'อียู-อาเซียน' ความเท่าเทียม 'วัคซีนโควิด'
ภายใต้ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลถึงภาวะเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง ล่าสุดสหภาพยุโรปและอาเซียนได้ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากวัคซีน
สหราชอาณาจักรจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (วัคซีนโควิด-19) ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับไบโอเอ็นเทค (BioNTech) จำนวน 800,000 โดส ไปยังโรงพยาบาล 50 แห่งและเริ่มให้บริการฉีดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2563 โดยรายแรกคือ “มาร์กาเรต คีแนน" หญิงวัย 90 ปีจากไอร์แลนด์เหนือ
ภายใต้ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลถึงภาวะเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงวัคซีนโควิด-19 เมื่อพบว่าประชากรในประเทศร่ำรวย ซึ่งคิดเป็น 14% ของคนทั้งโลก กลับถือครองวัคซีนมากถึง 53% โดยที่มีบางประเทศสั่งจองวัคซีนเพียงพอและอาจมากกว่าความต้องการของคนทั้งประเทศไปแล้ว ขณะที่ประชากรในเกือบ 70 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ อาจมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพียง 10% ของทั้งหมด
(รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดสรรเงินเพื่อซื้อวัคซีนจำนวน 20 ล้านโดสจากบริษัทแอสตราเซนเนกา, ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา และซื้อวัคซีนอีก 4 ล้านโดสจากบริษัทแจนเซ่นซึ่งอยู่ในเครือของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งทั้งหมดนั้นเพียงพอต่อการฉีดให้กับประชาชนราว 34 ล้านคน ส่วนประชาชนอีก 10 ล้านคนนั้นจะได้รับวัคซีนผ่านทางโครงการ COVAX)
ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรปและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” ได้จัดการประชุมทางไกลขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค. วันเดียวกับที่อังกฤษลงมือฉีดวัคซีนให้พลเรือน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านนโยบายที่ได้ผล รวมทั้งสำรวจความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันค้นคว้าวิจัยและผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสโควิด-19 ในอนาคต
ด้วยเหตุที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาค สหภาพยุโรปและอาเซียนจึงมีเป้าหมายร่วมในอันที่จะสนับสนุนแนวทางพหุภาคี เพื่อทำให้ประชากรโลกโดยรวมสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและในราคาที่สมเหตุสมผลได้อย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม
ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป-อาเซียน ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งได้แสดงความมุ่งมั่นในอันที่จะสนับสนุนความพยายามที่จะทำให้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นสินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะของโลก รวมทั้งทำให้การจัดหาวัคซีนนั้นเป็นการดำเนินงานร่วมของทุกฝ่าย
ทั้งนี้ เพื่อให้เจตนารมณ์นี้สัมฤทธิผล สหภาพยุโรปจึงได้จัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนทั้งสิ้น 500 ล้านยูโร สนับสนุนโครงการพัฒนาและจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีนให้ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างหลักประกันแก่ประชาคมโลกว่าทุกประเทศจะสามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้อย่างเสรีและเป็นธรรม ในปัจจุบันนี้ มีประเทศทั้งสิ้น 189 ประเทศแล้วที่เข้าร่วมโครงการ COVAX
ความร่วมมือเพื่อพัฒนาวัคซีนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือที่สหภาพยุโรปได้ให้แก่อาเซียนอย่างครอบคลุม โดยมีความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่า 800 ล้านยูโร ภายใต้ชุดมาตรการที่ถูกขนานนามว่า “ทีมยุโรป” เป็นความช่วยเหลือหลัก
นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพยุโรปก็ได้เปิดตัวโครงการมูลค่า 20 ล้านยูโรในชื่อว่า South-East Asia Pandemic Response and Preparedness ซึ่งจะดำเนินการโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การประชุมทางไกลเมื่อ 8 ธ.ค.เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบด้านนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียนได้มาสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์ รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ในการอนุมัติ การผลิต และการกระจายวัคซีนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
กุง ฝก รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่เราจัดขึ้นผ่านทางออนไลน์ในครั้งนี้ จะช่วยเอื้อและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม เพื่อความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น และยิ่งกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบาย อันจะนำไปสู่การเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและในราคาที่สมเหตุสมผลได้อย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรมสำหรับทุกคน
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ พีอ็อท ที่ปรึกษาพิเศษด้านโควิด-19 ของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และผู้อำนวยการ London School of Hygiene & Tropical Medicine ระบุว่าวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โลกเราสามารถเอาชนะวิกฤติโควิด-19 จะยังไม่มีประเทศไหนที่ปลอดภัยจากการระบาดจนกว่าทุกประเทศจะปลอดภัยกันหมด
ความร่วมมือและความเป็นผู้นำของอาเซียนและสหภาพยุโรป ยิ่งทวีความสำคัญในปัจจุบันในการที่จะสร้างหลักประกันว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม จะสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากวัคซีนต้านไวรัสโคโรน่าซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางวัคซีนโควิด-19 ทำให้ COVAX ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประสานงานและระดมทุน หวังให้วัคซีนโควิด-19 เพียงพอกับคนทั้งโลก ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องจัดหาวัคซีนแจกจ่ายให้กับประเทศยากจนอย่างน้อย 92 ประเทศให้ได้ 2,000 ล้านโดสภายในปีหน้า โดยในตอนนี้สามารถจัดหาได้แล้ว 700 ล้านโดส
ขณะเดียวกัน ในตอนนี้มีบริษัทวัคซีนที่ประกาศตัวพร้อมช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 บริษัท คือบริษัทแอสทราเซเนกา (AstraZeneca) ที่ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ออกมายืนยันว่าจะขายวัคซีนโควิด-19 ในราคาทุนให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยมีข้อดีคือสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ไม่ต้องใช้อุณหภูมิที่เย็นจัด ทำให้ช่วยลดอุปสรรคในการขนส่งไปได้มาก
ทั้งนี้ หมายเหตุเพิ่มเติมในส่วนของประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ระบุเมื่อ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไทยมี 3 แนวทางเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัย เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1.การวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ เร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตภายในประเทศ
2.การทำความร่วมมือกับต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีน คาดว่าจะได้รับคำตอบไม่เกินกลางเดือน ก.ย.2564 (ล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนแล้ว)
3.การจัดซื้อจัดหาวัคซีนล่วงหน้าจากต่างประเทศ โดยองค์กร COVAX ที่ผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรทั่วทุกมุมโลก ในระยะแรกจะกระจายวัคซีนประมาณ 20% ของจำนวนประชากร และทางกรมควบคุมโรคได้ลงนามจองซื้อและซื้อวัคซีนโควิด 19 จำนวน 26 ล้านโดสจากบริษัท แอสตราเซนเนกา จำกัด เรียบร้อยแล้ว