'เลือกตั้ง อบจ.' 20 ธ.ค. กับข้อควรรู้ หากไม่อยากถูกตัดสิทธิ!
นับถอยหลังก่อนการ "เลือกตั้งท้องถิ่น" 20 ธ.ค. 2563 ที่จะมีการเลือกทั้ง "นายก อบจ." และ "ส.อบจ." ทบทวนข้อควรรู้และสิทธิที่จะถูกตัดหาก "ไม่ไปเลือกตั้ง" แล้วไม่ได้แจ้งเหตุ
อีกไม่ถึงสัปดาห์ก็จะเป็นวัน "เลือกตั้งท้องถิ่น" ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ พร้อมกันทั่วไทย ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยจะเป็นการเลือกตั้งทั้ง "นายก อบจ." หรือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ "ส.อบจ."
ความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากห่างหายไปถึง 6 ปีเนื่องจากมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทำให้การบริหารภาคท้องถิ่นไม่ได้ถูกจัดขึ้นตามปกติ โดยนี่จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และยังเป็นการเลือกตั้งที่ต้องไปเลือกในท้องที่ที่มีรายชื่อเท่านั้น ไม่สามารถเลือกล่วงหน้า และไม่มีเลือกตั้งนอกเขต
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทบทวนข้อควรรู้ก่อนไปเลือกตั้ง รวมถึงคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะไปสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก มีเรื่องอะไรที่ผู้มีสิทธิจำเป็นต้องรู้บ้าง ?
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: มาแล้ว! เอกสารแจ้งไม่ไป 'เลือกตั้ง อบจ.' กรอกอย่างไรให้ถูกต้อง!
การเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
วันที่: 20 ธ.ค.63 วันเดียว (ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต)
เวลา: 08.00-17.00 น.
วิธีการ: ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปใช้ลงคะแนนเสียงยังภูมิลำเนาที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
เตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง:
1. ตรวจสอบรายชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
ตรวจที่ไหน > เอกสารที่ส่งมาที่บ้าน, ตรวจสอบที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการ อบจ. หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
2. ยื่นคำร้องต่อขอเพิ่มชื่อ- ถอนชื่อ กรณีตรวจสอบไม่พบชื่อตัวเอง หรือ พบบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริง
3. แจ้งต่อนายทะเบียนฯ ถ้าไม่สามารถไปใช้สิทธิ ให้แจ้งต่อนายทะเบียนฯ ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันตั้งแต่วันเลือกตั้ง
เช็ค 6 สิทธิที่จะเสีย หากไม่ไป "เลือกตั้งท้องถิ่น" 20 ธันวาคม 2563
ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น 2562 มาตรา 42 กำหนดว่า หากผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิและไม่แจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งท้องถิ่นได้ จะถูกจำกัดสิทธิ์หลายประการ
โดยการถูกจำกัดสิทธิ จะมีผลเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่เลือกตั้งครั้งนั้น แม้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้วกลับมาใช้สิทธิในช่วงเวลาก่อน 2 ปีที่เสียสิทธิไป ก็ไม่มีผลให้สิทธิกลับมา โดยต้องรอให้พ้นระยะเวลาที่ถูกจำกัดสิทธิไปก่อน
สำหรับสิทธิ 6 ประการที่จะถูกตัดหากไม่ไปเลือกตั้งท้องถิ่น มีดังนี้
(1) สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
(2) สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
(3) เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(4) ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
(5) ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น และคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(6) ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้ที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเลือกตั้งได้ สามารถไปแจ้งเหตุต่อนายอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามที่ปรากฎในทะเบียนบ้าน ภายในช่วงเวลาระหว่าง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือ 7 วันหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งจะไม่ทำให้ถูกตัดสิทธิ์