เปิดสภาสมัยวิสามัญ 'ฝ่ายค้าน' ได้ใจ...'รัฐบาล' ได้หน้า
การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ด้านหนึ่งในแง่ของหลักการอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามองอีกมุมแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น
แม้รัฐบาล ของ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะแก้เกม “ม็อบคณะราษฎร” ที่รวมตัวกันไม่เว้นแต่ละวัน ในรูปแบบของ “ดาวกระจาย” และไม่รู้เป้าหมายชัดเจน ด้วยการใช้กลไกของรัฐสภา ตามที่มีอำนาจ ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ กรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ก็ยังมีคำถามว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
ถ้าว่ากันตามหลักการแล้วการใช้กลไกนี้หลายฝ่ายมีความหวังว่า “เวทีรัฐสภา” คือ ตัวช่วย บรรเทาความระอุของ “วิกฤตการเมือง” ทว่าเมื่อเมื่อพิจารณาให้ดี การชิงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก่อนการเปิดประชุมสภาสามัญตามวงรอบปกติที่จะมีขึ้นไม่กี่วันนั้น หวังผลเพื่อให้ “การชุมนุม เรียกร้อง” หายไป ได้ยากยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการเรียกร้องให้นายกฯลาออก
ไปดูท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ต่อข้อเรียกร้องให้ลาออกนั้นพบว่าได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง แถมยังตั้งคำถามกลับมาว่า "ผมผิดอะไร" ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงท่าทีอันแข็งกร้าวจากฝ่ายผู้มีอำนาจ และยังมั่นใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลควบคุมได้อย่างแน่นอน แม้จะมีการจัดชุมนุมตามสถานที่สำคัญเป็นระยะก็ตาม
ส่วนเงื่อนไขเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ามองจากท่าทีหลายฝ่ายแล้วจะเห็นได้ว่าเริ่มได้รับการตอบสนองมากขึ้น ทั้งจากพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เหลือแต่ส.ว.ที่ยังแสดงอาการเอามือราน้ำอยู่ แต่เชื่อว่าเมื่อถึงที่สุดแล้วภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่กล้า 'ยื้อ' เหมือนที่เคยทำก่อนหน้านี้
เพียงแต่วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอาจไม่ได้เดินหน้ารวดเร็วและตอบสนองความต้องการของม็อบคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาที่จะเดินหน้าได้ในช่วงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้ทันที แต่จะไปลงมือกันอย่างจริงจังในช่วงของการเปิดสมัยประชุมสามัญตามปกติ
ทั้งนี้ เป็นเพราะทุกครั้งของการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะเป็นลักษณะของการประชุมที่จะมีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน และเมื่อรัฐบาลในฐานะผู้ตราพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญ กำหนดไว้เฉพาะการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เท่านั้น เรื่องอื่นๆจึงไม่อาจสอดแทรกเข้ามาได้ ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่สภาเคยถือปฏิบัติกันมา ดังจะเห็นได้จากการประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ โดยเมื่อสภาพิจารณากฎหมายงบประมาณเสร็จสิ้น จะดำเนินการปิดสมัยประชุมทันที
ที่สำคัญ เมื่อมองไปยังขั้นตอนของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนนำโดย กลุ่มไอลอว์ เป็นผู้เสนอเข้ามานั้น ยิ่งตอกย้ำว่าไม่มีทางเลยที่สภาจะลงมติรับหลักการได้ทัน กล่าวคือ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและคัดค้าน ซึ่งจะครอบและต้องรอครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 12 พ.ย. จากนั้นถึงจะบรรจุระเบียบวาระเข้าสภาได้
ในประเด็นนี้ 'สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล' เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า เมื่อครบกำหนดวันที่ 12 พฤศจิกายน คาดว่านายชวนจะเร่งบรรจุวาระ ภายใน 2-3 วัน คือ ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะนำเข้าพิจารณาทันวาระแก้รัฐธรรมนูญที่ยังค้างอยู่อีก 6 ฉบับ
จากภาพรวมที่เกิดขึ้น การเปิดอภิปรายในวันที่ 26-27 ต.ค. จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมจะได้รับการตอบสนองทันที เช่นนี้จึงมีคำถามว่าจะเปิดอภิปรายตามมาตรา 165 เพื่ออะไร
คำตอบที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ การเป็นรูระบายอุณหภูมิให้กับฝ่ายการเมืองทั้งสองฝั่ง โดยฝ่ายการเมืองที่อยู่ข้างกลุ่มผู้ชุมนุมจะได้แสดงบทบาทประหนึ่งการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รวมไปถึงการนำเรื่องละเอียดอ่อนที่กำลังเป็นที่ถกเถียงนอกสภาเข้ามาภายในสภา ขณะที่ รัฐบาลจะได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเรียกคะแนนทางการเมือง
เท่ากับว่าฝ่ายค้านได้ใจมวลชนสามนิ้ว ส่วนรัฐบาลได้เปิดหน้าโต้กลับท่ามกลางแรงเชียร์จากมวลชนเสื้อเหลืองเลือดสีน้ำเงิน เหลือแต่เพียงกลุ่มสามนิ้วบนถนนที่อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆจากการเปิดประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้ และต้องก้มหน้าสู้กับฝ่ายความมั่นคงต่อไป