ย้อนความเฮี้ยน...เพราะอะไร ‘ศุกร์ 13’ หลอนไม่แพ้ ‘ฮาโลวีน’

ย้อนความเฮี้ยน...เพราะอะไร ‘ศุกร์ 13’ หลอนไม่แพ้ ‘ฮาโลวีน’

ต้อนรับ "Halloween 2020" ด้วยการพาไปเจาะลึกอาถรรพ์ "ศุกร์ 13" วันแห่งความซวยและโชคร้าย ที่มีเหตุการณ์ที่ตอกย้ำถึงความอาถรรพ์หลายต่อหลายเหตุการณ์

Happy Halloween 2020 เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี มนุษย์ทั้งหลายล้วนออกมาปล่อยผีกันเต็มท้องถนน ทั้งการแต่งชุดคอสเพลย์ ปาร์ตี้ในกลุ่มเพื่อน และการตระเวน trick or treat ขอขนมละแวกบ้าน กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ "วันฮาโลวีน" เป็นวันที่มีทั้งความสนุกในแบบหลอนๆ กันถ้วนหน้า

แต่นอกเหนือจาก "วันฮาโลวีน" แล้ว เมื่อพูดถึงวันที่ทำให้ชาวยุโรปรู้สึกหลอนจนขนหัวลุกไม่แพ้กัน วันนั้นคงหนีไม่พ้น อาถรรพ์ศุกร์ 13

160391357434

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • สุขสันต์ วันศุกร์ 13?

สุขสันต์ วันศุกร์ 13! ใครได้ยินคำนี้อาจจะมีสะดุ้งกันบ้าง เพราะตัวประโยคช่างขัดกับคำว่าสุขสันต์เหลือเกิน โดยเฉพาะชาวยุโรปหรือผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ เพราะถือว่า วันศุกร์ 13 นี้เป็นวันแห่งความซวย และโชคร้าย แบบที่ไม่ได้อำกันเล่นๆ

อาถรรพ์ศุกร์ 13 ความเชื่อเกี่ยวกับวันและตัวเลขในคริสต์ศาสนา ตามหลักพระคัมภีร์ไบเบิลนั้นไม่ได้มีระบุหรือบอกเล่าว่าศุกร์ 13 เป็นวันแห่งความโชคร้าย แต่วันแห่งความซวยนี้มีที่มาจากการจากการตีความระหว่างคำว่า วันศุกร์ และ เลข 13 ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงถึงศาสนา

วันศุกร์ ถือว่า เป็นวันโชคร้ายของชาวคริสเตียน บางคนเชื่อว่าพระเยซูถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์ บางความเชื่อก็ว่า วันศุกร์เป็นวันที่อีฟชักจูงให้อดัมกินผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน

ขณะที่ลักกี้นัมเบอร์อย่าง 13 ชาวคริสเตียนก็เชื่อว่า เป็นตัวเลขแห่งความโชคร้าย เพราะเลข 13 ไปคล้องกับจำนวนคน 13 คนที่รับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับพระเยซู (last supper) เมื่อความร้ายกาจของวันศุกร์ มารวมกับเลขกาลกิณีอย่าง 13 ก็เลยดูจะยิ่งซวยไปกันใหญ่

160391367132

  • อาถรรพ์วันเฮงซวย

มาถึงตรงนี้ ศุกร์ 13 ไม่ใช่เพียงความเชื่อเท่านั้น เพราะในวันนี้มีเหตุการณ์ที่ตอกย้ำถึงความอาถรรพ์หลายต่อหลายเหตุการณ์ อย่างการเกิดอุบัติเหตุที่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการทำสถิติเกี่ยวกับอัตราการเกิดอุบัติเหตุไว้ในแต่ละวันศุกร์ ซึ่งวันศุกร์ที่ 13 นั้นจะมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าวันอื่นๆ ถึง 52%

160391359356

ย้อนรอยอาถรรพ์วันศุกร์ 13

  • วันศุกร์ ที่ 13 ปี ค.ศ. 1978 เกิดการสังหารหมู่ในอิหร่าน 13 ศพ
  • วันศุกร์ ที่ 13 ปี ค.ศ. 1982 อาร์เจนติน่ายกกองกำลังยึดเกาะฟอร์คแลนด์ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
  • วันศุกร์ ที่ 13 ปี ค.ศ. 1989 บริษัทคอมพิวเตอร์ IBM เสียหายอย่างหนักเพราะโดยไวรัสคอมพิวเตอร์โจมตีระบบ
  • วันศุกร์ ที่ 13 เดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 พายุหิมะชื่อ “Aphid” พัดถล่มเมืองบัฟฟาโล่ รัฐนิวยอร์ค
  • วันศุกร์ ที่ 13 เดือนเมษายน ค.ศ. 2007 เกิดทอร์นาโดหลายลูกพร้อมกันในทางเหนือของเท็กซัส เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ความน่ากลัวของ วันศุกร์13 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งให้ประชาชนหวาดกลัว จนทำให้เกิดโรคที่ชื่อว่า Paraskevidekatriaphobia มาจากภาษากรีก 3 คำคือ วันศุกร์ (Paraskevi) สิบสาม (dekatreis) และความหวาดกลัว(Phobos)

ดร.โดนัลด์ ดอสซีย์ นักจิตวิทยาบำบัดที่ชำนาญด้านการรักษาอาการกลัวบอกว่า เฉพาะในสหรัฐฯ ประเทศเดียวมีคนเป็นโรคผวาศุกร์ที่ 13 เป็นจำนวนมากถึง 21 ล้านคนโดยอาการของผู้ที่เป็นโรคนี้คือการหวาดกลัวต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในวันที่ศุกร์ 13

นอกจากนี้ ศุกร์ที่ 13 ยังทำให้อเมริกาต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นเงินเกือบพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่กล้าเดินทางไปไหน ไม่กล้าทำอะไรไม่กล้าแม้แต่จะไปทำงาน!

  • วัฒนธรรมความซวย

สำหรับความโชคร้าย และความซวย เหมือนว่าจะจงใจเกิดในวันศุกร์ 13 ให้เราได้ขนหัวลุก แต่สำหรับประเทศอื่นๆ หรือในวัฒนธรรมอื่นๆ นั้นตัวเลขแห่งความชั่วร้ายก็ไม่ได้เป็นตัวเลข 13 เสมอไป เช่น ในวัฒนธรรมจีนมีความเชื่อว่า เลข 4 เป็นเลขไม่เป็นมงคลเพราะออกเสียงว่า “si” (ซี้) ซึ่งหมายถึง ความตาย

สำหรับชาวญี่ปุ่นนั้น เลข 4 (เสียงตรงกันความหมายว่าตาย เช่น จีน) กับ เลข 9 (เสียงตรงกับความหมายว่าเจ็บปวดทรมาน) ถือเป็นเลขที่นำมาซึ่งโชคร้าย รวมทั้งเลขอื่นๆ ที่เสียงพ้องกับคำอื่นที่มีความหมายที่ไม่ดี เช่น 43 (เบอร์ห้องคลอดไม่มีเบอร์นี้เพราะคล้ายกับความหมายว่าลูกแท้ง) หรือ 24 (ตายสองครั้ง) ดังนั้นเบอร์ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงก็คือ 4 และ 9

ส่วนวัฒนธรรมอินเดีย เลขมหาซวยคือ 8 ซึ่งตรงข้ามกับจีน และญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง คำอธิบายความโชคดีและโชคร้ายของเลขทั้งสองก็แตกต่างกันไป บ้างก็อ้างความเชื่อในศาสนาฮินดู บ้างก็ว่าเลข 8 กำหนดชะตากรรมในเรื่องร้ายๆ ของประเทศ เช่น วัน เวลา แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ รวมถึง คนอินเดียเวลาทำบุญ และทำทานจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ลงท้ายด้วย เลข 0 เป็นอันขาด

160391360998

ในทางกลับกัน ตัวเลขมหาซวยทั้งหลายอาจกลายเป็นเลขนำโชคหรือมีความหมายดีได้เหมือนกัน อย่างประเทศไทย เลข 3 ก็นิยมกันมากในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาซึ่งมีอิทธิพลมายาวนานเกี่ยวพันกับเลข 3 เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือท่อง 3 จบ หรือเวียนเทียน 3 รอบ ฯลฯ

พุทธศาสนาเข้าสู่แผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ปัจจุบันคนจีนจุดธูป 3 ดอก เคาะระฆัง 3 ครั้ง นิยมเลข 3 นำหน้า เช่น 38 (โชคดี 3 เท่า) หรือเลขโชคร้ายเลข 9 ซึ่งเป็นเลขไม่ดีของญี่ปุ่น แต่เป็นเลขมงคลของจีน

สำหรับบางคนความมหาซวยก็ไม่ได้ขึ้นกับวันที่ของวันนั้นๆ แต่อาจจะขึ้นกับช่วงเวลาที่คิดว่าอัปมงคล หรืออาจจะเป็นสีเสื้อผ้าที่ใส่ด้วยเช่นกัน

ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวถึงมา ณ ที่นี้ ล้วนอยู่ภายใต้กรอบของความเชื่อที่ถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรม และก่อให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยาไม่ว่าจะเป็นลิฟต์ที่ไร้ชั้น 13 หรือ โรงแรมในญี่ปุ่นและจีนที่มักจะไม่มีชั้น 4 เป็นต้น