แนะไทยปรับนโยบายเอื้อHealthcare
ปี 2562-2564 วิจัยกรุงศรีคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาในประเทศจะขยายตัวในอัตรา 4.2-4.6% โดยปัจจัยเนื่องจากการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประชากรผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน
ทว่าด้วยการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยานำเข้าราคาถูกจากอินเดียและจีน (แม้ว่าจีนปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ยาสามัญแต่ ราคาโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น) และการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายใหม่โดยเฉพาะการเข้ามาของนักลงทุน ต่างชาติ เมื่อผนวกกับต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐาน GMP-PIC/S และวัตถุดิบยานำเข้า ที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์ของไทยมีโอกาสเติบโตได้สูงมาก เนื่องจากมีความพร้อมหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น งานวิจัยที่สามารถจะต่อยอดสู่นวัตกรรม เทคโนโลยีที่นำมาใช้ได้จริงทางการแพทย์ และมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ต้องยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดในหลายเรื่องโดยเฉพาะนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ และกรอบความคิดของผู้กำหนดนโยบายที่จะนำพาประเทศไปสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“นพ.ทวิราป ตันติวงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า (Pharmaceutical Research and Manufacturers Association หรือ PReMA) กล่าวว่าประเทศไทยมุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ซึ่งคาดว่าภายในไม่กี่ปีจะสามารถพัฒนาศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำผลิตยาและเภสัชภัณฑ์ได้ เพราะนวัตกรรมคือคำตอบที่ทุกคนกำลังแสวงหาอยู่ แต่ต้องมีการพัฒนา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักนวัตกร ให้สามารถสื่อสารไปยังนักลงทุนและนักทรัพย์สินทางปัญญา ช่วยให้สามารถจดสิทธิบัตรให้ประสบผลสำเร็จ
“ถ้าจะทำให้อุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์ไทยเติบโต แข่งขันได้ ต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย สร้างงานวิจัยที่ต่อยอดพัฒนาสู่เทคโนโลยี ยกระดับให้อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทาน ไม่ใช่มองเฉพาะในประเทศหรืออาเซียน ควรมีเจ้าภาพในการกำหนดนโยบายทำให้อุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์ของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดและมีศักยภาพการแข่งขัน เป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมนี้”นพ.ทวิราป กล่าว
ด้าน “วิริยะ จงไพศาล ” นายกสมาคมพรีม่า กล่าวว่าอุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์ของไทย มีโอกาสเติบโตได้อย่างมาก แต่จะทำอย่างไรให้เป็นผู้เล่นระดับโลกให้ได้ ซึ่ง S-Curve ต้องมองเรื่อง Healthcare ทั้งหมด มองมิติการป้องกัน การดูแล การบริการ การรักษา และทำอย่างไรเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้สูงอายุต้องสุขภาพดี แข็งแรงร่วมด้วย ที่ผ่านมา พรีม่าและบริษัทสมาชิก ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ โรงเรียนแพทย์ เพื่อร่วมพัฒนางานวิจัย ผลิตยาและเภสัชภัณฑ์ใหม่ๆ
“ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางหรือผู้นำด้านอุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์ได้ ต้องมีการสร้างภาคีเครือข่าย ต้องหาเจ้าภาพจับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เช่น ด้านยาสมุนไพร โรคเวชศาสตร์เขตร้อน หรือเรื่องใดที่เราจะเป็นผู้นำในด้านนี้ ที่สำคัญต้องสร้างบุคลากร เพิ่มศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยให้เกิดความเชื่อมั่นในสายอาชีพของตนเอง และมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เปลี่ยนแนวคิด นโยบาย และโครงสร้างต่างๆ ที่เอื้อให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ มีสิทธิบัตรของตนเอง หากผู้กำหนดนโยบายสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ เชื่อว่าเป้าหมายในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์ระดับอาเซียนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง”วิริยะ กล่าว
ทั้งนี้ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า (Pharmaceutical Research and Manufacturers Association หรือ PReMA) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งมา 50 ปี โดยเริ่มแรกเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาและเภสัชภัณฑ์ต่างๆ ต่อมาเป็นการสร้างโรงงานผลิตยาปฎิชีวนะใช้ในภูมิภาคอาเซียน และในประเทศไทย ภายใต้การทำงานร่วมกลุ่มเป็นสมาชิก ซึ่งมีกว่า 30 บริษัท
ที่ผ่านมา พรีม่าและบริษัทสมาชิก ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ โรงเรียนแพทย์ เพื่อร่วมพัฒนางานวิจัย ผลิตยาและเภสัชภัณฑ์ใหม่ เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายที่ยังไม่สามารถรักษาได้ รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิต การป้องกัน ดูแล รักษาโรคต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและปีนี้ได้มีการนำยาและเภสัชภัณฑ์มาสู่ประเทศไทย 150 กว่าประเภท เพื่อการป้องกันและรักษาโรค