเพิ่มรับมือ เอ็นพีแอลพุ่ง
ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ที่ไม่ได้นับรวมธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3ปี2563 มีกำไรสุทธิรวม 23,575 ล้านบาท ลดลง 55.18%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 82,130 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 มีกำไรสุทธิรวม 87,184 ล้านบาท ลดลง 34.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 133,151 ล้านบาท กำไรสุทธิที่ลดลงของกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น เนื่องมาจากการถดถอยของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ 5 อันดับแรกของธนาคารที่กำไรลดลงมาที่สุดในงวดไตรมาส 3ปี2563 อันดับ 1 ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กำไรสุทธิ 81 ล้านบาท ลดลงจาก 360 ล้านบาท หรือลดลง 77% อันดับ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรสุทธิ 4,641 ล้านบาท ลดลงจาก 14,798 ล้านบาท หรือลดลง 68.9% มาจาก 2 ปัจจัย คือ ปีที่แล้วบันทึกกำไรพิเศษจากการขายกิจการ และการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น
อันดับ 3 ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิ 4,017 ล้าบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,783 ล้านบาท หรือลดลง 57.4% อันดับ 4 ธนาคารกรุงไทย กำไรสุทธิ 3,057 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 6,354 ล้านบาท หรือลดลง 51.9% แม้กำไรจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 16% แต่ธนาคารกรุงไทยตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 103% หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 12,414 ล้านบาท และอันดับ 5 ธนาคารกสิกรไทย แสดงกำไรสุทธิ 6,678 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 9,951 ล้านบาท หรือลดลง 32.8% อย่างไรก็ตามหากเทียบไตรมาสก่อนหน้า ธนาคารกสิกรไทยกำไรเพิ่มขึ้น 207%
ส่วนภาพรวมการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) รอบ 9 เดือนพบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 160,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,350 ล้านบาท หรือ 61.8% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบงก์ที่มีการสำรองเพิ่มขึ้นมากสุด ในรอบ 9 เดือน คือ ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ที่สำรองเพิ่มขึ้น 591% หรือรองลงมาคือ ธนาคารทีเอ็มบี สำรองเพิ่ม 129% และ กรุงไทย 87.7%
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ณ สิ้นไตรมาส 3 ทั้ง 9 แบงก์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 474,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71,120 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 17.6% โดยแบงก์ที่มีหนี้เสียคงค้างมากที่สุด คือธนาคารกรุงไทย ที่ 110,662 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8 % ถัดมา ธนาคารกรุงเทพที่ 107,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และกสิกรไทยที่ 96,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9%
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กำไรที่ลดลงส่วนใหญ่มาจาก การระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24% โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากโควิด-19
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้ทำการประเมินคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพื่อทำการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และมีแนวโน้มสูงที่จะฟื้นตัวไม่ได้ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ส่งผลให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% จากมิ.ย.2563 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง จากโควิด-19
ด้านนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลประกอบการธนาคารไตรมาสสุดท้าย ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆไตรมาสที่ผ่านมา แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาฟื้นตัว แต่ยังเปราะบางมาก เพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างส่งออก ท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ดังนั้นประเมินว่าไตรมาสนี้ระบบธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง ที่น่าจะอยู่ระดับสูง จากการตั้งการ์ดของแบงก์เพิ่มขึ้น รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ติดลบต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะเดียวคาดว่า เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ น่าจะสูงกว่าประมาณการที่เคยมองไว้ที่ 3.5% ในสิ้นปี 2563 นี้ จากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น