ความร่วมมือจากกสศ. สร้างความเสมอภาคทุกมิติ
เกือบ 3ปี ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาส รวมถึงการเติมเต็มด้านต่างๆ อนาคตของชาติได้รับโอกาสทางการศึกษาเติบโตไปสู่การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน
ลำพังเพียง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วงไปได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญหนุนเสริมการทำงานในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของเด็กนักเรียน สถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา จนครอบคลุมลงลึกไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.มีโอกาสทำงานร่วมกับกสศ. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมา2 ปีกว่า ความร่วมมือเริ่มแรก ได้ทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดูแลเด็กนักเรียนยากจนเป็นพิเศษ โดยที่สพฐ.มีระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล หรือ Data Management Center ( DMC ) กสศ. ได้ผสานความร่วมมือการใช้ข้อมูล และเพื่อให้เกิดความแม่นยำและได้ลงพื้นที่จริง พบว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ เมื่อเทียบกับข้อมูลของสพฐ. มีเด็กยากจนพิเศษเป็นล้านคน
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงกสศ. ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือเด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาสในสถานการณ์ต่างๆว่า ถ้าหน่วยงานเดียวคือ สพฐ. อาจทำให้เกิดความล่าช้า การเข้าถึงข้อมูลการสนับสนุนต่างๆมีน้อย แต่เมื่อได้ทำงานตั้งแต่เริ่มต้นเช่น ทุนเด็กยากจนพิเศษ หรือทุนนักเรียนเสมอภาค หรือ เมื่อเกิดภาวะการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 กสศ.ยังได้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่ไม่ได้มาโรงเรียน ขาดอาหารช่วงหนึ่ง ที่เดิมต้องทานอาหารกลางวันโรงเรียนจัดให้พอเพียง แต่เมื่อไม่ได้มาโรงเรียน กสศ.ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยและสำรวจข้อมูล และบางพื้นที่จริงๆได้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ไปอีกจำนวนมาก เป็นต้น
“ความสำคัญ คือ ถ้าสพฐ.และกสศ. ไม่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้จะไม่เห็น ตอนนี้เราทำงานร่วมกันในเชิงข้อมูล มีระบบโปรแกรมผ่านพื้นที่จริงๆ ถามว่าความร่วมมือเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะความตั้งใจของสองฝ่ายทำให้ต่อมามีอีกหลายเรื่องที่มากกว่าเรื่องของความยากจน”นายสนิท กล่าว
ทั้งนี้ ได้มีโครงการร่วมกันในการเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งเดิมสพฐ.มีนโยบายให้ครูทำการเยี่ยมบ้าน100% ทุกปี รวมถึงมีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน หรือ “ฉก.ชน” แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกับกสศ.ในเชิงของการเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ร่วมกัน ก็สามารถบูรณาการด้วยกันได้ ฉะนั้น การลงไปเก็บข้อมูลนักเรียนจะได้ทั้งฝั่งสพฐ.และกสศ. นอกจากนี้กสศ.ยังได้ช่วยให้ข้อเสนอแนะ และความช่วยเหลือ ว่าเด็กที่ไม่ใช่ยากจนเพียงอย่างเดียว ยังมีเด็กที่มีฐานะแต่มีปัญหาอื่นๆ จากการคัดกรองตกหล่นไปบ้าง กสศ.จะช่วยเหลือเติมเต็มเข้าไปอีก
เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างทัดเทียมกัน ฉะนั้น เด็กทุกคนเราต้องดูแลอย่างปกติ รวมถึงเด็กพิการทั้งหมดด้วยนับเป็นโอกาสที่ดีที่เราทำงานร่วมกัน เอาข้อมูลมาแชร์ร่วมกัน โดยมีระบบการเก็บข้อมูลที่ดีซึ่งกสศ.มีแอปพลิเคชันที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ถามว่า ตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อคุณครูในการใช้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหน เพราะผู้กรอกข้อมูลคือคุณครู ครูก็ได้ใช้ข้อมูลนี้ด้วย ถ้าหน่วยงานที่เก็บข้อมูล แล้วนำไปใช้หน่วยงานของตนเอง เพราะในที่สุดครูอาจนำมาใช้ในการดูแลอบรมเด็ก เพียบพร้อมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
นายสนิท กล่าวต่อว่าเป็นความตั้งใจดีของกสศ.ที่จะเข้ามา โดยไม่มองเรื่องความยากจนอย่างเดียว เพราะความเสมอภาค ไม่ใช่เรื่องความยากจน ความเสมอภาค คือเด็กทุกคนได้โอกาสที่ควรได้รับเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการเรียน โอกาสทางอยู่ในสังคม โอกาสที่ควรได้รับการพัฒนาในเชิงความสามารถของตนเอง อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ถ้าตรงนี้ เราไม่ได้มุ่งไปที่ความยากจน ซึ่งคนเข้าใจผิดว่าความเสมอภาค คือความยากจน ซึ่งจริงๆไม่ใช่ เราเจอปัญหาเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรืออยู่กับญาติ มีไม่น้อยที่ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีญาติผู้ใหญ่ พี่คนโตต้องดูแลน้อง สิ่งเหล่านี้พอเราเห็นสภาพความจริงจะได้แก้ปัญหาถูกจุดและร่วมกันแก้ปัญหา
จากสถานการณ์โควิด -19 ประเมินกันว่าจะมีการระบาดรอบสอง สร้างความห่วงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวส่งผลไปถึงครอบครัวขาดรายได้ เด็กอาจหลุดจากระบบการศึกษา ประเด็นปัญหาตรงนี้
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่าฝากให้กสศ. มีอะไรก็มาแชร์ข้อมูลกัน เช่น จากการพัฒนาระบบสารสนเทศระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หรือ CCT APP โดยทดลองนำร่อง 8 จังหวัด เป็นรูปแบบที่ดี ถ้าทำไปแล้ว เกิดขยายผลไปได้ ขอให้ช่วยกันแบบนี้ แม้ว่าโควิด-19 หมดไป มีวัคซีนมา กสศ. และสพฐ.ก็ทำงานร่วมกันต่อไป อยากขอบคุณคณะผู้บริหารกสศ. ที่ได้ทำงานร่วมกับสพฐ. จนเกิด ความสำเร็จและช่วยดึงเด็กกลุ่มหนึ่งให้มีโอกาสเรียนมากกว่า ภาคบังคับที่กำหนด เพื่อให้พวกเขามีอนาคตที่ไปมากกว่านี้