เมื่อ 'PM 2.5' กลับมาอีกระลอก! คนรัก 'สุขภาพ' รับมือยังไงดี?
"ฝุ่น PM 2.5" ระลอกใหม่กลับมาอีกแล้วในปี 2020 ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลควรเตรียมตั้งรับให้ดี นอกจากสู้กับโควิด-19 แล้ว ก็ต้องพร้อมสู้กับ "ฝุ่นพิษ" ที่อยู่รอบตัวคุณ โดยเฉพาะคนที่ชอบออกกำลังกายด้วยการ "วิ่ง" ต้องรับมือแบบนี้...
นอกจากจะต้องสู้กับ "โควิด-19" แล้ว ในช่วงปลายปี 2020 นี้ ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังต้องพร้อมสู้กับ "PM 2.5" หรือ ฝุ่นพิษ ที่เริ่มมาทักทายคนไทยอีกครั้ง ถือเป็นภัยคุกคาม "สุขภาพ" ของประชาชนในกรุงเทพมหานครอีกระลอก และคราวนี้ก็เริ่มวัดระดับฝุ่น PM 2.5 ได้บางจุดว่าอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว!
โดยวันนี้ (26 ต.ค. 63) เวลาประมาณ 12.00 น. ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบข้อมูลใน Air4thai เว็บไซต์รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย พบว่าคุณภาพอากาศบริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑลบางจุดมีฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับ "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ" (ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ได้แก่
- ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา วัดค่าฝุ่นได้ที่ 51 ug/m3
- ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ วัดค่าฝุ่นได้ที่ 52 ug/m3
- ริมถนนมาเจริญ เขตหนองแขม วัดค่าฝุ่นได้ที่ 51 ug/m3
- ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร วัดค่าฝุ่นได้ที่ 54 ug/m3
- ภัยร้าย PM 2.5 จิ๋วแต่เจ็บจี๊ด!
ขอย้อนกลับไปเล่าถึงความร้ายกาจของ ฝุ่นพิษ "PM 2.5" ฝุ่นพิษ ให้ทราบกันอีกสักครั้งว่ามีผลต่อสุขภาพคนไทยอย่างไรบ้าง? มีข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยอธิบายไว้ว่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ปะปนอยู่ในอากาศ เมื่อเราหายใจเข้าไป ฝุ่นนี้จะสามารถเข้าสู่ปอดและซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่าง มีอาการทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง ได้แก่
- แบบเฉียบพลัน: ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ มักจะมีอาการไอ เจ็บคอ หายใจมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน หรือหากเข้าตาก็จะทำให้เคืองตา ตาแดง และหากโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่นคัน เป็นตุ่มได้
- แบบเรื้อรัง: อาการจะค่อยๆ สะสม แล้วแสดงผลในระยะยาว เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ เส้นเลือดสมองตีบทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต เพิ่มความเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด ฯลฯ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลก
หากคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ และปริมณฑลแย่ลงไปอีก จนถึงขั้นตรวจพบ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานสูงมากๆ แล้วชาวกรุงยังไม่มีการป้องกันฝุ่นที่ถูกต้อง นั่นก็จะเปรียบเสมือนคุณสูบบุหรี่วันละหลายมวนเลยทีเดียว เรื่องนี้ยืนยันได้จาก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักธรรมชาติวิทยาและนักอนุรักษ์ ที่เคยโพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit ที่ระบุว่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ทุกๆ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากสูดหายใจเข้าไปโดยไม่ป้องกันติดต่อกัน 24 ชั่วโมง จะเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวนเลยทีเดียว
- "ฝุ่นพิษ" กลับมาอีกระลอกในปี 2020 ควรดูแลตัวเองยังไง?
ในเมื่อคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ยังคงต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ต่อไป หนีไปไหนไม่ได้ ก็ต้องหาทางหลีกเลี่ยงและป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 ให้ได้มากที่สุด กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เอาไว้ว่า
"ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน"
- คนที่ชอบออกกำลังกาย ยังไปวิ่งได้มั้ย?
ขอขยายความเรื่องการ "ออกกำลังกายกลางแจ้ง" อีกนิด เพราะมีคนกรุงสายสุขภาพหลายคน กังวลว่าสภาพอากาศที่มีฝุ่นพิษปกคลุมแบบนี้ ยังจะสามารถไปออกกำลังกายโดยเฉพาะการออกไป "วิ่ง" ได้ตามปกติหรือไม่? เรื่องนี้เรามีคำตอบจาก นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา เจ้าของเฟซบุ๊ค Akanis Sri Sukwattana ที่เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า สำหรับคนที่ติดการออกกำลังกายทุกวัน จะต้องปรับโหมดการออกกำลังกายใหม่ ในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานแบบนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งคุณหมอมีคำแนะนำ ดังนี้
- ดาวน์โหลดแอปฯ เช็กฝุ่น PM 2.5 ดูค่าฝุ่นวันต่อวัน
- ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 100 Aqi ออกกำลังกาย indoor เท่านั้น
- ขณะออกกำลังกาย indoor แนะนำให้เปิดเครื่องกรองไปด้วย
- ค่าฝุ่น PM 2.5 ต่ำกว่า 100 Aqi ออกกำลังกาย outdoor ได้
- ไม่แนะนำให้ใส่ Mask วิ่ง เนื่องจากจะทำให้เหนื่อยกว่าเดิม แถมไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย
เอาเป็นว่า ช่วงนี้คนกรุงคงต้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวัน ส่วนใครที่อยากออกกำลังกายก็ยังคงทำได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องปรับวิธีการเล็กน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นพิษให้ได้มากที่สุดเพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดในช่วงฝุ่นพิษกลับมาถล่มกรุงแบบนี้
---------------------
อ้างอิง:
facebook.com/Akanis Srisukwattana
facebook.com/rungsrit.kanjanavanit