โรคนี้ไม่กระจอก! หมอเตือนหายป่วย 'โควิด-19' ยังมีอาการคงค้าง 'ชัก-ซึมเศร้า'

โรคนี้ไม่กระจอก! หมอเตือนหายป่วย 'โควิด-19' ยังมีอาการคงค้าง 'ชัก-ซึมเศร้า'

"หมอธีระ" เตือนหายป่วยจาก "โควิด-19" ยังไม่จบมีอาการคงค้างตามมาหลายอย่าง "อ่อนล้า-หอบเหนื่อย-เจ็บหน้าอก-ปวดข้อ-ชัก-ซึมเศร้า"

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 63 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

"โควิดเรื้อรัง"...เรื่องที่รู้แล้วจะไม่อยากติดเชื้อ... เช้านี้มีน้องผู้ชายคนนึงถามในกลุ่มท่องเที่ยวยุโรปว่า มีใครมีอาการแบบเค้าบ้างไหม หลังจากเค้าติดเชื้อมาพอหายป่วยแล้วกลับยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ตลอด มีคนมาตอบหลายต่อหลายคน โดยจำนวนไม่น้อยก็แจ้งว่ามีอาการคงค้างอยู่เช่นกัน
ผมตอบน้องเค้าไปว่า ผู้ติดเชื้อโควิดนั้นแม้รักษาหายแล้วก็จะยังมีอาการคงค้างอยู่ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดข้อ หายใจลำบาก ฯลฯ โดยทางการแพทย์เราเรียกภาวะนี้ว่า "Chronic COVID" หรือ "Long COVID" หรือ "COVID Long Hauler" เกริ่นมาให้พวกเราฟัง พร้อมกับถือโอกาสทบทวนความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปด้วยในตอนเช้าวันนี้
หากไปดูในฐานข้อมูลวิชาการแพทย์ PubMed จะพบว่ารายงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีจำนวนน้อยมาก อ่านดูเนื้อหาแล้วต่ำกว่าสิบเรื่อง
คำถามที่ 1 ภาวะ Chronic COVID/Long COVID/COVID Long Hauler นี้พบบ่อยมากน้อยเพียงใด?
คำตอบ ขณะนี้เชื่อว่า ราว 30-40% ของผู้ป่วยโควิดที่แม้จะได้รับการดูแลรักษาจนหายแล้ว จะมีอาการคงค้าง เป็นภาวะนี้ได้ ตั้งแต่หลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน และยังไม่รู้ว่าจะยาวนานไปเพียงใด เนื่องจากโรคโควิดนี้เป็นโรคใหม่ไม่ถึงปี ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะนานเป็นปีๆ หรือนานกว่านั้นได้
คำถามที่ 2 มีงานวิจัยที่ทำการประเมินโอกาสเป็นภาวะนี้มากน้อยเพียงใด?
คำตอบ แรกเริ่มเดิมที ทีมแพทย์จากอิตาลีได้รายงานไว้ว่า มีผู้ป่วยโควิดที่ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว มีอาการคงค้างอยู่ถึง 87% ไม่ว่าจะเป็นอ่อนล้า หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ปวดข้อ ฯลฯ ต่อมา มีทีมจากสหราชอาณาจักร ที่ทำการสำรวจผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ รายงานว่ามีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการคงค้างต่างๆ อยู่ราว 10% ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่สำรวจพบน้อยกว่ารายงานก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นการสำรวจในประชากรทั่วไป ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแต่ไม่ได้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล มีอีกหลายรายงานที่พบว่าโอกาสเกิดอาการคงค้างแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น อเมริกา ได้รายงานว่ามีเพียง 65% ของผู้ป่วยโควิดที่รักษาแล้วประเมินว่าฟื้นคืนไปสู่สภาวะปกติก่อนป่วยได้
ล่าสุดทีมวิจัยจากเดนมาร์กและหมู่เกาะฟาโรห์ ได้ทำการสำรวจในผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 180 คน พบว่ามีถึง 53.1% ที่มีอาการคงค้างหลังจากเริ่มมีอาการตอนแรกเกิน 4 เดือน โดยอาการคงค้างแตกต่างกันไป ตั้งแต่อ่อนล้า ปวดข้อ ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้
แม้ยังไม่สามารถทำการวิเคราะห์อภิมานเพื่อรวมผลการประเมินโอกาสการเกิดอาการคงค้างได้ แต่เชื่อว่ามีผู้ป่วยราว 30-40% ที่จะประสบปัญหาอาการคงค้าง
คำถามที่ 3 อาการคงค้างมีอะไรบ้าง?
คำตอบ ไอ, หายใจลำบาก, อ่อนล้า, เจ็บหน้าอก, อาการผิดปกติจากระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, อาการผิดปกติจากระบบประสาท เช่น ปวดหัว จำอะไรไม่ค่อยได้ ชัก ซึมเศร้า เป็นต้น
คำถามที่ 4 หากเป็นแล้วต้องทำอย่างไร?
คำตอบ เนื่องจากโรคโควิดนี้เป็นโรคใหม่ และภาวะอาการคงค้างเหล่านี้ก็เป็นสิ่งใหม่ที่การแพทย์ทั่วโลกเพิ่งได้เจอ จึงยังมีความรู้ที่จำกัดมาก ส่วนใหญ่อาการคงค้างที่เกิดขึ้น ก็จะได้รับการดูแลรักษาตามลักษณะของแต่ละอาการไป ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลก ก็เริ่มมีแนวคิดที่จะจัดตั้งคลินิกหรือแผนกที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงค้างหลังจากติดเชื้อโควิด เนื่องจากมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้คาดว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบันน่าจะมีมากมายหลายล้านคน ดังนั้น การไม่ติดเชื้อโควิดย่อมจะดีที่สุด
หากผมเป็นกระทรวงสาธารณสุข ผมคงจะให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องนี้ เพื่อที่จะป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ไม่ให้ติดเชื่อ
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
1. Peterson MS et al. Long COVID in the Faroe Islands - a longitudinal study among non-hospitalized patients. Clin Infect Dis. 30 November 2020. doi: 10.1093/cid/ciaa1792.
2. Mahase E. Covid-19: What do we know about “long covid”? BMJ 2020;370:m2815.
3. Tenforde MW, Kim SS, Lindsell CJ, et al., IVY Network Investigators, CDC COVID-19 Response Team, IVY Network Investigators. Symptom duration and risk factors for delayed return to usual health among outpatients with COVID-19 in a multistate health care systems network — United States, March-June 2020. MMWR Morb Mortal Wkly Rep2020;69:993-8.