เทียบคดี 'สมัคร-ประยุทธ์' ชี้ชะตารัฐบาล
ชะตากรรมของรัฐบาล ในห้วงที่การเมืองกำลังร้อนระอุ ไม่แน่ว่าอาจอยู่ที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่2ธ.ค.นี้
ดูเหมือนชะตากรรมรัฐบาล จะนำไปผูกเอาไว้กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 2 ธันวาคม ที่จะถึงนี้
มีการคาดเดาไปต่างๆ นานา และพยายามโยงคดีอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ “สมัคร สุนทรเวช” ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
ขณะที่เรื่องประโยชน์อื่นใด ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้ยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ กรณียังอาศัยบ้านพักของข้าราชการทหาร
และ จตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช. ผูกเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ พักบ้านหลวงหลังเกษียณอายุราชการ และอยู่มาต่อเนื่องยาวนานถึงปัจจุบันร่วม 6 ปี เทียบเคียงกับคดี สมัคร ทำรายการ “ชิมไปบ่นไป” ถูกยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยการเป็นลูกจ้างและรับเงินเกิน 3,000 บาท สิ่งที่น่าสนใจคือกรณี “สมัคร” ศาล รธน.ใช้พจนานุกรมมาตีความคำว่า “ลูกจ้าง” จนทำให้หลุดเก้าอี้นายกฯ แต่กรณีพักบ้านหลวง ถ้าคิดแค่ค่าน้ำค่าไฟ และมูลค่าบ้าน อย่างไรก็เกิน 3,000 บาท ปัญหาคือระหว่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระเบียบอนุญาตของกองทัพบก อะไรมีสถานะใหญ่กว่า ในมุมมอง “จตุพร” ฟันธงนายกฯ ประยุทธ์ “รอดยาก”
ถ้าเปรียบเทียบ 2 คดีนี้ โดยเริ่มที่คดี “สมัคร” ผู้ร้องคือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พร้อมคณะ 40 ส.ว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)
าลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีนี้ ประเด็นว่า ผู้ถูกร้อง (สมัคร) เป็นลูกจ้าง บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 กำหนดเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรมซึ่งยากในการตัดสินใจทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ฐานขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงขัดกันในลักษณะที่ประโยชน์ส่วนตัว จะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ
การทำให้เจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญบรรลุผล จึงไม่ใช่แปลความคำว่า “ลูกจ้าง” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น
คำว่า “ลูกจ้าง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ต้องแปลตามความหมายทั่วไป ซึ่งตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างว่า หมายถึงผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้าง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ทั้งสิ้น
ข้อเท็จจริงได้จากการไต่สวน “ผู้ถูกร้อง” เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ให้กับ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานที่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้กระทำร่วมกันกับผู้ถูกร้องมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี โดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เพื่อมุ่งค้าหากำไร ไม่ใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และภารกิจเมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267 ประสงค์จะป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชนแล้ว
ตุลาการรัฐธรรมนูญ 6 คน เห็นว่า “ผู้ถูกร้อง” เป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 3 คน เห็นว่าการเป็นพิธีกร การใช้ชื่อรายการ “ชิมไปบ่นไป” และใช้รูปใบหน้าของ “ผู้ถูกร้อง” ในรายการของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน ดังนั้น การกระทำของ “ผู้ถูกร้อง” ให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นการดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน โดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่า “ผู้ถูกร้อง” กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของ “สมัคร” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ส่วนประเด็น ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีพักอาศัยอยู่ในบ้านพักทหารหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ถือเป็นการจงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) คือการขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ
พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงการอยู่บ้านพักทหาร หลังเกษียณอายุราชการ โดยอธิบายว่าเมื่อมาเป็นตำแหน่งผู้นำประเทศ มีเหตุผลในเรื่องการรักษาความปลอดภัย และเตรียมกลับไปบ้านพักของตนเองแล้ว
ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ได้สั่งการไปยัง กรมสวัสดิการทหารบก ให้ตรวจสอบบ้านพักของกองทัพ ว่า มีนายทหารที่เกษียณอายุราชการที่ยังพักอาศัยอยู่ในบ้านพักทหารจำนวนเท่าใด และให้ย้ายออกภายในสิ้น ก.พ. 63 ส่วนนายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ เช่น นายกฯ รมต. ส.ว. และองคมนตรี ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบ ทั้งข้อเท็จจริงของ 2 คดีนี้มีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยข้อกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การรับประโยชน์ของทั้ง 2 กรณีนี้จะเหมือนหรือต่างกัน ซึ่งผลที่ออกมาล้วนมีนัยสำคัญต่ออายุรัฐบาล นับต่อจากนั้นเป็นต้นไป
(ชมคลิป:เนชั่นสุดสัปดาห์กับ3บก.)