“ฝ่ายค้าน”ชงลดเวลาแก้รธน.-เล็งนำข้อดีร่างไอลอว์หารือ

“ฝ่ายค้าน”ชงลดเวลาแก้รธน.-เล็งนำข้อดีร่างไอลอว์หารือ

“ฝ่ายค้าน” มีมติชงลดเวลาแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ขั้นตอนในชั้นกมธ. 45 วัน มากเกินไป เร่งประเด็น สสร. เข้าพิจารณาวาระ 3 โดยเร็ว วอนให้เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เล็งนำข้อดีร่างไอลอว์หารือชั้นกมธ.

ความคืบหน้าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านประชุมเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่...) ในวันที่ 24 พ.ย. โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานฝ่ายกฎหมายพรรค แถลงภายหลังการประชุมว่า สำหรับแนวทางการทำงานของกรรมาธิการในสัดส่วนของฝ่ายค้าน

 

1.การคัดเลือกตำแหน่งต่างๆ ในกรรมาธิการฯ ควรคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามานั่งในตำแหน่งนั้นๆ แม้เราทราบว่าเสียงของฝ่ายค้านสู้เสียงของฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ แต่เราก็เห็นว่าควรมีการเสนอ 2.เวลาที่กำหนดไว้ 45 วันอาจจะมากเกินไป เราจะเสนอให้ใช้เวลาน้อยกว่านี้ โดยพยายามให้เรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 โดยเร็ว

3.เมื่อพิจารณาร่างของฝ่ายค้าน และร่างของรัฐบาลแล้วเห็นว่า มีความแตกต่างกันเรื่อง ที่มาของ สสร.ที่ฝ่ายค้านมองว่าควรมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ญัตติของรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยตรง การคัดเลือกจากรัฐสภา จากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และจากที่ประชุม กกต. ซึ่งกระบวนการที่มาจากการคัดเลือกมีปัญหาหมิ่นเหม่ที่อาจได้คนมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้การได้มาไม่เป็นธรรม เรามองว่าญัตติของฝ่ายค้านมีความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า 

สำหรับเรื่องการทำประชามติ ฝ่ายค้านมองว่า เมื่อสสร.ร่างเสร็จแล้วควรนำร่างไปทำประชามติก่อนนำมาประกาศใช้ ขณะที่ญัตติของรัฐบาลนั้น เมื่อสสร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หากที่ประชุมเห็นชอบให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ ซึ่งมีปัญหาหมิ่นเหม่เช่นกัน เพราะประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้รับทราบว่า สสร.ร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างไร

 

4.เรามีร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพี่น้องประชาชนที่ตกไป ซึ่งมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายค้านจึงเห็นว่า เราต้องไปศึกษาร่างที่ตกไปว่า มีประเด็นใดที่สำคัญ เพื่อนำเรื่องนั้นๆ มาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ และ 5.ให้แต่ละพรรคการเมืองในฝ่ายค้านไปพิจารณา เพื่อมอบหมายให้ ส.ส.แต่ละพรรคร่วมแปรญัตติในประเด็นสำคัญ