ดูชัดๆ 'เราเที่ยวด้วยกัน' เพิ่มเงื่อนไขรอบใหม่ คุ้มหรือไม่?
เจาะลึกมาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" หลังจากปรับเพิ่มเงื่อนไขรอบใหม่ จริงๆ แล้วคุ้มหรือไม่?
หลังจากที่โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" มาตรการที่ออกมาเพื่อหวังจะกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เริ่มจากให้โรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ก่อน หลังจากนั้นวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ได้เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ และกำหนดวันสิ้นสุดโครงการ 31 มกราคม 2564
โครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่ปีนี้ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ รวมถึงการประกาศ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และการประกาศเคอร์ฟิว ทำให้กิจการและกิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงไป
เมื่อสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อมากระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่าย หนึ่งในนั้นคือ โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ซึ่งในโครงการนี้ให้การสนับสนุนทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่
1.สนับสนุนส่วนลดค่าโรงแรมที่พัก เป็นการที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าโรงแรม ในอัตรา 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน
2.สนับสนุนส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสนับสนุน 900 บาทต่อห้องต่อคืน เมื่อเช็คอินโรงแรมเรียบร้อยแล้ว
3.สนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน สำหรับผู้ที่มีการจองโรงแรมผ่านโครงการเท่านั้น โดยจะได้เงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิโดยสาร ต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง ซึ่งเป็นเงินเท่ากับ 40% ของราคาค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อผู้โดยสาร
แต่ระยะเวลาผ่านราว 1 เดือนครึ่ง โครงการที่คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมใช้สิทธิสนับสนุนค่าที่พักทั้งหมด 5 ล้านคืน กลับยังไม่หมดอย่างรวดเร็วอย่างที่คิด มีการใช้สิทธิไปเพียง 6.64 แสนคืนเท่านั้น จึงทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้ปรับปรุงมาตรการด้วยการขยายสิทธิที่พักจากเดิมคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน และขยายการสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน จาก 1,000 บาทต่อคน เป็น 2,000 บาทต่อคน
แต่วันนี้ความคืบหน้าของโครงการก็ยังเหลือสิทธิที่พักและค่าตั๋วเครื่องบินอยู่ โดยขณะนี้ (วันที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 16.15 น.) ยังเหลือสิทธิที่พักอีกราว 6.3 แสนสิทธิ และสิทธิตั๋วเครื่องบิน 1.6 ล้านสิทธิ
จึงเกิดประเด็นคำถามว่า จริงๆ แล้ว มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวนี้คุ้มหรือไม่? โครงการนี้เหมาะกับใครกันแน่? เพราะประชาชนราว 14 ล้านคน หรือราว 1 ใน 6 ของประชากรในไทย เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้ประโยชน์จากโครงการนี้จริงหรือไม่?
ล่าสุดวันที่ 2 ธันวาคม 2563 "ที่ประชุม ศบศ." ได้เห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไขโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงทั้งหมด 8 เงื่อนไข ดังนี้
1.ปรับปรุงให้สิทธิการจองห้องพัก จากเกิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืนต่อสิทธิ เพิ่มเป็น 15 คืนต่อสิทธิ
2.ขยายช่วงเวลาการจอง จากเดิม 06.00 - 21.00 น. เป็นเวลา 06.00 - 24.00 น.
3.เพิ่มจำนวนห้องพักจากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน โดยจำนวนห้องที่เพิ่มมาจะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนค่าที่พัก
4.ขยายเวลาใช้สิทธิถึง 30 เม.ย.2564
5.เพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ร่วมโครงการได้
6.อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวใช้ระบบคูปองออนไลน์ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ
7.ปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อสิทธิ จากเดิมรัฐสนับสนุน 40% แต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อสิทธิ เฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ภาคท่องเที่ยวพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย
8.กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
ส่วนโครงการกำลังใจได้เห็นชอบปรับปรุงโครงการ โดยให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนร่วมโครงการได้ โดยบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ หากกรอกครบ 15 รายการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก โดยมีเวลาเปิดให้สมัครภายใน 15 ธ.ค.2563
อย่างไรก็ตามมาตรการที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม 8 เงื่อนไขในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่วางแผนท่องเที่ยว พักผ่อน หรือเดินทางไปทำงาน ทำธุรกิจ ซึ่งจะได้รับโอกาสส่วนลดค่าที่พักเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และอาจนำไปสู่การใช้จ่ายส่วนอื่นๆ มากขึ้น แน่นอนว่าจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ
อีกส่วนหนึ่งในแง่ของการเพิ่มช่วงเวลาในมากขึ้น และเพิ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนให้เข้าร่วมได้ ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งระยะเวลายังครอบคลุมไปถึงเทศกาลสงกรานต์ ที่น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย
แต่ขณะเดียวกันนั้น ภาครัฐเองต้องควบคุมผู้ประกอบการที่เก่ียวข้องให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคามากกว่าช่วงปกติอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้