เจาะกลศึก ‘ม็อบ 3 นิ้ว’ ในสนามรบ 2 เจเนอเรชั่น
‘คณะราษฎร 63’ ขับเคลื่อนเป็นทีมฟรีแลนซ์ "4 ทีม" สำคัญ วางกลศึก ขับเคลื่อนมวลชนในรูปแบบไร้แกนนำ ที่แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็สาวไปไม่ถึง"
แม้แต่ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ อดีตแกนนำ กปปส. ยังต้องเป่า ‘นกหวีด’ คอแทบแตก เพื่อรวบรวมเงินทุนและประชาชนให้ออกมาเคลื่อนขบวนขับไล่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับ ‘หมอผีเขมร’ เนวิน ชิดชอบ ที่ระดมทรัพยากรและทำทุกวิถีทางเพื่อช่วย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อกรกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) เมื่อปี 2549 ด้วยการแนะนำให้ใช้ไสยศาสตร์ปกป้องคุ้มครองตัว
อีกทั้งยังเชื่อกันว่า ‘หมอผีเขมร’ ผู้นี้อยู่เบื้องหลังของการระดมม็อบคาราวานคนจนมาปิดล้อมสื่อแห่งหนึ่ง รวมถึงการทำสื่อทางเลือก เช่น TTV MV1 และเว็บไซต์รีพอตเตอร์ ตอบโต้กลุ่ม พธม.
วันนี้ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับม็อบ ทั้ง ‘หัวหน้านกหวีด’ และ ‘หมอผีเขมร’ ซึ่งต่างก็กลายมาเป็นคนคุ้นเคยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับกุมขมับกับปรากฎการณ์ ‘ม็อบ 3 นิ้ว’ ของ กลุ่ม ‘คณะราษฎร 63’ ที่ไม่จำเป็นต้องระดมทุน หรือหาท่อน้ำเลี้ยง แต่อาศัยเพียง ‘โทรศัพท์’ เครื่องเดียว ก็เรียกคนออกมาเต็มถนนได้ภายในเวลาสั้นๆ
แม้แต่ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ เอง ก็เริ่มจนปัญญาจัดการ ‘ม็อบ 3 นิ้ว’ ทำได้แค่เพียงงัดมุขเก่าๆ ที่เคยใช้ได้ผลกับ ‘คนเสื้อแดง-เสื้อเหลือง’ คือการบังคับใช้กฎหมาย ไล่จับ ‘แกนนำ’ และสุดท้ายก็ต้องเปิดโต๊ะเจรจา สร้างความปรองดอง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่า ‘กลุ่มผู้ชุมนุม’ จะยอมสมานฉันท์ด้วยหรือไม่
จึงเป็นภารกิจหนักของหน่วยงานความมั่นคงที่พยายามตามแกะรอยเบื้องลึกเบื้องหลัง เพื่อวิเคราะห์โครงสร้าง ‘คณะราษฎร 63’ และตามสกัดความเคลื่อนไหว กระทั่งพอจะเห็นเค้าโครง รูปแบบ วิธีการ และกลศึก ในการขับเคลื่อนมวลชน ในรูปแบบที่ไร้แกนนำ แม้จะไม่สามารถจัดการอะไรได้มาก
ข้อมูลที่ฝ่ายความมั่นคงได้มา พบความเชื่อมโยงการทำงานเป็นทีมอย่างน่าสนใจ โดยมีองค์ประกอบของทีม ได้แก่
“ทีมนักจิตวิทยา” ดีกรีระดับดอกเตอร์ ที่คอยสังเกต วิเคราะห์พฤติกรรม และความต้องการของมวลชนแต่ละกลุ่ม ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน ก่อนกำหนดรูปแบบการเคลื่อนไหว ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ ที่ปรากฎบนหน้าเพจต่างๆ ที่ไม่ใช่คิดจะป้อนอะไรก็ป้อน แต่ทุกอย่างล้วนผ่านการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี เพื่อใช้สื่อสารตรงจุด ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
“ทีมสำรวจ” ที่ทำหน้าที่ คัดเลือกพื้นที่ชุมนุมในแต่ละครั้ง โดยสำรวจ 3-4 จุด เน้นเส้นทางคมนาคมสะดวก และเป็นพื้นที่ ขนาดเพียงพอรองรับปริมาณคนจำนวนมาก
“ทีมสังเกตการณ์” จะลงพื้นที่ก่อนถึงเวลานัดหมายชุมนุมไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นจะรายงานข้อมูล สถานการณ์ในพื้นที่แต่ละจุดไปยัง “ทีมที่มีอำนาจตัดสินใจ” เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สหภาพ นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มราษฎร กลุ่มเยาวชนปลดแอกฯ เพื่อเคาะเลือกสถานที่ในที่สุด
ส่วนการทำงานในแต่ละทีม จะใช้รูปแบบ ‘ฟรีแลนซ์’ ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถตามหาตัวบุคคล หรือสถานที่ได้ หากจะแกะรอยผ่านโซเชียลมีเดีย ก็สามารถเอาผิดเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ได้ แต่ส่วนใหญ่มักมาจากต่างประเทศ
สำหรับเครื่องมือในการสื่อสาร และยังถือเป็นอาวุธสำคัญในการรบคือ “โซเชียลมีเดีย” ที่มีการใช้ถึง 4 ช่องทาง ได้แก่
1. Instagram เป็นการนำเข้ารหัสเช่นเดียวกับ Line คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ก็เข้าไปไม่ได้ 2. Twitter ใช้สำหรับกระจายข่าวสาร จาก Instagram ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ที่เข้าไปดูหรือเข้าไปโพสต์ 3. หน้าเพจ Facebook ใช้สำหรับกระจายข่าวสาร 4. YouTube ใช้กระจายภาพสถานการณ์ และแชร์ผ่าน Facebook ทั้งคลิป ไลฟ์สด
หน่วยงานความมั่นคงชี้ว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์’ กำลังรับศึกหนัก เพราะสิ่งที่เผชิญอยู่ ไม่ใช่ “สงครามการเมือง” หรือ “สงครามกลางเมือง” แต่เป็นสงครามระหว่างความคิดของคน ‘รุ่นใหม่’ กับ ‘รุ่นเก่า’ หรือ เรียกว่า ‘เจเนอเรชั่นวอร์’ ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศ
ต้องจับตาว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์’ จะประคองสถานการณ์ให้ ‘กรรมการสมานฉันท์’ 7 ฝ่าย หาทางออกประเทศ ควบคู่ไปกับการเดินหน้าแก้กฎกติกาในรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการยกระดับของ ‘ม็อบ 3 นิ้ว’ ที่ ตระเวนจัด ‘เซอร์ไพร์ส’ แบบเบิ้มๆ ได้สำเร็จหรือไม่ หรือจะเกิดอุบัติเหตุการเมืองระหว่างทางเสียก่อน