ธ.ก.ส.เตรียมจัด 'สินเชื่อฉุกเฉิน' ให้เกษตรกรในพื้นที่ 'น้ำท่วมภาคใต้'
ธ.ก.ส.เตรียมจัด "สินเชื่อฉุกเฉิน" ให้เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ พร้อมขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัยในพื้นที่ภาคใต้ ครอบคลุมไปแล้ว 11 จังหวัด 90 อำเภอ 469 ตำบล 2,960 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 314,639 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 8 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา และยะลา
ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยทางภาคใต้ เบื้องต้นมอบหมายให้สาขาจัดถุงยังชีพช่วยเหลือ แล้วกว่า 8,000 ถุง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นอกจากนี้เตรียมจัดสินเชื่อฉุกเฉิน การช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้และสินเชื่อฟื้นฟูหลังประสบภัย รองรับกรณีเกษตรกรต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการประกอบอาชีพ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและเครื่องมือทางการเกษตร วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท
นายสุรชัย รัศมีรองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสม เกิดนำ้ท่วมฉับพลัน นำ้ป่าไหลหลาก ดินถล่มและลมกระโชกแรง สร้างความเสียหายกับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของเกษตรกรลูกค้าและประชาชนทั่วไป ซึ่ง ธ.ก.ส.มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ประสบภัย จึงได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือพร้อมมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ในพื้นที่เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้
- กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน
มอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส.ในพื้นที่ ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า พร้อมจัดหาถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน โดยเบื้องต้นได้ส่งถุงยังชีพช่วยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จำนวนกว่า 8,518 ชุด และเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่างๆ เช่น จัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถบรรทุก ค่าแรงงาน เป็นต้น
- หลังสถานการณ์คลี่คลาย
เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู หลังประสบภัย เช่น การมอบเงินเพื่อสมทบทุนสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้จำเป็น การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่องในการให้ความช่วยเหลือกรณีฟื้นฟูหลังประสบภัย
- ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน
กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0 ระยะ 6 เดือนแรก
และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามความจำเป็น แต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย