สทป.-กร.ทร. พัฒนาต้นแบบ “เรือเอนกประสงค์ฯ” หวังพลิกฟื้นน่านน้ำไทย
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ผนึก กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาจัดสร้าง “ต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล” ส่งลงสัตหีบ หวังลดขยะในทะเล ต่อยอดสู่การฝึกภารกิจ ลำเลียงสิ่งของ ตอบโจทย์ประโยชน์อย่างสูงสุด
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีป้องกันประเทศขั้นสูง เพื่อสนับสนุนการใช้งานของกองทัพและภาคพลเรือนเพื่อการพึ่งพาตนเอง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ร่วมกับกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ นสร.กร. และในนามของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย (พธท.) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
ทั้งนี้ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ที่สามารถตอบสนองภารกิจของ นสร.กร. ดังนี้ 1.ด้านความมั่นคงทางทหาร ได้แก่ สนับสนุนภารกิจหลักสูตรต่าง ๆ ของ นสร. เช่น นักทำลาย ใต้น้ำจู่โจม, ปฏิบัติงานใต้น้ำ และลาดตระเวน อีกทั้งการขนส่งในพื้นที่ที่เรือใหญ่เข้าไม่ถึง (เข้าเกยหาด)
2.ด้านความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การเก็บขยะลอยน้ำในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และพื้นที่รับผิดชอบของ นสร.กร. 3.ด้านความมั่นคงทางสังคม การมีส่วนร่วมตอบสนองความรับผิดชอบต่อสังคม
ทั้งนี้ สทป. ได้เสนอโครงการเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลต่อคณะกรรมการ สทป. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ทางคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบและพิจารณาอนุมัติให้ สทป. วิจัยและพัฒนาสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ร่วมกับ นสร.กร. และบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพภายในประเทศ และได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการโครงการฯ 1-2 ปี จนแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบให้ นสร.กร. ใช้งาน คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ภายใน ม.ค.64
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ อาทิ 1.สทป. ได้นําแนวคิดในเรื่องแผนพัฒนาทางลัดมาดําเนินการให้เป็นรูปธรรม
2. เพิ่มขีดความสามารถในงานวิจัยต่อยอดองค์ความรู้สําหรับแพลตฟอร์มทางน้ำของ สทป. 3.การพัฒนาต่อยอดการจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์ทางทะเล 4.ส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือของไทย 5. ตอบสนองความรับผิดชอบต่อสังคม 6. การร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ดําริโครงการเพื่อให้สาธารณชนเรียนรู้และตระหนักถึงความสําคัญของพันธุกรรมพืช และ สทป. เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์พันธุ์พืช เพื่อสร้างการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากขยะ ในทะเลให้แก่ประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะให้หมดไป
พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความร่วมมือในการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลให้สำเร็จเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเอง ในการสนับสนุนภารกิจของกองเรือยุทธการ กองทัพเรือ และสามารถสนับสนุนการดำเนินการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงต่อยอดองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเรือเพื่อความมั่นคงทางทะเลไปจนถึงขั้นการผลิต และส่งเสริมสู่อุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562
“โครงการเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ถือเป็นโครงการแรกของ สทป. ตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันฯ มา ซึ่งโอกาสนำผลงานวิจัยพัฒนต้นแบบสนับสนุนการดำเนินงานทั้งหมดนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเองสามารถสนับสนุนกระทรวงกลาโหม ในการดำเนินกิจการด้านการวิจัยพัฒนา และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคง รวมถึงต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนาไปจนถึงขั้นการผลิต และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สทป. มาตรา 22 (1) (2) ว่าด้วยการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศและดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่อง”
นอกจากนั้นการดำเนินโครงการฯ ยังก่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ที่จะลดการนำเข้า และ/หรือการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง อีกทั้งเพิ่มมูลค่าของผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านความมั่นคงในอนาคต
2. ความคุ้มค่าด้านความมั่นคง ในการตอบสนองยุทธศาสตร์ของ กห. และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยผู้ใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม
3. ความคุ้มค่าด้านการเมือง ที่จะก่อให้เกิดพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ รวมถึงการบูรณาการ/พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือตามแผนยุทธศาสตร์ของ สทป. และตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดการพึ่งตนเองในด้านการวิจัยและพัฒนา
4. ความคุ้มค่าด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะมีความคุ้มค่าในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ในโครงการร่วมวิจัยของหน่วยงานรัฐ ทั้งยังเปิดโอกาสให้บุคลากรของหน่วยงานรัฐในการร่วมวิจัยและพัฒนา
นอกจากนี้การจัดทำ conceptual design ตามความต้องการของผู้ใช้ ตามวัตถุประสงค์คือการเก็บขยะ แต่เนื่องจากว่า นสร.ต้องการที่จะให้เกิดการใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น อย่างเช่น ภารกิจสนับสนุนการฝึก ขนส่งลำเลียงสิ่งของต่างๆ ไปตามเกาะ จึงมีการดีไซน์เรือให้ออกมาอยู่ในรูปแบบ ที่มีขนาดเรือกว้าง 4 เมตร ยาวตลอดลำประมาณ 16 เมตร โดยมีอัตรากินน้ำลึก 50 เซ็นติเมตร ตัวเโครงสร้างของตัวเรือเป็นอลูมิเนียม โดยปกติอายุการใช้งานค่อนข้างนานกว่า 40 ปี
ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างอัตราการไหลเชิงมวลของของไหลมีขนาดเหมาะสมกับเรือที่นำมาใช้ในการวิจัย ส่วนพื้นที่หน้าตัดของปากตะกร้าที่ใช้ในการดูดขยะพลาสติก เพื่อนำเข้ามาเก็บในตัวเรือต้องมีการคำนวณแรงดูดที่เหมาะสม โดยในการวิเคราะห์สรุปได้ว่า ขนาดตระกร้ายาว2 เมตร และ กว้าง 1 เมตร โดยประมาณ
ทั้งนี้เมื่อส่งมอบเพื่อใช้งานสำเร็จเรียบร้อย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมีแผนที่จะนำองค์ความรู้ในการสร้างต้นแบบเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ดังกล่าว ต่อยอดองค์ความรู้สู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นต่อไปในอนาคต
ส่วนทางด้าน พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ พล.ร.ต.ศุภชัย ธนสารสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ เปิดเผยว่า ในส่วนของงานที่ นสร.ดูแลคือในเรื่องของความมั่นคงทางทะเล ที่ไม่ใช่เฉพาะการป้องกันการบุกรุกเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันการดูแลทรัพยากร เรือ หรือแม้กระทั่งเครื่องมือในกองทัพค่อนข้างมีจำนวนจำกัด ซึ่งเรือลำนี้นอกจากจะใช้ในเรื่องของ การเก็บขยะ เนื่องจากขยะนอกจากทำลายทัศนียภาพที่สวยงามแล้ว ยังมีผลกระทบต่อวงจรชีวิตของสัตว์ ทะเล และทรัพยากรธรรมชาติ หากมีการป้องกันก็จะส่งผลต่อภาพรวมธรรมชาติที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันสามารถประยุกต์ใช้ในการตรวจลาดตระเวน เฝ้าระวัง หรือแม้กระทั่งเป็นฐานปฏิบัติการดำน้ำได้อีกด้วย จะเป็นการดีหากจะมีเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมกาาดำเนินการต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น