จับตา'เงินบาท'หลังธปท.งัดมาตรการคุม

จับตา'เงินบาท'หลังธปท.งัดมาตรการคุม

ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า30.29 บาท/ดอลลาร์ (20พ.ย)จากตลาดประเมิน3มาตรการธปท. เน้นดูแลสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ใช่การสกัดเงินทุนไหลเข้า ด้านต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย2.3 พันล้านบาท 'กสิกรไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า30-30.40บาท/ดอลลาร์

      สำหรับความเคลื่อนไหวหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามบรรยากาศตลาดต่างประเทศ โดยดัชนีปิด(20 พ.ย.)ที่ระดับ 1,389.34 จุด เพิ่มขึ้น 3.18% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 81,685.12 ล้านบาท  โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,386.95 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1,526.19 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ1,923.42 ล้านบาท  และนักลงทุนบุคคลในประเทศขายสุทธิ  5,836.56 ล้านบาท          

    ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทย(สัปดาห์หน้า)มีแนวรับที่ 1,375 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุดตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนต.ค. ของไทย ประเด็นทางการเมืองของไทย สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/63 บันทึกการประชุมเฟด ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนต.ค. รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน และกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของจีน

       

       ทิศทางค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ แม้ธปท. เพิ่มมาตรการดูแลเงินบาท โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์แตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 10 เดือนที่ 30.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียก็มีแรงหนุนจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยเช่นกัน   

    อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาช่วงกลางสัปดาห์หลังทางการส่งสัญญาณเตือนถึงการแข็งค่าที่เร็วเกินไป ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดมองว่า มาตรการธปท. ทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ ปรับเกณฑ์ FCD คลายเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย และกำหนดลงทะเบียนแสดงตัวตนซื้อ-ขายตราสารหนี้ เป็นมาตรการที่เน้นดูแลสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ใช่การสกัดเงินทุนไหลเข้า โดยในวันศุกร์ (20 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.29 เทียบกับระดับ 30.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 พ.ย.)

  สำหรับสัปดาห์หน้า (23-27 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนต.ค. และสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. จีดีพีไตรมาส 3/63 (ครั้งที่ 2) และบันทึกการประชุมเฟด (4-5 พ.ย.) นอกจากนี้ตลาดยังรอจับตาสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน    

     

ส่วนความเคลื่อนไหวราคาทองคำวันศุกร์ ปิดที่ 1,866.99 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศอยู่ที่ 26,800 บาทต่อบาททองคำ ด้านวาย แอลจี บูลเลี่ยนอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุจากจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวจากโควิด-19 ในโรงพยาบาลสหรัฐทะยานขึ้นเกือบ 50% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทําให้รัฐต่างๆต้องออกมาตรการจํากัดรอบใหม่เพื่อควบคุมการแพร่กระจาย จนส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐกําลังเผชิญกับความท้าทาย อันเนื่องมาจากจํานวนผู้ติดเชื 'อไวรัสโควิด-19 ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ประกาศจะไม่มีการต่ออายุโครงการเงินกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 4.55 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธ.ค.นี้แนวโน้มดังกล่าว กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จนกระตุ้นแรงซื้อทองคําในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม นสพ.ไทม์ส รายงานว่า ผู้นํายุโรปจะเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยแผนเบร็กซิทที่ไร้ข้อตกลง ขณะที่เส้นตายสิ้นปี กําลังใกล้เข้ามา ซึ่งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าหลังBrexit กดดันสกุลเงินปอนด์ จนส่งผลกดดันราคาทองคํา ทั้งนี้ นักลงทุนที่มีทองคําในมือ อาจขายทํากําไรหากราคาไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,877-1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ซึ่งหากราคาไม่สามารถผ่านไปได้อาจเห็นการย่อตัวลงไปบริเวณแนวรับ 1,851-1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยยังคงเน้นการทํากําไรจากการแกว่งตัวในกรอบ