'ใบสั่งจราจร' แบบใหม่บังคับใช้แล้ว!
"ใบสั่งจราจร" แบบใหม่บังคับใช้แล้ว ติดหน้ารถ-ส่งไปรษณีย์ จ่ายค่าปรับผ่านธนาคาร และสถานีตำรวจได้
ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ความว่า ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 โดยที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้แบบ "ใบสั่ง" เจ้าพนักงานจราจร ต้องเป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด โดยได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่ง "ใบสั่ง" รูปแบบใหม่ที่สามารถจ่ายค่าปรับผ่านธนาคาร และสถานีตำรวจได้
แบบ "ใบสั่ง" เจ้าพนักงานจราจรมี 2 แบบ คือ
1. แบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร สำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ มีขนาดกว้าง 14.5 เซนติเมตร ยาว 27 เซนติเมตร มีชุดละ 4 แผ่น มีสีและวัตถุประสงค์สำหรับการใช้งาน ดังนี้
- แผ่นที่หนึ่ง เป็นสีขาว ใช้สำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ
- แผ่นที่สอง เป็นสีเหลือง ใช้สำหรับส่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เปรียบเทียบปรับ คดีจราจรเพื่อทำการบันทึกข้อมูลใบสั่งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของระบบสารสนเทศกลางที่เชื่อมโยงข้อมูล ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- แผ่นที่สาม เป็นสีชมพู ใช้สำหรับมอบให้พนักงานสอบสวน
- แผ่นที่สี่ เป็นสีฟ้า ใช้สำหรับเป็นสำเนาคู่ฉบับเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับผู้ออกใบสั่ง
2.แบบ "ใบสั่ง" เจ้าพนักงานจราจรสำหรับส่งทางไปรษณีย์ มีขนาดกว้าง 21 เซนติเมตร ยาว 29.7 เซนติเมตร และมีรายละเอียดเป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ มีชุดละ 2 แผ่น
- แผ่นที่หนึ่ง ใช้สำหรับส่งไปรษณีย์ให้กับ ผู้ขับขี่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองรถ
- แผ่นที่สองใช้สำหรับเป็นสำเนาคู่ฉบับเก็บไว้เป็นหลักฐาน สำหรับผู้ออกใบสั่ง
ผู้กระทำผิดสามารถชำระค่าปรับ ผ่านทางธนาคารกรุงไทย ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือผ่านแอพพลิเคชัน KTB net bank หลังถูกออกใบสั่ง 2 วันทำการ ทั้งนี้ใบสั่งมีอายุ 7 วัน หรือหากผู้กระทำผิดต้องการจ่ายเงินค่าปรับที่สถานีตำรวจท้องที่ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
หากประชาชนเห็นว่าการแจ้งข้อหาจราจร หรือการออกใบสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถปฎิเสธข้อหาได้ซึ่งตำรวจจะบึนทึกข้อมูลการปฏิเสธด้านหลังใบสั่ง โดยมีเหตุผลคือ ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา,ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่ในขณะที่เกิดเหตุ, รถยนต์คันที่เกิดเหตุมิใช่รถของตนเอง
ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบสั่ง ต้องนำใบสั่ง และพยานหลักฐานไปแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบสั่ง หรือแจ้งต่อพนักงานสอบสวน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบสั่ง ซึ่งหากผู้ได้รับใบสั่งไม่ได้กระทำผิดจริง จะดำเนินการยกเลิกให้
กรุงเทพธุรกิจแจกโค้ดส่วนลดแคมเปญ 11.11 คลิกที่นี่